"วุฒิสภา"ถกเข้ม! "ระบบเตือนภัยพิบัติ"ยุคดิจิทัล ชี้ต้องเร็วกว่า"SMS" เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยมีการพิจารณาแนวทางเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยการประชุมมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ได้แก่ AIS , True Corporation และ DTAC เข้าร่วมให้ข้อมูลและเสนอแนวทางพัฒนาระบบเตือนภัย
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือ ได้แก่ การบูรณาการระบบแจ้งเตือนภัยข้ามหน่วยงาน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยในภาวะฉุกเฉิน และการปรับปรุงช่องทางการสื่อสารให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนได้ทันท่วงที
โดยตัวแทนจาก AIS และ True ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast System (CBS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถส่งข้อความเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยระบบนี้แบ่งการทำงานเป็นสองส่วน คือ CBE (ระบบจัดทำข้อมูล) และ CBC (ระบบควบคุมและกระจายข้อความ) ซึ่งช่วยให้การแจ้งเตือนมีความแม่นยำและรวดเร็ว ตัวแทนจาก AIS ยืนยันว่าระบบของบริษัทสามารถส่งข้อความ CBS ได้ภายใน 2 นาทีหลังจากได้รับข้อมูลจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดของระบบ SMS แม้จะเข้าถึงประชาชนได้จำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการกระจายข้อความ
นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า ตั้งข้อสังเกตว่า การกระจาย SMS ให้ครบทุกหมายเลขอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการความรวดเร็ว
ขณะที่ นางสาวชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ เสนอให้พิจารณาเพิ่มช่องทางสื่อสารอื่น เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือโทรทัศน์ เพื่อให้การแจ้งเตือนมีความครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบูรณาการข้อมูลข้ามเครือข่ายและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ
นายสุทนต์ กล้าการขาย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงระบบของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายเข้าด้วยกัน เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยครอบคลุมทั่วประเทศ และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา และ ปภ.ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโดยรวม
ในประเด็นเรื่องการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ นาวาตรี วุฒิพงศ์ ได้ตั้งคำถามถึงความล่าช้า โดยระบุว่า แม้เวลาจะผ่านมากว่า 10 ปี ก็ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติอย่างเป็นทางการ และยังขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภาพรวมของการพัฒนาระบบเตือนภัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวบนบกของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับระเบียบปฏิบัติ และเพิ่มแผนปฏิบัติการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ควบคู่กับการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้จริงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 โดยระบบใหม่นี้จะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบเตือนภัยของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติให้ทันสมัย รวดเร็ว และครอบคลุม เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยชี้ว่า "การบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ เช่น Cell Broadcast การแก้ไขข้อจำกัดของระบบเดิม และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เป็นหัวใจของการสร้างระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง"
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี