‘สภาฯ’ ไฟเขียวส่งต่อ 8 ญัตติผลกระทบ ‘สหรัฐฯขึ้นภาษี’ ให้ ‘ครม.’ ขณะที่อีก 2 ญัตติ ให้ ‘กมธ.เศรษฐกิจ’ ศึกษาต่อด้าน ‘รมช.คลัง’ รับปากจะส่งข้อเสนอแนะให้ ‘ทีมเจรจา’ ไปเป็นข้อมูลด้วย
วันที่ 9 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จำนวน 10 ญัตติ ได้แก่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา นายประมวล พงษ์ถาวราเดชสส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายสิทธิพลวิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน นายวรวิทย์ บารู สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ
ภายหลังจากที่ สมาชิกได้อภิปรายกันกว่า 12 ชั่วโมง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีได้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของครม. พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้มารับฟังข้อเสนอและยังได้นำเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังมาร่วมรับฟังเพื่อนำประเด็นต่าง ๆ ของสมาชิกฯ ไปส่งมอบให้กับคณะเจรจาที่จะต้องมีการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในเร็ว ๆ นี้ และหาข้อสรุป แนวทางแก้ไขปัญหาในทางที่เป็นประโยชน์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศภาษี ทางรัฐบาลแม้ว่าจะได้เตรียมการเป็นเวลานาน มีการตั้งคณะทำงานนำโดย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.68 มีการติดตามมาโดยตลอดว่ามาตรการทางด้านภาษีหากจะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดและเชื่อว่าไม่มีกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐของประเทศใดในโลกที่จะคาดคำนวณได้เพราะสูตรที่สหรัฐฯ ใช้ในการคำนวณค่อนข้างหลุดไปจากหลักการทางเศรษฐกิจพื้นฐาน จึงเป็นการคิดคำนวณที่แปลกประหลาดพอสมควร สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการลดการขาดดุลซึ่งเป็นโจทก์ที่ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด และสิ่งที่ทีมเจรจาจะนำไปคือเจรจาด้วยความเข้าใจอาศัยความเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ยาวนาน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่เคียงข้างกันในเวทีโลกมาอย่างยาวนาน เราเป็นพันธมิตรที่มีความถาวรและมีความมั่นคงในจุดยืนมาโดยตลอด ซึ่งจุดนี้จะเป็นสิ่งแรกที่เราจะนำไปพูดคุย
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเพราะในวันนี้ไม่เพียงแต่ดูในเรื่องความเร็วแต่เป็นเรื่องของความแม่นยำ การแก้ปัญหาต้องตอบโจทย์สิ่งที่ทางสหรัฐอเมริกาได้ตั้งโจทก์ไว้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ประกาศชัดเจน เราเห็นตัวอย่างจากประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่มีการประกาศลดอัตราภาษีอย่างถึงที่สุดคือภาษีเป็นศูนย์ ดังนั้น เราจะต้องดูโจทย์ของเราว่านอกจากเรื่องของอัตราภาษี การลดปริมาณขาดดุลการค้าสหรัฐอเมริกา เรายังมีโจทย์อะไรเพิ่มเติมอีก เช่น การตรวจสอบสินค้าขาออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เป็นลักษณะการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดเป็นเรื่องของสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่เราต้องเข้มงวดกวดขันและยืนยันว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกเพื่อที่จะสามารถทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องไม่มีเกิดขึ้นอีกในอนาคต
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า ในเรื่องการลดกำแพงที่ไม่ใช่ลักษณะของภาษีแต่เป็นการเพิ่มความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจการค้า ซึ่งเหล่านี้จะต้องเป็นกลไกที่ประกอบเข้าด้วยกันในการเจรจาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดรวมถึงเรื่องการลงทุนที่ต้องมีการพูดคุยว่าในกรณีที่ประเทศไทยมีการส่งเม็ดเงินไปลงทุนในต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศหนึ่งที่เราต้องพิจารณาว่ามีอะไรที่นำไปลงทุนในประเทศนั้นแล้วจะเกิดศักยภาพมากขึ้นเราจะได้เปรียบ ได้ประโยชน์ และสามารถทำประโยชน์ให้บริษัท ประชาชนคนไทย และแรงงานไทยได้ ทั้งนี้ การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องสร้างกลไกใน การปรับตัวให้กับภาคเอกชนด้วย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมวงเงินไว้5,000 ล้านบาท ผ่านเอ็กซิมแบงก์ที่จะนำไปช่วยเหลือบริษัทที่ส่งออกและนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ นี่คือการช่วยเหลือในเบื้องต้น และจะต้องมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ
“แต่หลังจากนี้จะต้องประเมินว่าสิ่งที่ได้รับผลกระทบแล้ว สุดท้ายหลังการเจรจา ภาวะการณ์จะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรจึงขอฝากให้สมาชิกฯ ติดตาม และเป็นหูเป็นตา หากกรณีใดที่รัฐบาลตกหล่น รัฐบาลยินดีรับฟังและจะทำให้ดีที่สุดในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นำเอาข้อเสนอส่งให้กับคณะเจรจาที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ในการเจรจานั้น เราจะต้องเจรจาหาทางออกและแสดงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญและในเวลาอันยาวนานที่มีมากับสหรัฐอเมริกา และหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์โดยที่ไม่มีใครเป็นฝ่ายพ่ายแพ้” รมช.คลัง กล่าว
จากนั้น นายภราดร ปริศนานันกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ขอมติที่ประชุมโดยทั้ง 10 ญัตติ มี 8 ญัตติ ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันคือส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป และมี 2 ญัตติ คือญัตติของน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และญัตติของนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ขอให้ส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาศึกษา กำหนดระยะเวลาพิจารณาศึกษาไว้ 90 วัน จากนั้นนายภราดร ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา22.03น.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี