วันที่ 10 เมษายน 2568 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ประเทศไทยเผชิญกับวงจรอุบาทว์เชิงซ้อน ทำให้พวกเราตกอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า“ (Thailand‘s Lost Decades) เป็นเวลายาวนาน จนไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้
เริ่มจากวงจรอุบาทว์แรก เรียกว่า “วงจร 3 ป.” คือการที่ประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยเทียม” (Pseudo-Democracy) การลุแก่อำนาจ การบิดเบือนและใช้อำนาจในทางที่มิชอบ คุณธรรมและจริยธรรมบกพร่อง และทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา “ประท้วงต่อต้าน” และนำไปสู่การ “ปฏิวัติรัฐประหาร” และเวียนกลับมาเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำซากวงที่ 1 วงจรนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2490 ต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเทียม ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยนโยบายประชานิยม ที่มุ่งหวังชนะการเลือกตั้งเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วก็วนกลับมาทำให้เกิดเป็นประชาธิปไตยเทียม กลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 2 เป็นวงจรที่เห็นเด่นชัดขึ้นในห้วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนโดยทั่วไป มีระดับการพึ่งพิงภาครัฐที่มากขึ้น ยิ่งพึ่งพิงมากเท่าไหร่ ระดับความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เมื่อเข้าถึงได้ยาก ก็ต้องจมปลักอยู่กับความยากจนต่อไป เมื่อยิ่งยากจน ก็ยิ่งง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ยิ่งทำให้ต้องติดอยู่ในกับดับของนโยบายประชานิยมแบบโงหัวไม่ขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 3
เมื่อระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปเสริมระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยม ที่ยังฝังตัวหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลทำให้อำนาจการผูกขาดทั้งทางด้านการปกครองและด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนารูปแบบการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ระดับการพึ่งพิงของประชาชนยิ่งมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 4
ขณะที่อำนาจการผูกขาดทั้งการปกครองและเศรษฐกิจที่เข้มข้น ได้ไปครอบงำกลไกของระบบราชการ ทำให้ระบบราชการเกิดการผิดเพี้ยน จากระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเน้นระบบคุณธรรมอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นระบบราชการที่เอื้อระบอบทุนนิยมพวกพ้องเสริม ยิ่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมีความเข้มข้นมากขึ้นกลายเป็นวงจรอุบาทว์วงที่ 5
รูปแบบการกีดกันและการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด “แรงต้าน” ต่อการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ ยังต้องง่วนอยู่กับประเด็นปากท้องและปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิด “แรงเฉื่อย” ต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งแรงต้านและแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลให้ เมื่อโลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ยอมปรับ หรือหากจะมีการปรับบ้างก็ปรับในอัตราที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก
การที่โลกเปลี่ยน แต่ไทยไม่ปรับ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนและคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง มองประเทศไทยที่มีอนาคตที่มืดมน จนเกิด “แรงส่ง” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ผลคือแรงส่ง แรงต้าน และแรงเฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง และระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านและไปเสริมให้เกิดวงจรอุบาทว์ในวงที่ 1 ในที่สุด
วงจรอุบาทว์เชิงซ้อนนี้ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่มีการกีดกันและเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเป็นระบบ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ความมั่งคั่ง และโอกาส หรือ Extractive Politics and Economy
โดย Extractive Politics ที่เห็นได้ชัด เช่น การเมืองการปกครองที่ถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ไม่กี่กลุ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำรงอยู่ของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์และอภิสิทธิ์ชน มีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลดำเนินธุรกิจสีเทา ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย มีการครอบงำสื่อ ควบคุมสื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ฯลฯ
ขณะที่ Extractive Economy สะท้อนผ่านการดำรงอยู่ของระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างกลุ่มนายทุนกับนักการเมือง มีการผูกขาดและต่อต้านขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นระบบ มีการเพิกเฉยละเลยต่อผลกระทบที่มีต่อสาธารณะจากการดำเนินงาน
ฉะนั้น การจะนำพาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่หนึ่ง” ได้ โจทย์ใหญ่คือ จะปรับเปลี่ยนประเทศไทยจาก Extractive Politics and Economy ไปสู่ประเทศที่เป็น Inclusive Politics and Economy เปลี่ยน “สังคมเพื่อพวกกู” (Me Society) มาเป็น “สังคมเพื่อพวกเรา” (We Society) ได้อย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี