“เมษายน 2568” สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีแต่ “ฤดูร้อนตามธรรมชาติ” เพราะในปีนี้ “อุณหภูมิการเมือง-เศรษฐกิจโลกร้อนแรงเหลือเกิน” กับ “กำแพงภาษี” หรือมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่ ผู้นำสหรัฐอเมริกา อย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ งัดออกมาใช้แบบ “ซัดหมดไม่สนหน้าไหน” ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่แข่งหลักอย่างจีน หรือชาติพันธมิตรอย่าง สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อิสราเอล ฯลฯ รวมถึง “ประเทศไทย” ที่เจอไปแบบจุกๆ ในอัตราร้อยละ 36 หากจะส่งสินค้าเข้าไปขายในแดนลุงแซม
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย อาทิ ในวันที่ 8 เม.ย. 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา ว่า ยุทธศาสตร์รวดเร็วไม่ได้เราต้องแม่นยำด้วย รีบไปมันไม่เกิดประโยชน์อะไร การที่เราไม่ได้รีบส่งจดหมายกลายเป็นว่าเราได้รับการตอบกลับมา จาก สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในการรับนัดในการร่วมพูดคุยแล้ว ไม่แน่ใจใจว่าเราเป็นชาติแรกๆ หรือไม่ ที่มีการติดต่อกับทางสหรัฐอเมริกาแล้วว่าสามารถเข้าไปคุยได้ เหลือแค่กำหนดวันคุย
ในวันเดียวกัน ภายหลังการประชุมดังกล่าว พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย 5 ประเด็น เตรียมนำไปหารือกับสหรัฐฯ คือ 1.การหาโอกาสจากการนำเข้าพืชผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากสหรัฐ เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า เช่น การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐฯ เข้ามาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาหารขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และนำเข้าเครื่องในสัตว์มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าและส่งออก
2.การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยบริการจัดการด้านภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค และการนำเข้าสินค้าต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 100 รายการ จะดำเนินการตามโควตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3.การแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ผ่านการลดขั้นตอนที่นอกเหนือจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขทั้งหมด
4.การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ โดยจะมีการออกใบรับรองต้นถิ่นกำเนิดสินค้าให้รอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด และ 5.การหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การพิจารณาลงทุนด้านการการขนส่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในอลาสกา หรือการลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตรในสหรัฐฯ
ย้อนไปในวันที่ 3 เม.ย. 2568 ซึ่งเป็นวันที่ทรัมป์ประกาศมาตรการกำแพงภาษีแบบชุดใหญ่กับนานาประเทศทั่วโลก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาร่วมพูดคุยในประเด็นนี้ในรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” โดยอดีต รมว.คลัง เล่าว่า ตนตื่นมาตอนตี 5 เห็นข่าวแล้วก็ตกใจ เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์มีท่าทีอะลุ้มอล่วย แต่พอออกมาจริงๆ ตัวเลขดูรุนแรงและกระจายไปทั่ว
ดังนั้นนโยบายล่าสุดที่ทรัมป์ประกาศออกมาจึงสะเทือนไปทั่วโลก เรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยหากย้อนมองประวัติศาสตร์ ช่วงที่อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เคยสูงในระดับนี้ต้องย้อนกลับไปถึงช่วง 10 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเวลานั้นเมื่อสหรัฐฯ ยกระดับภาษีก็ก่อให้เกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า แต่เมื่อตอบโต้กันไป – มาก็ทำให้การค้าโลกลดลงอย่างมาก นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอทั่วโลก หรือ The Great Depression และสุดท้ายก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งสิ่งที่ตนกำลังจะบอกคือหากมีการคว่ำบาตรทางการค้า อย่าคิดว่าจะจบอยู่ที่การค้า แต่อาจลามไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่สงครามเศรษฐกิจ แต่จะกลายเป็นสงครามที่ใช้อาวุธเข้าสู้รบกันจริงๆ อย่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จู่ๆ ญี่ปุ่นก็เข้าร่วมสงครามและส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ เรื่องนี้ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้น แต่ต้องย้อนไปดูบริบทขณะนั้นที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเพียงรายเดียว
แต่เมื่ออยู่ดีๆ สหรัฐฯ หยุดขายน้ำมันให้ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นคำนวณแล้วว่าปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศเหลือไม่มากและไม่รู้จะหาซื้อจากที่ไหน ทำให้ตัดสินใจยกกองทัพไปบุกยึดดินแดนต่างๆ เช่น เกาะบอร์เนียว ก็เพื่อแสดงหาแหล่งน้ำมัน ดังนั้นสิ่งที่ตนเล่าคือประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการตอบโต้หรือคว่ำบาตรกัน สถานการณ์ที่จะลามจากสงครามเศรษฐกิจไปเป็นสงครามสู้รบจริงสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย
“เวลานี้อย่าลืมว่ามันมีสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกซึ่งผมคิดว่าน่าเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง 1.ยูเครน สหรัฐฯ พอเวลานี้เปลี่ยนเป็นทรัมป์เขาเดินหนีจากสงครามยูเครนก็จริง แต่พอสหรัฐฯ เดินหนี ประเทศในยุโรปตะวันตกกลับจับมือกันแล้วจะไปในลักษณะที่ผมคิดว่าน่ากลัว คือก่อนหน้านี้ส่งเงินและส่งอาวุธให้ยูเครนเป็นคนรบ เวลานี้เขาประกาศแล้วว่าลำดับต่อไปจะมีทหารอังกฤษ ฝรั่งเศส และอาจรวมถึงเยอรมันเข้าไปประจำการในยูเครน ร่วมรบด้วย เขาพูดทำนองว่าเข้าไปเพื่อรักษาสันติภาพ แต่ถ้าอาวุธรัสเซียมาโดนเขาก็จะตอบโต้”.
ประการต่อมา 2.สหรัฐฯ พยายามเข้าไปกดดันอิหร่านเพื่อเจรจาเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ โดยหากย้อนมองประวัติศาสตร์ อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีนิวเคลียร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และไม่ยอมให้ประเทศอื่นได้มีบ้างโดยเด็ดขาด อย่างครั้งหนึ่งอิรักหรือซีเรียสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาก็ถูกอิสราเอลระเบิดทำลายทิ้งทันที ดังนั้นปัจจุบันตนเชื่อว่าอิสราเอลคงจับตามองอิหร่าน โอกาสเกิดปัญหาจึงสูงมากและเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะกระทบทั้งราคาน้ำมันและการขนส่งสินค้า
ซึ่งทั้ง 2 เรื่องข้างต้นเดิมก็น่ากังวลอยู่แล้ว เมื่อมาเจอการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีทรัมป์เป็นผู้นำเข้าไปอีก ส่วนคำถามว่าสหรัฐฯ กำลังเร่งให้เกิดสงครามหรือไม่ หากมองลึกไป 2-3 ชั้น เราต้องมองว่าทรัมป์อยากได้อะไร เพราะด้านหนึ่งเข้าใจได้ว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามานาน ซึ่งหากประเทศเล็กๆ ขาดดุลการค้ามานานๆ ค่าเงินจะอ่อน การใช้จ่ายเกินตัวก็ต้องหยุด
แต่ด้วยความที่เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ เป็นสกุลเงินของโลก ค่าเงินจึงไม่อ่อน แต่ก็ทำให้สถานการณ์ขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เลวลงไปเรื่อยๆ จึงเกิดมาตรการนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากไปดูหนังสือ Trump : The Art of the Deal (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อ “เส้นทางชีวิตสู่ธุรกิจพันล้าน”) ซึ่งทรัมป์เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2530 จะเห็นทั้งความมุ่งมั่นและการมีความสามารถสูงในการเจรจา และเทคนิคการเจรจาของทรัมป์คือประกาศอะไรออกมาแบบเข้มๆ ไว้ก่อน เพื่อให้คนอื่นๆ เข้าไปเจรจา
“ผมคิดว่าแนวคิดของเขาขณะนี้คือพอโดนบีบอย่างนี้แล้วหลายๆ ประเทศจะยอมลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าของสหรัฐฯ แล้วเขาก็จะออกมาประกาศว่า นี่ไง!..ไปทำให้เกิดการลดภาษีนำเข้าทั่วโลกเลย แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาเวลานี้คือขบวนการขั้นตอนในการที่จะไปสู่เป้าหมายของทรัมป์ไม่ง่าย ถ้าเขาออกมาแล้วภาพออกมาแล้วเขามีพลังอำนาจแล้วมีเทคนิคในการเจรจา แล้วปรากฏว่าวางไพ่ทีแรกเข้มเลย แล้วปรากฏว่าประเทศต่างๆ ก็มา แล้วในที่สุดก็ยอม ภาษีของสินค้าสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปในยุโรปก็ดีอะไรก็ดี เวลานี้ลดลงมาเลย ในแง่นี้ก็ต้องยอมรับว่าการค้าโลกมันก็จะดีขึ้น”
แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นก็จะเกิดการเบียดกันไป – มา เพราะว่าบางประเทศก็จะไม่ยอมในทันทีและมีการตอบโต้ ขณะที่บางประเทศแม้จะยอม เช่น สมมติไทยยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ ก็ต้องลดให้ประเทศอื่นด้วยในสินค้าเดียวกัน เว้นแต่เราสามารถไปเจรจาแล้วไปทำเป็นเขตการค้าเสรีพิเศษระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ดังนั้นขั้นตอนในการเจรจา ดูแล้วสำหรับไทยยังต้องวางแผนดำเนินการอย่างแยบยล
และจริงๆ ที่ทรัมป์บอกจะเก็บภาษีสินค้าจากไทยร้อยละ 36 หากบวกภาษีฐานที่เก็บจากทุกประเทศร้อยละ 10 อยู่แล้ว เท่ากับสินค้านำเข้าจากไทยจะถูกเก็บภาษีถึงร้อยละ 46 เช่น จากของราคา 100 บาท กลายเป็น 146 บาทในสหรัฐฯ และผลกระทบไม่เพียงการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมถึงการส่งสินค้าไปประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะการค้าและการบริโภคทั่วโลกก็ลดลง แม้กระทั่งนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในไทยเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปขายในสหรัฐฯ ก็จะสะดุดเช่นกัน รัฐบาลจึงต้องรีบวางแผน
ทั้งนี้ แนวคิดที่ไทยจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น พืชไร่ต่างๆ ที่ผลิตในสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยกิน หรือน้ำมันที่ผลิตในสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่น้ำมันชนิดที่นำมากลั่นใช้ในไทยได้ โดยสิ่งที่ไทยอาจซื้อจากสหรัฐฯ ได้คือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยสรุปคือคงจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้เพียงบางส่วน แต่สำหรับตนคืออยากให้เจรจาลดภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ โดยตรง แต่ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า เมื่อลดให้สหรัฐฯ แล้วก็ต้องลดให้ชาติอื่นด้วย คำถามคือจะรับไหวหรือไม่?
“มันมีปัญหาอีกประการหนึ่ง คือสหรัฐฯ เขาอ้างว่าประเทศไทยขณะนี้เอาเปรียบ เพราะว่าคิดภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 72% เขาก็เลยตอบโต้ แต่เขาบอกเขาใจดีนะ เขาตอบโต้แบบอะลุ้มอล่วย ตอบโต้แค่ครึ่งเดียว เขาเลยคิดเรา 36% ครึ่งหนึ่งของ 72% แต่กลับไปถามก่อน 72% มาอย่างไร? ตัวเลขที่เราคิดภาษีจริงๆ ผมว่าแค่นิดเดียว ผมก็เลยไปดูสูตรของเขา มันมีอีก 2 ตัวที่เขาพูดถึง คือเขาบอกว่าเอาตรงนี้ด้วย มาตรการกีดกันในการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษีอากร อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเขาเอา VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่เราใช้กันภายในประเทศมารวมด้วยหรือเปล่า?
แต่ว่ามาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนใหญ่เขาจะออกมาในแง่ที่ว่าประเทศหนึ่งต้องการที่จะชะลอการนำเข้าสินค้าจากอีกประเทศหนึ่ง วิธีการง่ายๆ อันนี้ต้องตรวจความบริสุทธิ์ก่อน ต้องมีมาตรฐานใบรับรอง ต้องมีการเอาไปทดสอบ ทั้งหมดนี้มันเป็นกระบวนการทำให้การนำเข้ามันช้า – มันยากขึ้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ผมกำลังดู ผมคิดว่าเท่าที่ผมดูนะ ลักษณะของมาตรการกีดกันแบบนี้ของไทยไม่ค่อยมี น้อย! เอาจริงๆ เวลานี้ชาวบ้านเขาบ่นบอกเราปล่อยให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาจนตั้งตัวกันไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นผมคิดว่าตรงนี้ไม่น่าใช่”
ปัจจัยอีกประการที่สหรัฐฯ นำไปคิดคำนวณตั้งกำแพงภาษี คือเรื่องของการบริหารค่าเงิน ซึ่งก็เป็นอีกข้อที่ตนไม่เข้าใจ จะบอกว่าที่ผ่านมาไทยบริหารค่าเงินบาทก็เพื่อใช้เงินบาทเป็นหัวหอกในการส่งออกก็ไม่น่าใช่ โดยสรุปแล้วสหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีกับประเทศต่างๆ มาก – น้อยเพียงใด จะใช้ 3 ปัจจัยมาพิจารณา คือ 1.ภาษีนำเข้าของประเทศนั้นที่ตั้งไว้กับสินค้าจากสหรัฐฯ 2.มาตรการกีดกันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และ 3.การบริหารค่าเงิน ซึ่งกรณีของประเทศไทยที่สหรัฐฯ บอกว่าไทยตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ไว้ถึงร้อยละ 72 ตนมองว่าเป็นตัวเลขที่เกินความจริงไปมาก
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรีบไปเจรจากับสหรัฐฯ ต้องถามว่าสูตรคำนวณที่ว่ามีที่มาจากไหนบ้าง หรือที่อ้างถึงมาตรการกีดกันอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ภาษีโดยตรง ก็ต้องอธิบายด้วยว่าไทยกีดกันสหรัฐฯ ในส่วนนี้อย่างไร แต่ก็มีปัญหาอีกอีกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ออกคำสั่งแบนรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลไทยจากกรณีส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะเป็นข้อจำกัดด้วยหรือไม่
หรือหากสหรัฐฯ นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยจริง ฝ่ายไทยก็ต้องเจรจาให้เข้าใจว่านี่เป็นภาษีที่ใช้กันภายในประเทศ หรือหากสหรัฐฯ มองเรื่องการบริหารค่าเงินบาท ฝ่ายไทยก็ต้องชี้ให้เห็นการเทียบเงินบาทกับเงินสกุลอื่นๆ ในทวีปเอเชียอยู่ตลอดเวลา ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยต้องเริ่มวางหมากและรีบเจรจา อนึ่ง การที่ทรัมป์ใช้มาตรการกำแพงภาษีกับแทบทุกประเทศ ก็นำให้ชาติต่างๆ พากันวิ่งไปหาทรัมป์เพื่อขอเจรจา แต่ตนเชื่อว่าการเจรจาคงต้องใช้เวลาอยู่ กว่าจะลดมาอยู่ในระดับที่พอจะรับกันได้ แต่ยิ่งใช้เวลานานก็หมายถึงกำลังการซื้อขายและการลงทุนก็จะกระทบกันไปหมดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
“ของเราส่งออกอย่างไรก็ต้องไปเจรจา แล้วต้องค่อยๆ คุย แล้วผมเสนอแนะรัฐบาล เราต้องไปทั้งในแง่ประเทศเดี่ยวและเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้อาเซียนเป็นแท็กทีม เพราะเวลานี้โดนกันหมดและโดนกันอย่างรุนแรงเลย ฉะนั้นถ้าเราไปแล้วแท็กทีมกัน เกาะกันไว้ให้ดี ผมคิดว่าก็น่าจะสามารถอธิบายเขาให้เห็นเลยว่ากระบวนการในการผลิตมันหนีไม่พ้นที่จะต้องกระจายออกจากจีนแล้วก็มาที่อาเซียน แต่ภายในอาเซียนเราไม่ตั้งใจเอาเปรียบสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้สหรัฐฯ จำเป็นต้องแก้ปัญหาขาดดุลการค้า เราจะช่วยกันคนละไม้ละมือได้อย่างไร เพื่อที่จะหาข้อตกลงโดยเร็ว”
ส่วนคำถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้สามารถเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ได้หรือไม่? ตนมองว่าขณะนี้วิกฤตเริ่มก่อเค้า ที่น่ากลัวคือเริ่มต้นในยูเครน ตามด้วยอิหร่าน และล่าสุดคือสหรัฐฯ รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมาซึ่งส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะภาพอาคารถล่มที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก แม้จะมีเพียงอาคารเดียวที่ถล่มลงมาแต่ก็กระทบความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลก ดังนั้นหากรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นกับชาวต่างชาติเพื่อหวังให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในระยะยาว สิ่งที่ควรทำคือ
1.มาตรฐานทางวิศวกรรมต้องมี สร้างความเชื่อมั่นว่าการสร้างอาคารในประเทศไทยสามารถควบคุมได้ 2.มาตรการเตือนภัย อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น แม้เราไม่ได้สมัครใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของที่นั่น แต่หากแผ่นดินไหวทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือพกติดตัวจะได้รับข้อความแจ้งเตือนพร้อมกันอย่างรวดเร็ว และจริงๆ หน่วยงานเตือนภัยควรเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ใช่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หากรัฐบาลทำให้เห็นว่าระบบเตือนภัยช่วยให้อพยพออกจากอาคารได้ทันก็จะช่วยเรื่องความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวได้
“แต่สิ่งที่ต้องทำ ผมคิดว่าสำคัญที่สุดเลยคือต้องทำการสอบสวนการสร้าง การประมูลตึกที่ว่านี้ ต้องหาคนรับผิดชอบแล้วออกมาเลยให้มันชัดว่าปัญหาเกิดขึ้นจากการใช้วัสดุที่ผิดหรือเปล่า? การออกแบบที่ผิดหรือเปล่า? การประมูลมีกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า? แล้วลงโทษ แล้วให้ผลมันออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเราสามารถจับมือร่วมกันกับทางรัฐบาลจีนได้ ตรงนี้จะเป็นตัวที่ฟื้นความเชื่อมั่นได้เร็ว”
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี