ประธานศาลรธน.ย้ำระบุสถาบันต่างๆหมดยุคเผชิญหน้ากันแล้วยันศาลวางตัวเป็นกลาง เป็นที่พึ่งปชช.แก้พิพาทการเมืองเป็นผู้ช่วยแก้ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา ชี้ร้องเรียนกลั่นแกล้งไม่น้อย สุดท้ายศาลใช้ดุลพินิจหลักเกณฑ์ก.ม.เผยไม่ติดหากจะแก้รธน.เรื่องที่มา แต่ต้องมีองค์กรกลั่นกรองอีกขั้น ปธ.กกต.แจงคดียุบ ‘เพื่อไทย-6พรรคร่วมฯปม‘ทักษิณ’ครอบงำ คืบหน้ามากแล้ว รอเลขาฯพิจารณาชงที่ประชุมใหญ่หรือไม่
เมื่อวันที่ 10 เมษายน2568 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นายนครินทร์ เมฆไตรรัตรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงวาระครบรอบ 27ปีศาลรัฐธรรมนูญกับความคาดหวังของประชาชน”ว่าศาลรัฐธรรมนูญตั้งมา 27 ปี ย่างเข้าปีที่ 28 ในวันที่ 11 เมษายน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีระเบียบวิธีพิจารณาคดีที่ชัดเจน เชื่อว่าความคาดหวังของประชาชนมีมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเรื่องร้องตรงมาจากประชาชนมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่ไม่เคยลดน้อยลง แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิแต่ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือเขียนคำร้องอย่างไรจึงหารือในตุลาการว่าจะต้องมีการปรับปรุง ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเขียนคำร้องให้ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งหากเรื่องใดที่ศาลรับได้ก็จะรับไว้พิจารณา แต่หากรับไม่ได้ก็จะไม่รับ
การร้องตรงบางคนเรียกว่าการร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนเชื่อมั่นใจศาลรัฐธรรมนูญเช่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการยื่นฟ้องชู้ ให้สิทธิ ผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันในการยื่นร้องแต่ละฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงฝ่ายชายที่ยื่นฟ้องฝ่ายหญิง แต่ศาลชี้ชัดว่าการฟ้องชู้ของผู้หญิงสามารถยื่นฟ้องได้ ไม่ว่าชู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชายซึ่งศาลได้แก้ไขสิทธิตรงนี้ให้ใช้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน
นายนครินทร์ กล่าวว่าอีกมุมหนึ่งคือหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องที่มาจากองค์กรทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้โดดเดี่ยว อยู่ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา องค์กรอิสระ การที่ยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา เมื่อพูดถึงความรักสามัคคีไม่ใช่เฉพาะในมิติบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีมิติขององค์กร หรือสถาบันทางการเมืองต้องมีความเชื่อมโยงกันและมีความรัก สามัคคี มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน
“ศาลจะพิจารณารับเรื่องที่มาจากสถาบันต่างๆซึ่งยื่นถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือรัฐสภาก็รับอย่างที่ปรากฏให้เห็นแสดงให้เห็นว่าในทางหนึ่งสถาบันข้างเคียงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การเผชิญหน้ากันของสถาบันต่างๆหมดไปแล้ว คาดว่าจะถึงยุคที่จะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ”นายนครินทร์ย้ำ
เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญหนักใจหรือไม่ด้วยถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาลเช่นล่าสุดส.ว.ประกาศว่าจะฟ้องจริยธรรมสภาหากรับหลักการร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นายนครินทร์กล่าวว่าการที่องค์กรต่างๆมีปัญหากันเองและแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหาองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถช่วยได้ก็มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายให้สังเกตว่าคนพยายามยื่นเรื่องก็จะใช้วิธีการขู่ว่าจะยื่นศาล แต่ศาลจะพิจารณาด้วยความระมัดระวังรอบคอบว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นร้องหรือไม่หรือศาลมีอำนาจที่จะตัดสินเรื่องนั้นหรือไม่หากไม่ใช่ก็จะไม่ยื่นมือไปเกี่ยวข้อง
เมื่อถามย้ำว่าหนักใจหรือไม่ที่จะต้องตัดสินคดีทางการเมือง ชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากหน้าที่ นายนครินทร์ กล่าวว่า ความหนักใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พยายามบอกกับทุกคนว่าศาลเป็นองค์กรควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย ส่วนการตัดสินคดีทางการเมือง เป็นหน้าที่เสริมเท่านั้น แต่คนสนใจแค่อำนาจหน้าที่เสริม เช่นเมื่อไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ตัดสินให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมีกลไกพิจารณา ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน ไม่ได้มาจากรัฐสภา ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง เป็นตัวอย่างให้เห็น
เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายมองว่ามีคนใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง นายนครินทร์ กล่าวว่าเป็นธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิง แต่ศาลวางตัวเป็นกลางตั้งมั่นอยู่ในกฎกติกาศาลรัฐธรรมนูญเวลามีคำร้องเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งมีคนส่งเข้ามาเยอะแยะ แต่ศาลก็จะดูว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องหรือไม่ ถูกขั้นตอนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายก็ตัดออก เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีให้เห็น ในคำร้องที่ 1 ที่ศาลได้ออกเอกสารข่าวมา เขากลั่นแกล้งกันเต็มที่เราก็ตัดออก ทั้งนี้ ตนไม่ขอให้รายละเอียดข่าว
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่มาหากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา แต่มีที่มา 2 ส่วน คือผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 2 คนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และกรรมการสรรหาอีก 4 คน ก็ต้องผ่านวุฒิสภา
“ผมไม่ขัดข้องหากจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา แต่อย่างไรก็ตาม ควรที่จะมีองค์กรที่ให้การรับรองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กรรมการสรรหาได้ลงมติไปแล้ว” นายนครินทร์ กล่าว
ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคำร้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคว่าเลขาธิการกกต.ได้สั่งให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานและสอบปากคำคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเรื่องนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เข้าใจว่าคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจะสามารถเสนอเรื่องให้เลขาธิการกกต.พิจารณาได้ในเร็ววันนี้ว่ากรณีนี้เป็นเหตุอันควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคหรือไม่
“ถ้าหากเลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นเช่นนั้นก็จะต้องเสนอเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาถ้ากกต.เห็นด้วยกับทางเลขาธิการกกต.เราก็จะส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญถ้าเลขาธิการกกต.เห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอเชื่อถือได้ว่าการกระทำนี้ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองนั่นก็จะสั่งยุติเรื่อง”ประธานกกต.ย้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี