'ทวี' เตรียมส่งลายเซ็น'สมเกียรติ' วิศวกรคุมงานก่อสร้างตึก สตง.ที่ถล่ม พิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ -เผยมีชื่อผู้ออกแบบ อายุ85ปี เซ็นลงนามให้ดีเอสไอไปสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม /ด้าน'สมเกียรติ' ยืนยันไม่ได้คุ้มก่อสร้างมาแล้ว 20 ปี ปัดไม่รู้จัก “ปฏิวัติ” กรรมการ PKW
วันที่ 15เมษายน2568 กรมสอบ สวนคดีพิเศษ(DSI) โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ(กองคดีฮั้วประมูล)ได้เชิญนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาให้ปากคำในฐานะพยาน ภายหลังจากที่วานนี้(14เม.ย.)ได้แจ้งความดำเนินคดีที่สน.วังทองหลาง ว่าถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงาน กิจการร่วมค้า PKW (ประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) ที่เป็นคู่สัญญาผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางมาร่วมสอบปากคำด้วย
โดยภายหลังคุยกันนานกว่า 1 ชม. พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี DSI และนายสมเกียรติ ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยพ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า วันนี้นายสมเกียรติมาให้ข้อมูลในฐานะพยาน ที่สำคัญคือเราต้องรู้ให้ได้ว่าเหตุใดตึกจึงถล่ม เป็นเรื่องที่ทุกคนคลางแคลงใจ ถ้ารัฐหรือดีเอสไอไม่คลี่คลายได้เร็ว ประชาชนอาจขาดความเชื่อมั่น ทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พนักงานสอบสวนก็เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำหรับกรณีของกรรมาธิการฯ พบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทควบคุมงาน แล้วมีชื่อวิศวกรที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ควบคุมงาน คือ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ดังนั้น เอกสารดังกล่าว กรรมาธิการ โดยชุดของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ ได้รับจาก สตง. ไปชี้แจง ซึ่งมีประจักษ์พยานที่ได้ร่วมชี้แจงด้วย คือ รองอธิบดีดีเอสไอ โดยเอกสารที่ระบุว่าควบคุมงานนั้นมีชื่อวิศวกร “นายสมเกียรติ” ซึ่งพอชื่อปรากฏก็พบว่ามีคนปลอมลายเซ็น ทำให้นายสมเกียรติ ได้มาให้การในฐานะพยาน แล้วก็จะเซ็นว่าลายเซ็นที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งเราจะต้องเอาลายเซ็นเก่าไปเร่งตรวจพิสูจน์กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพราะว่าถ้าลายเซ็นผู้คุมงานไม่ใช่มันก็จะเป็นพิรุธส่วนหนึ่งได้ว่ามีการควบคุมงานจริงหรือไม่ และเป็นการควบคุมงานโดยใคร เพราะในเมื่อวิศวกรผู้ควบคุมงานได้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายเซ็นของเขา
พ.ต.อ.ทวี เผยอีกว่า ปกติเวลางานของราชการจะสร้างอะไร ราชการจะต้องเป็นผู้ออกแบบ โดยจะส่งไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ แต่ในกรณีของ สตง. ทั้งสองหน่วยราชการไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เนื่องจากได้มีการถามผู้ปฏิบัติงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วว่า เหตุใดกรมโยธาธิการฯ จึงไม่ออกแบบให้ ซึ่งอยู่ในงบ 2,000 กว่าล้าน โดยกรมโยธาฯ ได้แจ้งว่า ที่ขอมาขอให้มีการเร่งออกแบบภายใน 180 วัน เมื่อออกแบบไม่ทัน ก็เป็นสิทธิ์ที่หน่วยงานที่จะสร้าง สามารถไปจ้างผู้ออกแบบ ซึ่งผู้ออกแบบก็ต้องเป็นวิศวกร ขณะนี้จึงพบว่ารายชื่อผู้ออกแบบที่เซ็น มีอายุ 85 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็ว และที่สำคัญเรื่องนี้คือเรื่องวิชาชีพในระบบราชการ ซึ่งเรามีสภาวิศวกร ที่มีเงินงบประมาณไปอุดหนุน ก็ขอให้พนักงานสอบสวนได้พึ่งผู้เชี่ยวชาญที่นี่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของศาลด้วย สิ่งที่อยากจะให้ช่วยคลี่คลาย อย่างน้อยแม้จะผิดกฎหมายอาญาหลายกฎหมายก็ตาม แต่ต้องมีคำตอบว่าเหตุใดตึกจึงถล่ม และทรุดลงมาทั้งหมด
ขณะที่นายสมเกียรติ กล่าวว่า วันนี้ย้ำอยู่เพียง 2 เรื่องคือ ตนไม่ใช่ผู้ควบคุมงาน ไม่เกี่ยวข้องกับโครง การก่อสร้าง สตง. และถูกปลอมลายเซ็น ซึ่งตนได้แจ้งความกับสน.วังทองหลางไว้แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ปลอมลายเซ็น ส่วนจะมีการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือไม่นั้นต้องขอปรึกษาก่อน เพราะการจะทำอะไรต้องทำอย่างรอบคอบ พร้อมยืนยันว่าไม่รู้จักนายปฏิวัติ หนึ่งใน กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันกับกิจการร่วมค้า PKW แต่ไม่ขอตอบว่ารู้จักใครในบริษัทนี้หรือไม่ และไม่บอกว่าใครที่เดินทางมาชวนไปทำงานด้วยเมื่อปี 2563 บอกเพียงว่าเป็นคนที่รู้จักกันมานานแล้ว เพราะแค่ต้อง การยืนยันว่าเอกสารใบผู้ควบคุมงานที่ปรากฏตามข่าวเป็นของปลอม ตนไม่ได้ทำงานควบคุมการก่อสร้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว สามารถตรวจสอบจากสภาวิศวกรได้ว่าตนเองเคยไปขออนุญาตควบคุมงานก่อสร้างโครงการนี้หรือไม่
ส่วนกรณีที่ถูกปลอมลายเซ็น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ได้มีโครงการก่อสร้างอื่นที่ถูกปลอมลายเซ็นอีกนั้น ส่วนนี้ตนคงตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้เลยว่าใครเอาอะไรไปที่ไหนบ้าง แล้วยิ่งตอนนี้ ลายเซ็นของตนปรากฏเต็มสื่อไปหมดแล้ว เลขประกอบวิชาชีพตนก็มีปรากฏ ดังนั้น ตนขอฝากนักข่าวว่า เผื่อโครงการหน้ามีอะไร ขอให้มาสอบถามตนก่อนว่า ตนได้เซ็นจริงหรือไม่ ตนจะได้รู้ว่าถูกปลอมอีกแล้ว
เมื่อถามต่อว่ากรณีเช่นนี้จะเป็นความหละหลวมหรือไม่ เนื่องจากมีการนำชื่อไปใช้แอบอ้าง จนได้รับความเสียหายนั้น นายสมเกียรติ ขอขอบคุณไปยังสภาวิศวกร เนื่องจากสภาวิศวกรมีขั้นตอนการรับรอง โดยจะต้องมีการขอใบรับรองการเป็นวิศวกร อีกทั้งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าไปที่สภาวิศวกร คุณจะเข้าไปทำหน้าที่อะไร เช่น จะเข้าไปออกแบบ จะคำนวณ ฯลฯ ซึ่งในขั้นตอนของสภาวิศวกรนี้จะมีการระบุไว้อยู่แล้ว ซึ่งเอกสารนี้ยังมีเรื่องของใบประกอบวิชาชีพที่ใครจะไม่สามารถนำไปสำเนาคัดถ่ายไปใช้ในโครงการอื่นได้ เพราะมันจะต้องมีใบรับรองของสภาวิศวกรปรากฏอยู่ด้วย
ต่อข้อถามว่าปกติแล้วเอกสารการลงนามรับรองที่ถูกแอบอ้างดังกล่าว จะต้องเป็นการเซ็นต่อหน้าหรือสามารถเซ็นทางอิเล็กทรอ นิกส์ได้นั้น นายสมเกียรติ ระบุว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่ถามว่าในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 มันก็มีความเป็นไปได้ที่ระเบียบจะมีการยืดหยุ่นออกไป ซึ่งในเรื่องนี้ตนไม่รู้ ว่ามีการเอาชื่อตนไปเป็นผู้ควบคุมงาน ทั้งที่ตนไม่ได้ทำมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้ สามารถสอบถามไปยังสภาวิศวกรได้ด้วยว่าตนเคยขออนุญาตเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการสันนิษฐานไว้หรือไม่ว่าลายเซ็นดังกล่าวปรากฏโดยใครเป็นผู้ดำเนินการนั้น ตนไม่ได้ถามใคร เพราะกำลังสืบอยู่ว่าใครเอาไปทำ ส่วนระหว่างนี้มีใครจากฝั่งที่นำชื่อตนไปใช้แอบอ้างได้ติดต่อประสานมาหรือไม่นั้น ตนขอไม่ตอบ
เมื่อถามว่ากรณีมีการไปแก้ไขการออกแบบปล่องลิฟท์หรือปล่องบันได มันสามารถส่งผลต่อการรับน้ำหนักของตัวอาคารได้หรือไม่นั้น หากมองตามหลักวิศวกร นายสมเกียรติ ตอบว่า ตนไม่ขอพูดถึงตัวโครงการนี้ แต่ขอพูดตามหลักการทั่วไปว่า อาคารเหล่านี้เราเรียกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือคอนกรีตอัดแรง หากเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก็คือคอนกรีตกับเหล็กผสมกัน ถ้าคอนกรีตรับแรงน้อยลงเหล็กก็ต้องรับแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มเหล็กเข้าไป หรือถ้าบอกว่าเหล็กมันราคาแพง อาจจะเพิ่มเป็นคอนกรีตก็ได้ ถามว่าทุกอย่างสามารถทำให้ถูกต้องได้ แต่ให้วิศวกรเป็นผู้ออกแบบและผู้คำนวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เจ้าของแบบที่เป็นผู้ออกแบบสำหรับอาคารนั้น ๆ
ด้านร.ต.อ.สุรวุฒิ เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ได้ในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคดี 3 คนไทย เป็นนอมินีถือครองหุ้นบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เพราะมีความเชื่อมโยงกันเกี่ยวกับทำงานตั้งแต่การออกแบบจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งการปลอมเอกสารเป็นสาเหตุของเรื่องหลายอย่าง จึงถือเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่ต่อเชื่อมว่ามีการทำผิดอะไรบ้าง ซึ่งในการดำเนินคดีจะมีการพูดคุยแลกข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอด ซึ่งขณะนี้ยังถึงขั้นต้องไปตรวจสอบย้อนหลังว่ามีเคสปลอมแปลงลายเซ็นของบริษัท PKW หรือไม่เพราะต้องตรวจสอบตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แต่หากมีข้อมูลก็จะต้องขยายผลอย่างแน่นอน
ส่วน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับกรณีคดีฝุ่นแดง ซึ่งทางสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีหนังสือสอบถามมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ร่วมสืบสวนนั้น ตอนนี้กระบวนการอยู่ระหว่างเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากหนังสือเพิ่งเข้ามาถึงหน่วยธุรการทางคดีเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ส่วนประเด็นเรื่องเหล็กไม่ได้คุณภาพ ทาง สมอ. ได้เข้าเก็บหลักฐานร่วมกับดีเอสไอ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากพบว่ามีมูลความผิดว่าเป็นเหล็กตกมาตรฐาน แล้วเป็นเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างของที่ใด ก็จะมากล่าวโทษดำเนินคดีเพิ่มเติม ส่วนจะต้องแยกเป็นเลขคดีพิเศษคนละสำนวนกับคดีนอมินีหรือสามารถรวมเป็นเลขคดีเดียวกันได้นั้น คงต้องดูรายละเอียดก่อน ซึ่งจะต้องดูองค์ประกอบความผิดกับผู้กระทำความผิด ถ้าอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วพฤติกรรมไปด้วยกัน ก็สามารถรวมเป็นเลขคดีเดียวกันได้
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี