"วราวุธ"บรรยายพิเศษให้ วปอ.รุ่น 67 ฟัง ชูนโยบาย พม.5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร-พันธกิจสำคัญ 9 ด้าน หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน" ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 67 ว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ระบุว่า "ความเหลื่อมล้ำ" มีหลายมิติและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบท อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (รายได้ ทรัพย์สิน และค่าจ้าง) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนที่แตกต่างกันถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน ไม่ได้รับความเสมอภาค นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังหมายถึงความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งรายงานธนาคารโลก (World Bank Report) ระบุไว้ว่า แอฟริกาใต้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก และสโลวาเกียมีความเหลื่อมล้ำต่ำที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำไม่สูง
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อ "กลุ่มเปราะบาง" มากกว่ากลุ่มอื่นๆ จากรายงานแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ โดยกระทรวง พม.พบว่า กลุ่มเปราะบาง ประมาณ 22.6 ล้านคน แบ่งเป็น เด็กเล็กอายุไม่เกิน 7 ปี 4.4 ล้านคน คนพิการ 2.2 ล้านคน ผู้สูงอายุ 13.6 ล้านคน และคนยากไร้ 2.4 ล้านคน ซึ่งเด็กในครัวเรือนเปราะบาง ประมาณ 4 ใน 10 คน กำลังประสบกับหลายปัญหาพร้อมกัน ทำให้เสี่ยงที่จะไม่ได้เรียนต่อ อีกทั้งคนพิการส่วนใหญ่ยังเข้าถึงการศึกษาและการทํางานได้ยาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากรจะเพิ่มภาระให้กับกลุ่มวัยแรงงานที่เป็นกลุ่มเปราะบางและทําให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ มากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่วัยเรียน และวัยทํางานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทําให้วัยแรงงานต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 20 ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาลอย่างเดียว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ยากไร้ มากกว่าคนทั่วไป อาทิ อุณหภูมิสูงขึ้น ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม เกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่ง UNICEF ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงอันดับ 50 จาก 163 ประเทศ และผู้หญิงมักได้รับผลกระทบมากกว่าและรุนแรงกว่าเพศชายเมื่อเกิดวิกฤต
การจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน นั้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นการแก้ปัญหาสถานการณ์โลกที่ซับซ้อน รวมถึงความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ครอบคลุมมิติสําคัญ 5 มิติ ได้แก่ 1) มิติความมั่นคงของมนุษย์ 2) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 3) ความยั่งยืนของโลก 4) ความสงบสุขสันติของสังคม และ 5) ความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา โดยเป้าหมายมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ อีกทั้งจำเป็นต้องพัฒนาคนสําหรับโลกยุคใหม่ในการสร้างหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงในชีวิต มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ด้วยการสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น ซึ่งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สําคัญ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้ ด้วยการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย อาทิ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมของชายและหญิงทั้งในครอบครัวและที่ทํางาน
ในส่วนของกระทรวง พม.ได้ขับเคลื่อนนโยบาย "5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร" ที่มุ่งเน้นด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคมในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคน การสร้างและยกระดับรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ การเสริมพลังและการให้ความสําคัญกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประกอบด้วย 1) เสริมพลังวัยทํางาน 2) เพิมคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิมโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสําหรับการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
และการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ (Flagship Projects) 9 ด้าน เพื่อต่อยอดขยายผลนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 1) ยกระดับการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย 2) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ 3) สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง 4) พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 5) สร้างหุ้นส่วนทางสังคม สู่สวัสดิการที่ยั่งยืน 6) ขับเคลื่อนพันธกรณีระหว่างประเทศที่สําคัญ 7) สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ทางสังคมเชิงรุก 8) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสังคม และ 9) พัฒนาระบบ พม.ดิจิทัล และฐานข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อ "คนไทยมีความมั่นคงในชีวิตและสวัสดิการที่เหมาะสม" ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ก้าวข้ามคําว่า "เปราะบาง" มีงาน มีรายได้ สามารถอยู่ร่วมในสังคม และพร้อมส่งต่อโอกาสสู่ผู้อื่นต่อไป
กระทรวง พม.ได้จัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เป็นหน่วยงานกลางในการเร่งรัด จัดการ และช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคม ให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า 87,000 กรณี (ในช่วงเวลา 6 เดือน) ทั้งในมิติของการจัดการสวัสดิการสังคม อาทิ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และการเสนอกฎหมายใหม่ๆ เช่น การคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และการคุ้มครองเด็กที่ส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นดูแลเด็กมากขึ้น
รวมถึงการ ตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เป็นหน่วยงานกลางในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติของอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการให้เงินสงเคราะห์ ถุงยังชีพ และคําปรึกษาแนะนําบริการและสิทธิสวัสดิการสังคมต่างๆ การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวของ พม.และการมีส่วนร่วมบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราวของจังหวัด รวมถึงแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ อีกทั้งกระทรวง พม. ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดทําแผนที่แสดงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เพื่อให้ช่วยเหลือได้ตรงจุด รวดเร็ว และทันเวลา
กระทรวง พม.ยังมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย ได้แก่ 1) กลุ่มเด็ก ด้วยการส่งเสริมการเติบโตสมวัย มีคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานศูนย์เด็กเล็ก ส่งเสริมศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน สร้างความมั่นคงในระบบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี 2) กลุ่มคนพิการ ด้วยการสร้างโอกาสให้คนพิการ มีล่ามภาษามือทุกจังหวัด ส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือ และสร้างทัศนคติที่ดีในสังคม 3) กลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ผลักดันการจ้างงาน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และ 4) กลุ่มผู้ดอยโอกาส ผู้ยากไร้ ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชนตามโมเดล "นิคม Next" สร้างบ้านราคาถูกให้ประชาชน และส่งเสริมการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้วยทุนทางสังคม
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี