’มท.1‘เป็นประธานในพิธีมอบเงินเยียวยา1แสนบาท ต่อครอบครัว-ญาติผู้สูญเสียจากเหตุ ’อาคาร สตง.’ ถล่ม น้ำตาคลอเห็นใจใช้ชีวิตต่อจากนี้ ขณะที่เหยื่อมีภูมิลำเนาอยู่ใน ’11จังหวัด‘ มอบผู้ว่าฯดำเนินการภายในวันนี้ กำชับเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ชาวบ้านให้ทราบสิทธิช่องทางรับเงินช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและสาธารณภัยแห่งชาติ(บกปภ.ช.) เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือครอบครัว และญาติผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่28มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แห่งใหม่ ย่านจตุจักร กทม. ถล่มลงมาทั้งหลัง จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ เข้าร่วมพิธี
โดยอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวรายงานสถานการณ์ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง เกิดความเสียหายในพื้นที่ รวม18 จังหวัด 139 อำเภอ 436 ตำบล 836 หมู่บ้าน รวมถึงกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดโดยเฉพาะกรณีอาคาร สตง. ถล่ม ตามรายงานของ กทม. เมื่อวันที่ 15เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 48 รายเป็นผู้เสียชีวิต บริเวณกลางอาคาร สตง. จำนวน 41 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 6 ราย ต่างด้าว 3 ราย ไม่สามารถระบุตัวตนได้ 22 ราย และอาคารในเขตอื่นจำนวน 7 ราย ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางอนุมัติหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 แยกเป็น 1.ด้านการดำรงชีพและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 100,000 บาท 2.ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละ100,000 บาท และ3.ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เบิกไม่ได้ ตามอัตราที่ทางราชการกำหนด
จากนั้นนายอนุทิน ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่น.ส.ชลิดา ทองพุฒ บุตรสาวผู้เป็นทายาทของนายชัชวาล ทองพุฒ ผู้เสียชีวิต ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พิษณุโลก จำนวน 100,000 บาท โดยมีความประสงค์จะขอรับเงินค่าจัดการศพของบิดาในพื้นที่ กทม. นอกจากนี้ ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายอื่น มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคายน่าน อุทัยธานี อุดรธานี นครพนม ชัยนาท ขอนแก่น สุพรรณบุรี ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู จะมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 11 จังหวัด ลงพื้นที่เพื่อมอบเงินค่าจัดการศพรายละ 100,000 บาทให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ภายในวันนี้(18เม.ย.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการมอบเงินเยียวยา นายอนุทิน ได้สอบถามบุตรสาวผู้เสียชีวิตถึงทิศทางการใช้ชีวิตต่อจากนี้ ทำให้บุตรสาวผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทำให้นายอนุทิน ถึงกับน้ำตาคลอออกมาด้วยจากนั้นนายอนุทิน ได้เดินทางกลับ โดยไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวแล้ว ในด้านมาตรการป้องกันและการเตือนภัยนายอนุทิน ได้มอบหมายให้ ปภ. นำข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนโยบายของนายอนุทิน หารือร่วมหน่วยที่เกี่ยวข้อง นำระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast มาใช้ในการแจ้งเตือน ซึ่งระบบดังกล่าว จะทำการแจ้งข้อมูลแผ่นดินไหว เมื่อความรุนแรงแผ่นดินไหวถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในประเทศขนาด 4.0 ขึ้นไป กรมอุตุนิยมวิทยา จะเป็นผู้ส่งข้อความแรก (First Message) ไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรงผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ หลังจากนั้น ปภ. จะเป็นผู้ส่งอัพเดทสถานการณ์ วิธีปฏิบัติตัว จนกระทั่งสิ้นสุดภัย
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ส่วนการแจ้งเตือนภัยอื่น เช่น พายุฤดูร้อน น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง หน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สทนช. จะส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยมายัง ปภ. หลังจากนั้นหน่วยงานดังกล่าว จะทำการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันในรูปแบบของ War Room เมื่อถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย ปภ. จะส่งคำแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ทั้งนี้ การส่งข้อความผ่านระบบ Cell Broadcast ที่ทำได้ ณ ปัจจุบัน ก่อนที่ระบบ Cell Broadcast Entity หรือ CBE ของ ปภ. จะแล้วเสร็จ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย (AIS/True/NT) จะรับข้อความแจ้งเตือนจาก ปภ. หลังจากนั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะส่งข้อความแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast Centre หรือ CBC ไปก่อน เพื่อส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่
“นายอนุทิน ยังได้กำชับให้ทั้ง ปภ. จังหวัด และท้องถิ่นเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสิทธิรวมถึงช่องทางในการขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เมื่อในพื้นที่ได้ประกาศเขตภัยพิบัติและเขตให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถขอรับการช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ประสบภัย และผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอื่น ยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยในพื้นที่ กทม. มีระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว (ค่าเช่าบ้าน) เงินปลอบขวัญกรณีได้รับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัย ค่าเงินทุนประกอบอาชีพ กรณีเครื่องมือประกอบอาชีพหลักได้รับความเสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก” โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี