เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เผยแพร่ข่าว "กสม.ส่งเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาล ปค.เพิกถอนคำสั่งอนุญาต'ทักษิณ'นอนชั้น 14" โดยมีเนื้อหาดังนี้
กสม.ลงมติส่งเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งอนุญาต 'ทักษิณ ชินวัตร' รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ ให้เป็นการกระทำที่ใช้บังคับไม่ได้ หรือ โมฆะ ชี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีสาเหตุสำคัญมาจากการปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ครบถ้วนของหน่วยงานของรัฐ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการประชุมลงมติส่งเรื่องกรณีเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่งตัว นายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 181 วัน ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณายื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง ให้เป็นการกระทำที่ใช้บังคับไม่ได้ หรือเป็นโมฆะ
แหล่งข่าวกล่าวว่า การลงมติ กสม.ดังกล่าว สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยัง กสม.เมื่อปลายปี 2567 ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ครบถ้วนของหน่วยงานของรัฐ คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 ที่รัฐจะต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเลขาธิการ กสม.ได้มีหนังสือที่ สม 0401/1663 ลงวันที่ 10 เม.ย.2568 ส่งไปยังเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนการที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร รักษาอาการป่วยนอกเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเพิกถอนกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 แล้ว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับคือ กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้ผู้บัญชาเรือนจำหรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้อนุญาตหรือเห็นชอบในการส่งตัวผู้ต้องขัง และ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ที่บัญญัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกก่อนที่จะส่งผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งการดำเนินการตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ในการร้องขอต่อศาล ผู้เกี่ยวข้องที่จะสามารถดำเนินการได้คือ ผู้ต้องขัง สามี ภริยา ญาติผู้ต้องขัง พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ดังนั้น หากเป็นการดำเนินการของเรือนจำ ผู้ที่จะร้องขอต่อศาลคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกของเรือนจำ โดยเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องหลังจากผู้บัญชาการเรือนจำหรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตโดยใช้อำนาจตามกฎกระทรวงแล้ว ยังจะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับโทษจำคุกเสียก่อนจึงจะนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ แต่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้บังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวเพียงฉบับเดียว โดยไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ต่อเนื่องไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทุกฉบับ อันเป็นการกระทำขององค์กรฝ่ายบริหารเพื่อหลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจของศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ได้แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามอำนาจซึ่งจะต้องมีการถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน เป็นการกระทำที่มีลักษณะบั่นทอนทำลายอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันตามที่ กสม.ได้เสนอแนะในรายงานการตรวจสอบที่ 221/2567 แล้ว ผู้ร้องเห็นว่า กสม.สามารถที่จะเสนอแนะหรือดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีนี้ให้กลับมาเป็นการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ โดยวิธีการทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวนอกเรือนจำมีความครบถ้วนถูกต้องและเคร่งครัด ซึ่งจะต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับต่อเนื่องไปพร้อมกัน โดยหากมีการร้องขอต่อศาลก่อนการส่งตัวออกไปนอกเรือนจำ จะทำให้การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดขึ้นหรือยากที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากศาลจะต้องไต่สวนและมีการแสดงเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอจนเชื่อได้ว่านายทักษิณมีอาการป่วยรุนแรงในระดับที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ ศาลจึงจะมีคำสั่งอนุญาต
แต่หากไม่สามารถย้อนกลับไปดำเนินการใหม่ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ได้ ศาลอาจมีคำสั่งให้การส่งตัวนายทักษิณออกไปนอกเรือนจำซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 เป็นการกระทำที่มิอาจใช้บังคับได้หรือเป็นโมฆะทั้งหมด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 เมื่อเป็นเช่นนี้การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่นายทักษิณได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นก็จะได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไป ส่วนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปกับนายทักษิณเป็นเรื่องที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งต่อไป
ขณะที่ ผู้ร้องเห็นว่า กสม.ได้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันไว้แล้วในรายงานตรวจสอบของ กสม.แต่ยังไม่ได้เสนอแนะหรือดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีนี้ เช่นเดียวกับการดำเนินการเพื่อให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการส่งรายงานการตรวจสอบให้กับ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ จึงขอให้ กสม.พิจารณาดำเนินการให้มีการแก้ไขการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้ เพื่อให้กลับมาเป็นการกระทำที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 หรือเพื่อให้การกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โดยขอให้ กสม. ดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ตาม พรป.กสม. มาตรา 6 วรรคสอง เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตาม พรป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 23 (2) เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยขอให้เพิกถอนการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครบถ้วน กรณีไม่ได้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุก ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ซึ่งเป็นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และโดยไม่สุจริต และขอให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 หากพิจารณาเห็นว่า การที่ยังคงมีกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงไม่บังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ซึ่งจะทำให้การบังคับโทษตามหมายจำคุกของศาลเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามคำพิพากษา
ขอบคุณที่มาจาก : https://www.isranews.org/article/isranews-news/137366-invesdsdssdsd-8.html
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี