‘กมธ.ติดตามงบฯ สว.’เรียกถกเกณฑ์‘เยียวยา-ชดเชย’แผ่นดินไหว แนะประชาชนไม่พอใจยื่นอุทธรณ์ได้ หลังพบจ่ายเยียวยา 70-300 บาท แปลกใจ‘อลงกต ประธานกมธ.ฯ’ออกตัวแจงแทนหน่วยงานที่เชิญมา อ้างรู้ระเบียบ ซ้ำยังการันตีให้‘กทม.’ไม่ทำอะไรโดยพลการ ยึดตามกฎหมายทั้งหมด
21 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ติดตามการบริหารงบประมาณ สมาชิกวุฒิสภา โดยมีนายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงมหาดไทย , กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพฯ เข้าชี้แจง ประเด็นการพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และการเยียวยาอาคารบ้านเรือน ที่ได้รับเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาโดยที่ประชุมได้เชิญรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รวมไปถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้ามาให้ข้อมูล แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดมาชี้แจง มีเพียงเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลแทน
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ชี้แจงว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับความประสงค์เข้าขอเงินช่วยเหลือ จากอาคาร หรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เพื่อขอเงินซ่อมแซมอาคารบ้านพักอาศัยจากแอปพลิเคชัน Traffy Fobdue ((ทราฟฟี ฟองดู)) ประมาณ 20,000 คนเศษ โดยกรุงเทพฯจะเป็นผู้สำรวจความเสียหาย ก่อนทำเรื่องเบิกจ่ายมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หรือ ปภ.ที่ได้รับงบประมาณมา 200 ล้านบาทโดยให้เวลายื่นคำร้องและสำรวจภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ถึงวันที่ 27 เมษายน 2568 และต้องดำเนินการตามกระบวนการของการทำประชาคม หรือ ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. ก่อนส่งเรื่องให้ ปภ. เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือเยียวยา ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันคือ 27มิ.ย..68 โดยยังไม่มีมีการเร่งรัดชัดเจน แต่มีความต้องการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน คือวันที่ 27 เม.ย.68
ขณะที่นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพฯ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องจำนวน 32,279 คน (ข้อมูล ณ19เม.ย68) หากกำหนดกรอบ 30 วันไม่น่าจะทัน เพราะขณะนี้มีการตรวจสอบอาคาร และรับรองแล้ว ประมาณ 878 ราย (ข้อมูล ณ 19เม.ย.68) ซึ่งการตรวจสอบไม่ได้มีความง่าย และต้องใช้เวลาในการนัดหมาย เมื่อรับรองแล้วก็จะส่งให้ ปภ. เพื่อให้การอนุมัติจ่ายไปเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่า จะจัดส่งเอกสารให้ ปภ. รอบแรกในวันที่ 28 เม.ย.นี้ จะไม่รอจ่ายครั้งเดียวทั้งหมด โดยจะโอนเงินให้แก่ กทม. ก่อนโอนให้ประชาชนผ่านบัญชี ที่ได้ให้ประชาชนแจ้งความจำนงผ่านแบบฟอร์มว่า ให้โอนผ่านบัญชีเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ส่งบุคลากรสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะวิศวกรโยธา จึงต้องขอความร่วมมือจากกรมโยธาธิการและผังเมืองและสภาวิศวกร
ด้านนายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ทั่วประเทศมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบกว่า 23 จังหวัด โดยมีสถานประกอบการประมาณ 198 แห่ง ส่วนกรณีมีผู้เสียชีวิตที่พื้นที่เกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ข้อมูลล่าสุดคือ 47 ราย ยืนยันอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 34 ราย (คนไทย 23 ราย แรงงานต่างชาติ 11 ราย) และกำลังตรวจสอบอัตลักษณ์จำนวน 13 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ 8 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 1 ราย
นายสมาสภ์ กล่าวต่อว่า มีผู้เสียชีวิตได้จ่ายเงินจากประกันสังคมไปแล้ว 9 ราย โดยแบ่งเป็นการจ่ายเงินค่าจัดการศพรายละ 50,000 บาท เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกินเดือนละ 14,000 บาท ในระยะเวลา 10 ปีให้แก่ทายาท และเงินทุนเลี้ยงชีพ บำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคมตามจำนวนการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนโดยพิจารณาจากผู้เสียชีวิตจำนวน 54 ราย ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 11 ราย กระทรวงแรงงานจะชดเชยค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดและค่าชดเชยการหยุดงาน หากทุพพลภาพ จะได้รับการชดใช้ตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าผู้บาดเจ็บรายใดทุพพลภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุมกมธ.ฯพยายามสอบถามถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับอาคารบ้านพัก หลังมีข่าวว่าบางรายได้ 70 - 300 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าเอกสารที่ต้องปริ้นท์เป็นภาพสี ไปยื่นเรื่องด้วยซ้ำ แต่นายอลงกต ที่ทำหน้าที่ประธาน ไม่ยอมให้หน่วยงานชี้แจง แต่กลับชี้แจงด้วยตนเองว่า การจ่ายเงิน จะยึดตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2563 (กระทรวงการคลัง) ข้อ 5.1 ด้านการดำรงชีพ5.1.5 ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท หากการชดเชยเยียวยาทุกกรณีผู้ยื่นคำร้องขอชดเชยไม่พอใจ และไม่ยอมรับการชดเชยที่กำหนดไว้ ผู้ยื่นคำร้องสามารถดำเนินการอุทธรณ์ และหากไม่พอใจกับอุทธรณ์ สามารถร้องตามกระบวนการการปกครอง ทั้งนี้การชดเชยทุกกรณีเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ พร้อมยืนยันอีกว่ากทม. ไม่ได้ทำอะไรโดยพลการ แต่ทำตามระเบียบ
อย่างไรก็ตามในการประชุม ประธานกมธ.ฯ ได้ถามเองตอบเองอยู่ตลอด โดยไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงอย่างเต็มที่ ทั้งที่เชิญมาชี้แจง
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี