‘ปชน.’ ข้องใจ ‘รัฐบาล’ เว้นภาษีนำเข้า ‘รถยนต์โบราณ’ ดันส่งเสริมงานศิลปะ เปิดช่อง ‘ทุนเทา‘ ฟอกเงินผ่านทรัพย์สินหรูหรือไม่ จี้ตรวจสอบเข้มงวด
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา นายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี พรรคประชาชน แถลงว่าจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์โบราณ โดยเห็นชอบการทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 เรื่องมาตรการส่งเสริมงานศิลปะ และรถยนต์โบราณ ตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ว่า การทบทวน มติ ครม.ครั้งนี้ เป็นการขยายขอบเขต และปรับเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจัดแสดงรถคลาสสิกมากขึ้นในประเทศ ที่สาระสำคัญในการทบทวน คือปรับเงื่อนไขทางภาษีและศุลกากร โดยการยกเลิกการกำหนดพิกัดภาษีสรรพสามิตแบบเดิมที่ผูกไว้กับประเภท (รถกระบะ) แก้ไขนิยามรถยนต์โบราณให้ครอบคลุม รถยนต์ และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อขนส่งบุคคล รวมถึงรถแข่งโบราณวัตถุที่มีอายุเกิน 100 ปี พร้อมให้สิทธิคืนภาษีเต็มจำนวน หากรถโบราณนำเข้ามาบูรณะในไทย และส่งออกภายใน 2 ปี จึงตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดให้นำเข้ารถโบราณ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษลดภาษี และยกเว้นภาษี เมื่อส่งรถออกภายใน 2 ปีนั้น เอื้อต่อผู้มีทุน ไม่ได้สร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริงในระดับประชาชน และซอฟต์พาวเวอร์ดังกล่าวคนไทยมีส่วนร่วมจริงหรือไม่ หรือกลายเป็นการให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มคนที่มีฐานะเพื่อนำรถยนต์มาใช้โชว์เป็นงานอดิเรก
นายนนท์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ควรระวังคือเรื่องการฟอกเงินผ่านการนำเข้า- บูรณะ- ส่งออกรถยนต์โบราณ ภายใต้มติ ครม. ด้วยข้อกำหนดที่ว่า หากนำเข้าบูรณะส่งออกภายใน 2 ปี จะได้รับการคืนภาษีอาจเกิดช่องทางให้กลุ่มทุนใช้รถเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน หากไม่มีระบบติดตามที่รัดกุม ก็อาจเกิดธุรกิจสีเทาที่อาศัยชื่อ “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นฉากหน้า เนื่องจากอาจมีการฟอกเงิน โดยนำเงิน 100 ล้านบาทที่มีแหล่งที่มาไม่โปร่งใส มาซื้อรถบ้านที่ตีมูลค่าได้ตามใจ โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียวจากมาตรการคืนภาษี อีกทั้งกรณีบูรณะ 2 ปี จะเป็นการบูรณะหลอกหรือจริงก็ได้ เพราะรัฐไม่มีระบบตรวจสอบคุณภาพและอาจจะส่งออกไปบริษัทตัวเองในต่างประเทศด้วยดังนั้นขอย้ำว่ามติ ครม. ฉบับนี้ กำลังถูกกลุ่มคนรวยเทาใช้เป็นช่องฟอกเงินผ่านทรัพย์สินหรูที่ตรวจสอบยากของกลุ่มทุนสีเทา ในการเปลี่ยนแปลงเม็ดเงินมืดให้กลายเป็นเงินขาว
นายนนท์ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2568 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2567 เรื่องมาตรการส่งเสริมงานศิลปะ และรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในหลักการของมาตรฐานภาษีรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่ได้มีการกำหนดประเภทของรถยนต์ และอัตราภาษีสรรพสามิต ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) ได้เสนอไปนั้น โดยในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี ทบทวนมาตราการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีการปรับปรุง เพิ่มเติมในมาตราการดังกล่าวอันเป็นสาระสำคัญ
นายนนท์ กล่าวต่อว่า โดยมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติของรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ให้ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่มีอายุเกิน 100 ปี โดยเพิ่มพิกัดอัตราศุลกากร 97.06 โบราณวัตถุที่มีอายุเกิน 100 ปี โดยกำหนดประเภทรถยนต์ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการภาษีรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ได้แก่ รถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 06.01 รถยนต์นั่งและ 06.02 รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน โดยยกเลิกการกําหนดรถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 06.03 รถยนต์กระบะ และได้กำหนดรถยนต์ตามพิกัดอัตราศุลกากร. 87.03 สำหรับรถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสําหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก รวมถึงสเตชันแวกอน และรถแข่ง (ครอบคลุมรถยนต์โบราณที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี แต่ไม่เกิน 100 ปี) และพิกัดอัตราศุลกากร 97.06 โบราณวัตถุที่มีอายุเกิน 100 ปี จากเดิมกําหนด รถยนต์ตามพิกัตอัตราศุลกากร 87.03 เฉพาะรถยนต์นั่งเท่านั้น
นายนนท์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อนุญาตให้รถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่นําเข้ามาและมีการบูรณะภายในประเทศ และส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่ได้มีการนําเข้าสําเร็จ มีสิทธิได้รับคืนภาษีสรรพสามิตเต็มจํานวนในกรณีส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายด้วย เพื่อให้การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดเต็มศักยภาพและส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
โดยสรุป สาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวคือ
1.ปรับปรุงประเภทรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการภาษีรถยนต์โบราณ ซึ่ง รถยนต์ที่สามารถเข้ามาตรการภาษีรถยนต์โบราณได้ คือ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารไม่เกิน 10 คน รถยนต์ และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก รวมถึง สเตชั่นแวกอน และรถแข่ง (รถกระบะไม่เข้าร่วมมาตรการนี้)
2.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์โบราณ แบ่งเป็น 2 พิกัดคือ กรณีรถยนต์โบราณอายุ ตั้งแต่ 30 ปี แต่ไม่เกิน 100 ปี และกรณีรถยนต์โบราณอายุเกิน 100 ปี ซึ่งถือเป็นวัตถุโบราณประเภทหนึ่ง
3.ยกเว้นอากรศุลกากรขาเข้าสำหรับรถยนต์โบราณ ต้องนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน และต้องมีเอกสารมาแสดง
4.กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับสินค้ารถยนต์โบราณ ในอัตราร้อยละ 45 ของราคาขายปลีก โดยมีเงื่อนไขเช่น มูลค่ารถไม่ต่ำกว่าสองล้านบาท และมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน
5.กรณีรถยนต์โบราณที่นำเข้าและมีการบูรณะภายในประเทศและส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้มีการนำเข้า มีสิทธิ์ได้รับเงินคืนภาษีสรรพสามิตเต็มจำนวน ในกรณีส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฏหมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี