ทุ่มอัดฉีด5แสนล.
‘ขุนคลัง’เดินหน้ากระตุ้นศก.
รับมือผลกระทบภาษีทรัมป์
เกลี่ยงบ/ปล่อยกู้ช่วยปชช.
‘เท้ง’เหน็บล้มแผนถกสหรัฐ
โยง‘อุยกูร์’จี้‘อิ๊งค์’เร่งเคลียร์
“ขุนคลัง” เล็งอัดฉีด 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นบริโภค ปลุกการลงทุน รับมือเศรษฐกิจโลกหนัก ปลัดคลัง พร้อมหาทางเกลี่ยงบ ไม่จำเป็นต้องกู้อย่างเดียว เท้ง-ผู้นำฝ่ายค้าน ผสมโรงสงสัยไทยล้มเจรจากับสหรัฐถกกำแพงภาษี เพราะปมเรื่องที่ไทยส่งอุยกูร์ไปให้จีนหรือไม่ จี้นายกฯตอบให้ชัด “ภูมิธรรม” โต้ โดนจำกัดวีซ่า ปมส่งอุยกูร์กลับจีน ไม่ได้ร่วมทีมเจรจาไทยไปสหรัฐ
เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดจีดีพีไทยปี 68 จาก 2.9% เหลือ 1.8% หลังผลกระทบจากทรัมป์ โดยมองว่าเป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งของจริงยังไม่รู้ว่าลดเท่าไร แต่ไม่น่าถึงขนาดนั้น เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการมาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยส่วนจีดีพีที่จะลดลงไป เพื่อรักษาให้เติบโตได้ในระดับเดิม
“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยจะโฟกัสไปเรื่องในประเทศ ทั้งการกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ตลอดจนเรื่องซอฟต์โลน ส่วนที่มาของแหล่งเงินจะต้องดูเพราะมีหลายทาง โดยขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
ส่วนผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะนั้น ไม่อยากให้มองเรื่องหนี้ เพราะหลายๆ ประเทศก็มีหนี้สูงกว่า แต่สิ่งสำคัญคือหากมีการใช้เงินจะนำมาใช้ทำอะไร ซึ่งถ้าสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวได้กว่าเดิมก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงได้
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าตอนนี้ฐานะการคลังไทยยังเข้มแข็ง ส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 500,000 ล้านบาทนั้น ก็ต้องดูว่าจะเข้ามาทำในส่วนไหน ซึ่งมองว่าเรื่องการกระตุ้นการบริโภคก็จะเกิดผลได้ไว แต่เรื่องการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
สำหรับแหล่งเงินที่มาตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่ เพราะสามารถทำได้จากหลายวิธี ทั้งการเกลี่ยงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ก็ต้องดู ตลอดจนสามารถนำเงินสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทาง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเดือนหน้า ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่
ส่วนการขยายเพดานหนี้เป็น 75-80% นั้นมองว่าเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะหลายประเทศก็มีหนี้สูงถึง 80% หรือ 100% ก็ยังทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือการกู้เงินมาจะมาทำอะไร รวมถึงดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืน ซึ่งหากรัฐเลือกกู้ 5 แสนล้าน ก็กระทบหนี้สาธารณะเพิ่ม 3% เศษ โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะเราอยู่ที่ 64.21%
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการเจรจาต่อรองกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกาตอนนี้ น่าจะยังมีการสื่อสารไม่ตรงกัน สรุปแล้วเป็นทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเลื่อน หรือฝั่งไทยเป็นคนเลื่อน เราจึงอยากได้การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่าการเจรจาครั้งนี้ จะล้มเหลวหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อยากจะให้ผลออกมาดีที่สุดอยู่แล้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ตัวรัฐบาลเอง หรือคณะที่ไปเจรจา จุดสำคัญที่สุดคือการพูดให้เห็นภาพตรงกัน ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิด หรือการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ถ้าจุดเริ่มต้นไม่ตรงกัน เช่น ฝั่งไทยบอกว่าสหรัฐฯ ขอเลื่อน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งอาจจะมองว่าไทยไม่ได้นัดไป จริงหรือไม่ ตนจึงมองว่าการเจรจา มีข้อสะดุด หรือไม่ราบรื่น
เมื่อถามว่า กรณีวีซาที่สหรัฐฯ แบนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการส่งชาวอุยกูร์กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีผลต่อการเจรจาหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสื่อสารมาโดยตลอด ว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“การที่สหรัฐฯ มีการแบนวีซาผู้นำไทยในระดับแกนนำรัฐบาล เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาลกระทบต่อเรื่องนี้ และเราก็แสดงความเป็นห่วงมาตลอดอยู่แล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า รัฐบาลควรแสดงความชัดเจนเรื่องนี้ให้มากขึ้น ว่าตกลงแล้วการเจรจา รวมถึงวันเจรจา เรามีความพร้อมมากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ฝ่ายค้านกังวลตอนนี้ ก็มีหลายส่วน เช่น อำนาจการต่อรองของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าต่างๆ ที่ต้องเตรียมกรอบในการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมไปถึงกรอบการร่วมมือกับประเทศร่วมค้าอื่น และการรับมือของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น การนำเข้าข้าวโพด รวมไปถึงการเยียวยาอุตสาหกรรม หรือห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ที่จะย้ายฐานการผลิต และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทยในอนาคต ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมแผนสนับสนุนทีมเจรจาฝ่ายไทย ที่จะเดินทางไปพูดคุยขอลดภาษีกับทางสหรัฐสหรัฐอเมริกา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ว่า เราได้มีการเตรียมการไปพอสมควรแล้ว ส่วนกรณีที่ฝ่ายไทยถูกสหรัฐเลื่อนเวลานั้นต้องเข้าใจว่า แม้แต่ประเทศสหรัฐยังเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา ดังนั้น ฝ่ายไทยขณะนี้เตรียมตัวให้ดีที่สุด นิ่งที่สุด เมื่อได้วันเวลาที่ชัดเจนแล้ว ก็พร้อมที่จะไปพูดคุย
ส่วนสาเหตุการเลื่อนนั้น ตนมองว่า ไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อประเทศต้นทางขอเลื่อนเราก็ไม่จำเป็นที่จะไปร้อนใจอะไร เพียงแต่เตรียมตัวให้ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันเรามีที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก รวมถึงกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะที่กองทัพเองก็มีการสำรวจ ว่า เรามีการซื้ออาวุธ จากสหรัฐเท่าไหร่ แต่ไม่ได้มีการนำไปผนวกดุลการค้า ต้องไปพูดคุยกัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเรื่องอื่นๆด้วย
เมื่อถามว่า กรณีคณะทีมเจรจาบางคนเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไม่ได้เดินทางไปด้วยมีนัยอะไรหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า มันมีเหตุและผลในตัวของมันอยู่ ใครไปหรือไม่ได้ไปก็ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เราจะมุ่งเน้นไปที่การเจรจาให้เกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด ซึ่งยอมรับว่าในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ไป แต่หากทีมเจรจาที่ไปคุย แล้วทางสหรัฐมีข้อเสนอในเรื่องของความมั่นคง ก็สามารถแจ้งมายังตน และตนพร้อมที่จะดำเนินการให้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วย
เมื่อถามว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนถูกสหรัฐจำกัดวีซ่ากรณีส่งอุยกูร์กลับจีนใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่มี ตนยังไม่ได้รับหนังสือเลยว่า สหรัฐฯห้ามเข้าประเทศในเรื่องของอุยกูร์ ไม่อยากให้จินตนาการ และไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดในที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันตนได้เตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว ส่วนจะจัดการอย่างไรก็ให้รอดูผลการปฏิบัติ แล้วค่อยวิจารณ์
เมื่อถามว่า เราจะสร้างความสมดุลระหว่างจีนและสหรัฐอย่างไร เพราะจีนประกาศมีมาตรการกับประเทศใดก็ตามที่ร่วมมือกับสหรัฐ แล้วสร้างผลกระทบกับจีน นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างสหรัฐกับจีน ในระหว่างที่ความสัมพันธ์ไทยกับจีน ก็ยังดีอยู่ ในส่วนของสหรัฐตนได้พูดคุยอยู่บ่อยครั้ง ยังยืนยันว่าเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเวที ซึ่งประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ตนจะเดินทางไปประเทศเยอรมัน พบปะกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชุม เชงกรีล่า ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งต้องพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐและจีน
“ดังนั้นการเจรจาหรือการพูดคุย ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นแล้วมากล่าวหาว่า อ่อนหัด อยากให้ดูผลของการเจรจาดีกว่า ไม่ใช่พอเห็นรูป ผู้แทนประเทศอินเดีย กับสหรัฐพูดคุยกัน แล้วมาบอกให้รัฐบาลไทยดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งเราก็ดูอยู่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแย่กับเขา ต้องให้เกียรติกัน”นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อถามว่า หากสหรัฐฯกดดัน เปลี่ยนเครื่องบินรบฝูงใหม่จาก Gripen เป็นเอฟ 16 เพื่อแลกกับการลดภาษี นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยในระยะยาว เพราะเครื่องบินเอฟ 16 มาด้วยเงื่อนไขให้เรากู้เงิน กับทางสหรัฐ
“ผมได้พูดกับทูตสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เราไม่เคยกู้เงินมาซื้ออาวุธ อยู่ดีๆจะให้เรามากู้เงินซื้ออาวุธ ท่านไม่ตายแต่ผมตาย ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขการกู้เงินนี้ ก็สามารถพูดคุยได้ เพราะเรามองว่า กำลังรบของกองทัพอากาศไทย มีอยู่หลายเฟส ส่วนที่นายกรัฐมนตรี เตรียมจะเดินทางไปประเทศสวีเดนเพื่อเซ็นสัญญาการซื้อเครื่องบิน Gripen นั้น ผมยังไม่ทราบเพราะปัจจุบันนี้ทางกองทัพอากาศยังไม่ได้ยื่นมาให้ผมเซ็นเลย ยังไม่ได้เข้าครม.” นายภูมิธรรม กล่าว
วันเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Trump tariffs threaten to pile more pain on Thailand’s rice sector ระบุว่า ชาวนาในประเทศไทยกำลังกังวลปัญหาถึง 2 เรื่อง ทั้งราคาส่งออกข้าวที่ลดลงเนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกอีกครั้ง กับมาตรการกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศใช้
โดย บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล (Banjong Tangchitwattanakul) นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การที่ข้าวโพดนำเข้าราคาถูกจำนวนมากอาจทำให้ราคาข้าวหักและรำข้าว ซึ่งสกัดได้ระหว่างการสีข้าวและนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ตกต่ำลงอีก
รายงานข่าวทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 8 เม.ย. 2568 กลุ่มเกษตรกร 4 กลุ่ม รวมทั้งโรงสีข้าว เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยขอให้ระงับการนำเข้าข้าวโพดและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้ราคาพืชผลในประเทศสำหรับอาหารสัตว์ถูกลง ขณะที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าข้อเสนอผ่อนปรนใดๆ ที่รัฐบาลให้ในการเจรจากับสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ แต่สำหรับชาวนาอย่าง Daeng การตัดสินใจที่เกิดขึ้นอีกซีกโลกอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเธอได้
“ลูกๆ ของฉันติดตามข่าวมาตลอด พวกเขาบอกฉันว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงไม่รอดหรอกแม่’” ชาวนาและหญิงชราวัย 70 ปีผู้นี้ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี