‘เผ่าภูมิ‘ ถก JP Morgan-Moody’s-S&P มั่นใจคงเรตติ้งไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ชี้พื้นฐานไทยยังแกร่ง มั่นคงสูง มาตรการรองรับกำแพงภาษีพร้อม
วันที่ 24 เมษายน 2568 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (WB-IMF Spring Meetings) ประจำปี 2568 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ได้หารือกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency: CRA) 3 สถาบัน ได้แก่ JP Morgan-Moody’s-S&P
ในการนี้นายเผ่าภูมิกล่าวว่าไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเผชิญกับภาวะการเติบโตในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะเห็นสัญญาณเชิงบวกเริ่มปรากฏในหลายภาคส่วน แต่ยังไม่เต็มศักยภาพ และขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐอเมริกายังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทางตรงในด้านการส่งออกและทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอการลงทุน รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมทั้งนโยบายทางการคลัง นโยบายทางการเงิน รวมถึงการใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐรับมือในช่วงรอยต่อ เพื่อรับมือความผันผวนดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง
ทั้งนี้ไทยยังคงรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความมั่นคง โดยธนาคารพาณิชย์มี BIS ratio อยู่ที่ 20.12% สะท้อนถึงฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นกันชนสำคัญรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ด้านการคลัง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้สาธารณะเชิงรุกและการรักษาวินัยในการชำระหนี้ แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินจนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้สาธาณะคิดเป็น 64.21% ของ GDP อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยที่ 2.82% อายุเฉลี่ย 9 ปี 2 เดือน และสัดส่วนหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศมีเพียง 0.90% ของ GDP ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต่ำ
เมื่อเทียบตัวเลขหนี้ภาครัฐบาลของไทยตามหลักสากลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะอยู่ที่ 58.50% ต่อ GDP เท่านั้น อีกทั้งไทยยังคงรักษาความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Affordability) ได้อย่างดี
ด้วยความเข้มแข็งดังกล่าว มีแนวโน้มสูงที่ไทยจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Sovereign Credit Rating) อยู่ในระดับ BBB+ ของ S&P เทียบเท่ากับ Baa1 ของ Moody’s และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี