‘ศุภณัฐ’ร้องโห! บางคนเสียหลายหลักแสน ได้เงินเยียวยา‘แผ่นดินไหว’หลักพัน ซัดคงต้องมีสภาพแบบ‘ตึก สตง.’ถึงได้เต็ม 49,500 บาท ลั่นต่ำไปไม่สอดคล้องความเป็นจริง จวกขั้นตอน-เอกสารเยอะ แถมยื่นออนไลน์ไม่ได้ งง‘บัตรประชาชน-ทะเบียนบ้าน’รัฐมีอยู่แล้ว บอกแบบฟอร์มยื่น 1 ฉบับก็พอ ไม่ต้องมากถึง 6 ชุด จ่อขอยืดระยะเวลาขอเยียวยาไปอีก 1 เดือน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีติดตามความคืบหน้าการเยียวยาประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหวว่า ตนทราบมาว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานไปสั่งการว่าให้ราคาการประเมินให้สอดคล้องกับความเสียหายจริง โดยในส่วนของ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่เราติดตาม คือในส่วนของกระบวนการก่อนการเยียวยา เช่น เรื่องที่จะต้องไปแจ้งความก่อนที่จะไปสำนักงานเขต เรื่องที่ต้องใช้เอกสารเยอะเกินไป หรือแม้กระทั่งการไม่เปิดให้มีการยื่นออนไลน์ ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกิดขึ้น
นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินทางมาประเมินสถานที่ ค่าดำเนินการต่างๆ อย่างต่ำอาจจะเป็น 1,000-2,000บาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับต่างกันไป โดยเงินที่รัฐบาลสนับสนุนมาเป็นค่าวัสดุอย่างเดียว ราคาอาจจะต่ำไปด้วยซ้ำ และค่าแรงนั้นไม่มีให้ จึงเป็นที่มาให้ตนนำเรื่องนี้เข้า กมธ.เพื่อเรียกหน่วยงานมาพูดคุยกันว่าหลักเกณฑ์เป็นเช่นไร สามารถปรับให้สอดคล้องกับความเสียหายของประชาชนได้หรือไม่
เมื่อถามว่า การปรับค่าเสียหายนั้น สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้หรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า จริงๆ ที่ตนเข้าใจคือเป็นเรื่องระเบียบ สามารถแก้ไขได้เลย รัฐมนตรีเซ็นก็ออกมาได้เลย ไม่ได้อยู่ในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้นสามารถดำเนินการได้เลย ตนก็เชียร์ให้ทำ และควรครอบคลุมค่าแรงบางส่วนด้วย ที่ควรมีเรื่องเงินเยียวยาขั้นต่ำ เพราะเรามีค่าดำเนินการก่อนที่จะได้รับเงินเยียวยาจำนวนมาก ซึ่งเงินที่เยียวยานั้น อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์
เมื่อถามว่า ค่าเยียวยาที่ตั้งไว้สูงสุด 49,500 บาท จากการสำรวจมีคนได้รับมากที่สุดเท่าไหร่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า “โห ผมเห็นบางคนเสียหายเป็นแสน แต่ได้มาไม่ถึงพัน พูดง่ายๆ คุณคงต้องมีสภาพคล้ายตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน จึงจะได้ 49,500 บาท แต่เชื่อว่าความตั้งใจที่สภาฯ ตั้งไว้ เราก็อยากให้รัฐบาลได้จ่ายจริง ในส่วนของคนที่มีความเสียหายเยอะ แต่เมื่อหลักเกณฑ์ไปออกโดยรัฐบาล ก็กลายเป็นว่าไปออกหลักเกณฑ์ที่กดราคาลงมา ทำให้สุดท้ายการจ่ายจริงอาจไม่ตรงตามเป้าประสงค์ที่สภาฯ ได้ออกไปก่อนหน้านี้”
เมื่อถามว่า ยอดตกค้างที่ยังไม่ได้ยื่นมีอีกเยอะหรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า สำหรับคนที่ยังไม่ได้ยื่น มีกรอบเวลาถึงวันที่ 27 เมษายน นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ กมธ.จะมีการพูดคุยกับหน่วยงานว่าอยากให้มีการขยายระยะเวลาที่ยื่นไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนที่อาจจะไม่ทราบข่าว สามารถยื่นได้ทัน หรือหากไม่ทันจริงๆ รัฐบาลก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์หรือไม่ แต่หากเร่งประชาสัมพันธ์ ก็จะขัดกันตรงที่ว่าเงินที่ประชาชนได้รับการเยียวยาในขณะนี้ไม่ตอบโจทย์ อาจจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจ จากที่เห็นหลายคนรีวิวว่าได้เพียง 700 กว่าบาท ก็อาจจะเปลี่ยนใจไม่ยื่นแล้ว ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจว่าสามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ทันหรือไม่ในช่วงระยะเวลาเดดไลน์ หรือหากจะปรับเปลี่ยนหลังจากนี้ สามารถมีผลย้อนหลังได้หรือไม่
เมื่อถามว่า การจ่ายเงินเยียวยาอาจจะไม่ทันกรอบ 3 เดือน มีข้อเสนอแนะใดหรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า ความโชคร้ายอย่างหนึ่งคือต้องให้เจ้าหน้าที่โยธาไปดูแต่ละบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้กว่าจะสามารถนัดกันได้ เวลาไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งตนคิดว่าหากดูในภาพรวมแล้ว ความเสียหายไม่ได้เยอะ อาจจะให้ส่งแค่คลิปวิดีโอไปได้หรือไม่ เพราะหลายคนซ่อมเรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ดูจากวิดีโอที่ส่งไปว่าใช่หลังเดียวกันหรือไม่ โดยหากอัดคลิปดีๆ ตั้งแต่หน้าห้อง ให้เห็นเลขห้องในกรณีที่ความเสียหายไม่เยอะ เจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ที่หน้างานได้ ก็จะทำให้สามารถลดระยะเวลาการไปพิสูจน์ความเสียหายของเจ้าหน้าที่ได้ เช่น เขตจตุจักร คนยื่นเยอะมากประมาณ 5,000 เคส ซึ่งหากไม่ใช้คนอื่นเข้ามาช่วย จะได้รับการพิจารณานาน แต่ในบางเขต เช่น เขตบางเขน มีเคสแค่ไม่กี่ร้อย การพิจารณาก็ทัน
เมื่อถามว่า นอกจากในส่วนของ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจแล้ว คณะกรรมการชุดใหญ่ที่พรรคปชน.ตั้งมาจะดำเนินการอะไรหรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า เรามีการติดตามและเรียกร้องไปตามสื่อมวลชน และอีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องมีการทำหนังสือยื่นไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งตนได้ยื่นไปแล้ว เนื่องจากได้รับมอบหมายจากพรรคให้ดูแลเรื่องเงินเยียวยาโดยตรง
เมื่อถามถึง กรณีที่มีการเปิดเผยเรื่องแปลนตึก สตง.ก่อนหน้านี้ ความคืบหน้าในการตรวจสอบเป็นอย่างไรบ้าง นายศุภณัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. เป็นคนตรวจสอบ ไปหาใครมีข้อมูลอะไรก็ส่งไป เพราะเรามีคณะทำงานร่วมกัน
เมื่อถามว่า มองการทำงานหน้างานในการกู้ซากตึก สตง. เป็นอย่างไร นายศุภณัฐ กล่าวว่า ก็โอเค ผู้ว่าฯ กทม.ก็ทำงานได้ดี เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อน ถือเป็นงานยาก โดยที่เจ้าหน้าที่ต่างชาติที่เข้ามาช่วยก็บอกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่อาคารทั้งหลังและมีขนาดใหญ่เช่นนี้จะร่วงลงมาทั้งหมด
ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่าเศษปูนที่ถล่มลงมา เมื่อโดนฝนแล้วทำให้เกาะตัวกันมากขึ้น แล้วรื้อถอนได้ยาก มีข้อกังวลหรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่หน้างานเป็นคนดู แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อกังวลคือการสืบหาข้อเท็จจริง เพราะบางอย่างอาจต้องใช้หลักฐานอยู่หน้างาน เพราะหากไม่มีการแบ่งหน้าที่กันที่ชัดเจน สุดท้ายหลักฐานบางอย่างอาจได้รับผลกระทบ
เมื่อถามว่า จุดประสงค์ของ กมธ.คือต้องการให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนโดยเร็วใช่หรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า โดยเร็วด้วย และสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และรอบหน้าควรมีการยื่นออนไลน์ได้แล้ว แม้ครั้งนี้เราอาจจะพลาดไป แต่ขอพลาดเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเอกสารบางอย่าง รัฐก็มีอยู่แล้ว
“อย่างบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านหน่วยงานรัฐต้องมีอยู่แล้ว โฉนดที่ดิน ก็มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนเตรียมใหม่ แค่ให้ส่งภาพความเสียหาย ซึ่งแบบฟอร์มไม่ควรมี 6 แบบฟอร์มแต่ควรมีแค่ 1 แบบฟอร์ม ไม่เช่นนั้นค่าดำเนินการก็จะสูงเกินไป” นายศุภณัฐ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี