นักกฎหมายมหาชน เผยปม"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค"เข้าข่ายมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีส่อขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังมีการร้องป.ป.ช. กรณียังมีชื่อเป็นกรรมการในบริษัทเอกชน แม้จะมีการโอนหุ้นไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินแทนแล้วก็ตาม โดยอาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนว่าด้วยผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ พร้อมชี้ช่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
วันที่ 26 เมษายน 2568 สืบเนื่องจากนายสนธิญา สวัสดี ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพลังงาน ส่อขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 กรณียังมีชื่อเป็นกรรมการในบริษัทเอกชน แม้จะมีการโอนหุ้นไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินแทนแล้วก็ตาม โดยอาจถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนว่าด้วยผลประโยชน์ขัดกัน
ล่าสุด ดร.ณัฏฐ์ ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ความเห็นความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน อันเป็นประโยชน์สาธารณะในประเด็นดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเป็นคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นเจ้าของหรือถือครองหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ในมาตรา 98(3) และห้ามรัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนและบริษัท รวมถึงห้ามเป็นลูกจ้างอีกด้วย โดยบัญญัติห้ามไว้ในมาตรา 187
แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้รัฐมนตรีจะต้องแจ้งให้ ประธาน ป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และจะต้องโอนหุ้นให้นิติบุคคลแก่นิติบุคคลไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นภายใน 90 วัน และจะต้องแจ้งให้ ปปช.ทราบภายใน 10 วัน ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 โดยกฎหมายกำหนดหุ้นขั้นต่ำ ที่รัฐมนตรีถือไว้ได้ ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
แตกต่างกรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติห้ามผู้สมัคร สส. หรือ สว.จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามไว้ในมาตรา 98(3) และ พรป.สส. หรือ พรป.สว.ต้องไม่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามก่อนยื่นใบสมัคร แต่รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม รวมถึงรัฐมนตรีในมาตรา 160(6) เช่นกัน
ประเด็นของนายพีระพันธุ์ มีการโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของคนอื่นหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า นายพีระพันธุ์ยังถือครองหุ้นทั้ง 4 บริษัท เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เด็ดขาดจะต้องโอน หมายความว่า กรรมสิทธิ์ในหุ้นจะต้องโอนด้วย แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ทำสัญญาให้บริษัทอื่นบริหารจัดการก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญห้ามเด็ดขาด รัฐมนตรีจะเข้าไปเกี่ยวข้องการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 187 วรรคสาม
ทั้งนี้ ยังพบข้อเท็จจริงที่ปราฎอันแพร่หลายของนายทะเบียน กรมพัฒนาธุกิจการค้า พบว่า นายพีระพันธุ์ รัฐมนตรี มีการถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชน ปรากฏชื่อของ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในปัจจุบัน เป็นผู้มีอำนาจลงนาม หรือเป็นกรรมการบริษัท โดยในส่วนของ นายพีระพันธุ์ ถือครองหุ้นใน 4 บริษัท ตามเอกสารที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินที่ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูล ได้แก่
1.บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 588,500 หุ้น (คิดเป็น 73.58%) บริษัทนี้ มีกรรมการ 3 คน ได้แก่ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด นายสยาม บางกุลธรรม และร้อยเอกพีระภัฏ บุญเจริญ
2.บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 46,500 หุ้น (คิดเป็น 93%) มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ น.ส.กนกวรรณ ลิ้มสุวรรณ และพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด
3.บริษัท รพีโสภาค จำกัด บริษัทนี้ นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 22,000 หุ้น (คิดเป็น 73.33%) บริษัทนี้มีกรรมการ 2 คน ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค และ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค
และ4.บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นอยู่ 1,000 หุ้น (คิดเป็น 10%) โดยบริษัทนี้มีกรรมการ 1 คน ได้แก่ น.ส.ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
ดร.ณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญเปิดช่อง ให้การถือหุ้นของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น สามารถโอนหุ้นไปให้บริษัทดูแลบริหารจัดการแทนได้ กรณีของนายพีระพันธุ์ ทำสัญญาโอนหุ้นไปให้ บมจ.เอ็มเอฟซี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 แต่จากการตรวจสอบยังพบว่า ในปัจจุบันนายพีระพันธุ์ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามอยู่ในบริษัท รพีโสภาค จำกัด ที่ตนเองเคยถือหุ้นอยู่กว่า 73.33% จากข้อมูลทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุชัดเจนว่านายพีระพันธุ์เป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2556 จนถึงปัจจุบัน โดยแม้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการลาออกแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ยังเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทที่ตนเองถือหุ้นอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทวีพี แอโร่เทค จำกัด บริษัท โสภา คอนเล็คชั่น ก่อนที่จะลาออกไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่านายพีระพันธุ์เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2566 หรือประมาณ 1 ปีก่อนที่จะมีการแจ้งลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัททั้ง 2 แห่ง จึงเป็นกรณีสงสัยอย่างยิ่งในการเข้าสู่ตำแหน่งและดำรงตำแหน่งของนายพีระพันธุ์ฯ เข้าข่ายขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ และคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ครั้งที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่
"การที่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง มีพฤติกรรมที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแบบนี้ ย่อมไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวของรัฐมนตรีเท่านั้น แต่จะมีปัญหาในการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กระทบไปถึงสถานะการดำรงตำแหน่งของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เสนอทูลเกล้าฯ อีกด้วย อีกทั้ง อาจมีผล ลุกลามกระทบต่อสถานะ กก.บห.พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นายพีระพันธุ์ฯดำรงตำแหน่ง เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองอีกด้วยหรือไม่"ดร.ณัฏฐ์ระบุ
ส่วนที่ถามว่า กรณีมีข้อสงสัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายพีระพันธุ์ฯสิ้นสุดลงหรือไม่ สามารถดำเนินการตรวจสอบช่องใดได้บ้างนั้น ดร.ณัฏฐ์ กล่าวว่า โดยหลัก รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ตรวจสอบได้ ทั้ง สส. สว. กกต.หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากช่องทาง ล่ารายชื่อ สส.หรือ สว.ค่อนข้างรวดเร็วที่สุด เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 วรรคสาม ประชาชนสามารถยื่นคำร้องของให้ กกต.ตรวจสอบได้
ส่วนสมาชิกรัฐสภา โดย สส.หรือ สว. จำนวนหนึ่งในสิบของสมาชิกแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกสภาแห่งนั้น เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เหมือนที่ สว.สีน้ำเงิน ร้องตรวจสอบต่อประธานวุฒิสภา ปมใช้อำนาจแทรกแซงของนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกและ รมว.กลาโหม และนายทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หากมีความสงสัยว่าคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ประชาชนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เว้นแต่ตามมาตรา 213 ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ซึ่งอีกช่องทางหนึ่ง หากสงสัยในคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231(1) ทั้งนี้ ต้องร้องขอให้ ปปช.ตรวจสอบ การขัดกันว่าด้วยผลประโยชน์เพื่อตรวจสอบ ตามมาตรา 235 วรรคหนึ่ง(1) กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอีกช่องทางหนึ่งได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี