อึ้ง! ข่าว‘พีชบีเอ็ม’ช่วยคนรู้มีเลือกตั้ง‘เทศบาล’ โพลฟันเปรี้ยง‘บ้านใหญ่’ได้เปรียบ
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เรื่อง “การเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,137 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2568 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ประชาชนรู้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) และนายกเทศมนตรี ในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568
อันดับ 1 รู้ 91.29%
จากข่าวในสื่อต่าง ๆ เช่น ข่าวลูกพีช การหาเสียงในพื้นที่ โปสเตอร์ TikTok ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่รู้ 8.71%
เพราะไม่ได้ติดตาม ไม่ค่อยสนใจการเมือง ไม่ไปเลือกตั้ง ฯลฯ
2. ประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 หรือไม่
อันดับ 1 ไป 65.44%
อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 21.72%
อันดับ 3 ไม่ไป 12.84%
3. ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องที่มากน้อยเพียงใด
อันดับ 1 ค่อนข้างสำคัญ 53.39%
อันดับ 2 สำคัญมาก 28.94%
อันดับ 3 ไม่ค่อยสำคัญ 12.05%
อันดับ 4 ไม่สำคัญ 5.62%
4. ประชาชนคิดว่าผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสนับสนุน จะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด
อันดับ 1 ค่อนข้างได้เปรียบ 52.59%
อันดับ 2 ได้เปรียบมาก 34.56%
อันดับ 3 ไม่ค่อยได้เปรียบ 8.97%
อันดับ 4 ไม่ได้เปรียบ 3.88%
5. ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง
อันดับ 1 มีการใช้เงินจำนวนมากในการหาเสียง/ซื้อเสียงเหมือนกัน 48.02%
อันดับ 2 การใช้ฐานเสียงร่วมกัน 47.05%
อันดับ 3 เกี่ยวข้องกับผู้มีบารมี/อิทธิพล บ้านใหญ่ในพื้นที่ 46.61%
6. หลังการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง
อันดับ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และถนนหนทางในชุมชน 52.15%
อันดับ 2 เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ 48.11%
อันดับ 3 แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาฝุ่น น้ำท่วม 46.53%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สร้างความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น คือ เงินทุนในการหาเสียงและอิทธิพลของ “บ้านใหญ่”ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุน โดยสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ว่าใครจะได้รับเลือก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ปากท้อง และค่าครองชีพที่ประชาชนอยากเห็นผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ดร.มุทิตา มากวิจิตร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายปกครองและการบริหารงานภาครัฐ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบและให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรีเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นได้ ซึ่งจุดสำคัญที่เป็นข้อท้าทายภายหลังการเลือกตั้ง ก็คือ สมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วจะต้องแสดงศักยภาพโดยการทำงานเชิงรุก
พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ การซ่อมบำรุงถนนหนทางในชุมชน รวมทั้งควรเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น อุทกภัย ฝุ่น PM 2.5 และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียม ตลอดจนควรส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นโดยการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี