‘พิธา’ร่ายยาวหาก 2 ปีก่อน‘ก้าวไกล’เป็นรัฐบาล ‘4 เสาหลัก’จะเป็น‘วาระสำคัญ’ของไทย
29 เมษายน 2568 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า..
รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเยือน Pacitan บ้านเกิดของ ดร.สุซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (SBY) อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ด้วยภาวะผู้นำที่มั่นคง รอบคอบ และตั้งมั่นในหลักประชาธิปไตยที่ยังเป็น แรงบันดาลใจในระดับอาเซียน
ในฐานะนักการศึกษา (Visiting Fellow)ผมมีความสนใจและอยากกลับมาอินโดนีเซียอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และทบทวนบทเรียนร่วมกัน ในช่วงเวลาที่ภูมิภาคของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายรอบใหม่
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ (Management Consulting) ผมเคยมีโอกาสร่วมงานกับรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ และธนาคารในอินโดนีเซีย ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้ได้เห็นรากฐานสำคัญที่หล่อหลอมประเทศแห่งนี้อยู่บ้างในอดีต
ผมได้พบกับท่าน SBY ครั้งแรกเมื่อปี 2009–2010 ขณะเป็นนักศึกษาที่ Harvard Kennedy School และได้ฟังบรรยายของท่านเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย
ต่อมาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยายที่ Stanford University และที่นั่นเองที่ได้พบกับ คุณกีตา วิริยาวัน อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลของท่านอดีตประธานาธิบดี ซึ่งนำไปสู่การพบปะและการสนทนาในวันนี้
เราร่วมกันแลกเปลี่ยนบทเรียนสำคัญ 4 ประการที่เปลี่ยนโฉมอินโดนีเซีย:
• Reformasi: การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังยุคอำนาจเบ็ดเสร็จ
• Dwifungsi: หรือ dual function คือการปฏิรูปบทบาทของกองทัพให้อยู่ภายใต้ระบอบพลเรือน หยุดบทบาทหลากหลายของกองทัพให้เป็นมืออาชีพและออกห่างจากการเมือง
• Decentralisasi: การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยฐานราก
• Masa Keemasan: “ยุคทอง” ที่อินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจเติบโต และมีบทบาทระดับโลกที่เข้มแข็งขึ้น
แน่นอนว่าบริบทและช่วงเวลาของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน แต่หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เสาหลักทั้งสี่เหล่านี้ — การปฏิรูปสถาบันการเมือง, การปรับสมดุลพลเรือนกับกองทัพ, การกระจายอำนาจ และการสร้าง ประเทศที่มีเสถียรภาพและความหวัง — ก็คงเป็นวาระสำคัญของไทยเช่นเดียวกัน
ในช่วงเวลาที่บทบาทของอาเซียนกำลังถูกทดสอบจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ การเดินทางครั้งนี้จึงมีความหมายเป็นพิเศษ
โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ การเมืองเชิงอำนาจ (power-based diplomacy) กำลังเบียดบัง การทูตบนกฎกติกา (rule-based diplomacy) — เมื่อฝ่ายเดียวมาก่อนพหุภาคี การแข่งขันมาก่อนความร่วมมือ และชาตินิยมมาก่อนการพึ่งพาอาศัยกัน การสร้างภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนหลักการจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น
พรุ่งนี้ ผมจะได้พบกับกับ ดร.มาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งยืนหยัดขับเคลื่อน ความเป็นกลางเชิงรุก การสร้างพหุภาคี และ การเสริมสร้างบทบาทอาเซียน — เสียงที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนจากการทูตบนกฎกติกาไปสู่การเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี