วันนี้ 29 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. .... (ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ) และ 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. .... (โดยยังมิได้ระบุวันที่ปิดประชุม) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้เป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 122 วรรคสามและวรรคสี่ ในข้อ 4.1.1 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ซึ่งเป็นไปตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 มีนาคม 2568) เห็นชอบในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ในวันที่ 28 - 30 พฤษภาคม 2568 ประกอบกับระยะเวลาดังกล่าวอยู่นอกสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง (เริ่มวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 - 30 ตุลาคม 2568) รวมถึงอาจมีเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอันเป็น อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาซึ่งมีความจำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 สำหรับวันปิดประชุมในร่างพระราชกฤษฎีกา ตามข้อ 2. ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรรับไปพิจารณา แล้วแจ้งผลให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบโดยด่วน ก่อนนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อไป ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีการวม 2 ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามรูปแบบของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) แล้ว
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว โดยการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ที่มีแนวทางการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ที่รัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยเร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ในขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
2. ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดหลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ซึ่งได้ยกเลิกเงื่อนไขขนาดถังน้ำมัน (Fuel Tank) และให้คงพิจารณาเฉพาะระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้งเท่านั้น (เดิมกำหนดให้รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ที่มีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 5 ที่มีระยะการวิ่งด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และมีขนาดถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร และรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV ที่มีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 ที่มีระยะการวิ่งด้วยไฟฟ้าต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง หรือมีขนาดถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร) โดยยังคงจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าร้อยละ 5 และร้อยละ 10 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป เนื่องจากรถยนต์ประเภท PHEV มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าให้ไกลกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องอัดประจุไฟฟ้าหรือเติมน้ำมันในระหว่างการเดินทาง ประกอบกับในต่างประเทศไม่มีการกำหนดเงื่อนไขขนาดถังน้ำมันของรถยนต์ประเภท PHEV ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประเภท PHEV ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ PHEV ในระดับสากล และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้เปลี่ยนผ่านและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ตามเป้าหมายของรัฐบาลตามข้อ 1.
3. การปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้เนื่องจากเป็นการปรับปรุงเงื่อนไขอัตราภาษีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท PHEV เท่านั้น มิได้เป็นการปรับลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษีและฐานภาษียังคงอยู่ในระดับเดิม จึงไม่กระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้ารถยนต์ที่ยังคงจัดเก็บในอัตราภาษีตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้ว เห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
เศรษฐกิจ-สังคม
3. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ) ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช1 จำนวน 5 แห่ง ในลักษณะโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของความพิการระยะยาวและความจำเสื่อมจากการคำนวณดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะ2 พบว่าภาวะโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ใน 3 อันดับแรกของดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะของคนไทย และจากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในปี 2560-2565 พบว่า มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นจาก 278.49 ต่อแสนประชากร อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี 2560 เป็น 330.72 ต่อแสนประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี 2565 ประกอบกับสถิติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2566 พบว่า มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย และจากรายงานกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 ราย ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน พบว่า ได้รับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลด้วยอาการพิการถึงร้อยละ 70 และเสียชีวิตร้อยละ 5 ดังนั้น การพัฒนาระบบทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาโดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดหรือใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันได้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อลดความพิการ จึงมีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา รวมถึงการขาดแคลนประสาทแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ที่เชื่อมต่อระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรซึ่งเป็นรถพยาบาลที่ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ระบบปรึกษาทางไกลและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อช่วยวางแผนการรักษาก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลและวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเชื่อมต่อระบบปรึกษาทางไกลจากประสาทแพทย์ และมีการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยโครงการนำร่องดังกล่าวเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) พบว่า มีผู้รับบริการแล้วกว่า 2,200 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด จากทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการรักษาได้ร้อยละ 50 เพิ่มโอกาสการได้รับยาสลายลิ่มเลือดและหรือการเปิดหลอดเลือดด้วยสายสวนสูงถึง 3 เท่า และผู้ป่วยหายจากความพิการสูงถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษารูปแบบเดิม (กลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาด้วยรถฉุกเฉินทั่วไปหรือมาด้วยตนเอง) ดังนั้น การรักษารูปแบบรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่สามารถลดความสูญเสียต่อผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงลดภาระในการดูแลผู้ป่วยพิการได้ในระยะยาว
2. เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สธ. อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลนิธิสมเด็จพระยุพราช และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนการให้บริการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตรอดจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรืออัมพาตได้ทันเวลา และเพิ่มโอกาสในการหายจากความพิการได้
3. อว. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 5 แห่ง (จังหวัดหนองคาย สกลนคร อุบลราชธานี สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี) (5 คัน) ในลักษณะโครงการนำร่องกรอบวงเงินงบประมาณ 172.50 ล้านบาท [ส่วนที่เหลือจะของบประมาณเพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อีกจำนวน 16 แห่ง (16 คัน) กรอบวงเงินงบประมาณ 552.00 ล้านบาท รวมทั้งโครงการ 21 แห่ง (คัน) ทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 5 แห่ง ในลักษณะโครงการนำร่องและให้มีการติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าวก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
4. เรื่อง รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประจำปี 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของ ท.ท.ช. ประจำปี 2567 สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว ประจำปี 2567 |
|
สถานการณ์ท่องเที่ยวโลก ปี 2567 |
การท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) รายงานว่า (1) สถานการณ์การท่องเที่ยวของโลกในปี 2567 ฟื้นตัวประมาณร้อยละ 99 ของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2562 โดยมีนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1,400 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2566 (2) ปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ ความต้องการเดินท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับสูง การเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศ และการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (3) ภูมิภาคที่การท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ดีที่สุด คือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคอเมริกา และภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตามลำดับ ทั้งนี้ UN Tourism คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยว ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นร้อยละ 3-5 ในปี 2568 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 อย่างไร ก็ตาม จากความท้าทายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อระดับของดัชนีความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของสหประชาชาติ (UN Tourism Confidence Index) |
สถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทย ปี 2567 |
ในปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีรายได้รวม 2.75 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.64 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทย 1.11 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ (1) สถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยสะสม จำนวน 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.27 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1.1) จีน 6,733,162 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.22 (1.2) มาเลเซีย 4,952,078 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.04 (1.3) อินเดีย 2,129,149 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.74 (1.4) เกาหลีใต้ 1,868,945 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.58 (1.5) รัสเซีย 1,745,327 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.72 ทั้งนี้ ในปี 2567 มีรายได้สะสมคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 1.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.13 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับของปีที่ผ่านมา
|
|
(2) สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ - นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 200 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 เมื่อเปรียบเทียบกับช่างเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา - จังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ตามลำดับ - รายได้สะสมคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา |
คาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยว ประจำปี 2568 |
|
คาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยว |
ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ (1) ความท้ายด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและค่าที่พักที่ปรับตัวสูงขึ้น (2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจในตลาดท่องเที่ยวหลักบางแห่ง เช่น ตลาดจีน (3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (5) การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดท่องเที่ยวโลก ทั้งนี้ ในกรณี Best Case คาดว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ของรัฐบาล เท่ากับ 3.0 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.85 ล้านล้านบาท และรายได้จากไทยเที่ยวไทย 1.15 ล้านล้านบาท |
ปัจจัยสนับสนุน |
มาตรการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางของรัฐบาล เช่น การขยายระยะเวลามาตรการวีซ่าฟรีของรัฐบาล การยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซียและลาวที่เดินทางผ่านแดนทางบก การสร้างความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ การเร่งเจรจาสิทธิการบินเพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้สอดคล้องกับเป้าหมายการตลาด และการเร่งขจัดอุปสรรคอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว |
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
แนวทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว |
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2567 การส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการสนับสนุน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย สรุปได้ ดังนี้ (1) การส่งเสริมธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาและการจัดนิทรรศการโดยจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการจัดกิจกรรม ประชุม สัมมนา อีเวนต์ขนาดใหญ่ การอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE [คณะรัฐมนตรีใต้มีมติ (4 มิถุนายน 2567) เห็นชอบมาตรการการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทย] (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองท่าเรือสำราญแบบจอดทอดสมอ การปรับปรุงระเบียบพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญ การปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเรือยอร์ช การส่งเสริมและพัฒนามาริน่าชุมชนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในแม่น้ำลำคลอง การพัฒนาเมืองท่าเรือสำราญต้นทางและท่าเรือแวะพัก และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือยอร์ช (กก. ได้ผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ในหลายประเด็น เช่น การพัฒนาท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับการดูแลความปลอดภัยและการบริหารจัดการด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวระหว่างการล่องเรือ การพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวเรือสำราญ และการแสวงหาความร่วมมือกับสายการเดินเรือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญระดับภูมิภาคในระยะยาว อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวเรือสำราญทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคต่อไป) (3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (แหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน) โดยจะพัฒนาเส้นทางน้ำพุร้อนเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น ๆ การพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อน การส่งเสริมการตลาดและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและระหว่างประเทศ การยกระดับโครงสร้างและระบบบริการแหล่งน้ำพุร้อนให้เป็นเมืองสปา (Spa Town) (กรมการท่องเที่ยวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวน้ำพุร้อนระหว่างกรมการท่องเที่ยวและจังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวน้ำพุร้อนและสปา รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าร่วมกัน) (4) การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยจะส่งเสริมให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศจากทั่วโลกเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการถ่ายทำภาพยนตร์ การจัดตั้งกองทุนภาพยนตร์ต่างประเทศ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการเป็นศูนย์กลางการให้บริการเครือข่ายธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ครบวงจร (Hub of Film Linkage Business) [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 สิงหาคม 2567) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย วงเงิน 344,652,887.84 บาท ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการชำระคืนแก่บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 ธันวาคม 2567) เห็นชอบการทบทวนทวนเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จากเดิมร้อยละ 15-20 เป็นร้อยละ 15-30 รวมทั้งยกเว้นการจำกัดวงเงินคืนต่อเรื่องเพื่อสอดรับการแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่และมีเงินทุนสูง] (5) การส่งเสริมการจัดงานมหกรรมระดับนานาชาติ (World Events/Festival) โดยจะเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศและเจรจาสิทธิงานมหกรรมระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง การอำนวยความสะดวกและปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบในการจัดงานมหกรรมระดับนานาชาติ การสนับสนุนและพัฒนางานเทศกาลมหกรรมในประเทศนานาชาติที่มีศักยภาพและการประมูลสิทธิการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมนานาชาติระดับโลก |
การส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม |
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2567 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การส่งเสริมพันธมิตรสายการบินภายใต้กลยุทธ์ Airline Focus เพื่อขยายจำนวนเที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทย เพิ่มเส้นทางการบินใหม่ ๆ เพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีการบริการเที่ยวบินตรงมายังประเทศไทย รวมทั้ง การกระตุ้นการเดินทางในช่วงต่าง ๆ ทั้งฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Green Season) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกการเดินทางของนักท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน หรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินหกสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567]
|
การจัดทำแคมเปญ Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025
|
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือการจัดทำแคมเปญ Amazing Thailand Grand Tourism & Sports Year 2025 เพื่อกำหนดให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกด้วยการสร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวผ่านอีเวนต์และสิทธิประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว เช่น Grand Festivity จะเป็นการจัดกรรมใหญ่ตลอดทั้งปีเพื่อเป็นจุดขายหลักในการดึงดูดนักท่องเที่ยวควบคู่กับการอำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง Grand Moment จะนำเสมอเส้นทางท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ในรูปแบบใหม่และมีความพิเศษ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องขับเคลื่อนผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก |
2.2 การกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
||||||
แนวทางการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยว
|
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน 4 สาขา คือ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจนำเที่ยวและ มัคคุเทศก์ โดยเร่งรัดกลไก การแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อาทิ การฝึกอบรมวิชาชีพและปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตการจ้างแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มค่าตอบแทน การจ้างงานผู้สูงอายุในพื้นพื้นที่ขาดแคลน รวมทั้ง การจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมต่อไป |
||||||
แผนปฏิบัติการ พัฒนาการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนา การท่องเที่ยว อารยธรรมล้านนา |
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับปรับปรุง เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายในเขตดังกล่าวให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) และบทสถานการณ์การท่องเที่ยวที่มีพลวัตสูง รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบูรณาการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ |
||||||
การแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการ นโยบายการท่องเที่ยว แห่งชาติ ประจำปี 2567
|
|
||||||
การแต่งตั้งคณะกรรมการ พัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนา การท่องเที่ยว
|
ท.ท.ช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบองค์ประกอบคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว จำนวน 15 เขต และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว จำนวน 15 เขต เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 |
5. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (แม่น้ำปิง และแม่น้ำกก) ระยะเร่งด่วน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 355,334,100 บาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทย ต่อไป ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงบประมาณมีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแจ้งให้ทราบว่า สำนักงบประมาณได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (แม่น้ำปิง และแม่น้ำกก) ระยะเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย วงเงิน 183,480,000 บาท และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (แม่น้ำปิง และแม่น้ำกก) ระยะเร่งด่วน (เพิ่มเติม) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย วงเงิน 171,854,100 บาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 355,334,100 บาท โดยเบิกจ่ายในงบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วขอให้กระทรวงกลาโหมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอทำความตกลงกับ สำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (แม่น้ำปิง และแม่น้ำกก) ระยะเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ของกองบัญชาการกองทัพไทย วงเงินรวมทั้งสิ้น 355,334,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (แม่น้ำปิง และแม่น้ำกก) ระยะเร่งด่วน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย
6. เรื่อง การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast)
คณะรัฐมนตรีรับทราบการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เร่งรัดดำเนินการเพื่อนำระบบแจ้งเตือนภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) มาใช้โดยเร็ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ดำเนินโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัย โดยใช้ระบบการส่งข้อความเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี Cell Broadcast ให้แก่ประชาชนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน ตรงตามพื้นที่เป้าหมาย ในการนี้ ได้มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เป็นอย่างดี
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เห็นชอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ทำการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยแบ่งระดับการทดสอบเป็น 3 ระดับ ใน 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ทำการทดสอบในวันที่ 2 7 และ 13 พฤษภาคม 2568 มีรายละเอียดแผนการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ดังนี้
กิจกรรม |
วัน เดือน ปี เวลา |
สถานที่ พื้นที่ |
กระบวนการทดสอบ |
ทดสอบระดับเล็ก |
วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. |
1. ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย 2. ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 3. ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 4. ศาลากลางจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา 5. อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A อาคาร B |
- ทดสอบการส่ง Cell Broadcast ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
- ทดสอบการส่งแจ้งเตือนชนิดเหตุการณ์ National Alert จำนวน 1 ครั้ง - ระยะเวลาแสดงผล 10 นาที
- Sender Name: DDPM
- ข้อความที่ส่งถึงประชาชน: ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก
This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required. |
ประชุมเตรียมการทดสอบระดับกลาง |
วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. |
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย |
|
ทดสอบระดับกลาง |
วันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. |
1. อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง 2. อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา 3. อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ 4. อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5. เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร |
|
ประชุมเตรียมการทดสอบระดับใหญ่ |
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. |
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย |
|
ทดสอบระดับใหญ่ |
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. |
1. จังหวัดเชียงใหม่ 2. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3. จังหวัดอุดรธานี 4. จังหวัดนครศรีธรรมราช 5. กรุงเทพมหานคร |
|
ประชุมเตรียมการทดสอบทั่วประเทศ |
วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. |
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย |
4. กระทรวงมหาดไทย ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การทดสอบระบบดังกล่าวไปยังส่วนราชการ ภาครัฐ และประชาชนเพื่อป้องกันการตื่นตระหนก โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสถานที่ซึ่งมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาทิ สถานพยาบาล ทางพิเศษ ระบบขนส่งสาธารณะ และสถานที่สำคัญอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการทดสอบ อาทิ กลุ่มผู้สูงวัยและผู้ป่วยโรคหัวใจ
5. ประโยชน์และผลกระทบ
การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) จะทำให้ทราบศักยภาพ และข้อจำกัดของการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ซึ่งจะนำผลการทดสอบไปปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ จะทำให้ประชาชนได้รู้จักคุ้นเคยกับรูปแบบและเสียงของการแจ้งเตือนผ่านระบบดังกล่าว
7. เรื่อง ผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 และวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 และวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568
2. เห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ตามข้อ 3.1 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อม ความคุ้มค่าของโครงการและความเหมาะสมของวงเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
3. เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ตามข้อ 3.3 จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการโดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ
4. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ตามข้อ 3.2 ในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
5. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติที่ประชุมในข้อ 3.4 ไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
6. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 - 5 รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อไป
สาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ จังหวัดนครพนม และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) ระหว่างวันที่ 28 - 29 เมษายน 2568 และมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณเป็นฝ่ายเลขานุการจัดการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครพนม
2. ในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 28 เมษายน 2568 สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทยได้ประสานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและภาคเอกชนในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่เป็นความต้องการของพื้นที่ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 8 - 9 เมษายน 2568 สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ประชุมหารือเพื่อพิจารณาโครงการตามความต้องการของพื้นที่ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที
3. สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณได้จัดการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธานการประชุมฯ และมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนสถาบันภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) เข้าร่วมประชุมฯ โดยข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สรุปได้ ดังนี้
3.1 ข้อเสนอโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท ดังนี้ (1) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำโขงเหนือเมืองนครพนมและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ระยะที่ 1 วงเงิน 50,000,000 บาท (2) โครงการสกลจังชั่นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วงเงิน 50,000,000 บาท (3) โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีวิทยาและไดโนเสาร์ “Geo Park Center at Tha Uthen” วงเงิน 50,000,000 บาท และ (4) โครงการยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่การเชื่อมโยงระดับนานาชาติ วงเงิน 50,000,000 บาท
มติที่ประชุม : เห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อมความคุ้มค่าของโครงการและความเหมาะสมของวงเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
3.2 ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 26 โครงการ ดังนี้
(1) ข้อเสนอการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ จำนวน 2 เรื่อง 2 โครงการ ดังนี้
1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาและยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สู่การเป็นเมืองมหานครแห่งพฤกษเวชเพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงเชิงสุขภาพ
2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษานานาชาติ
(2) ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดสกลนคร จำนวน 2 เรื่อง 4 โครงการ ดังนี้
1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการงานปรับปรุงผิวแอสฟัลต์ ติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง บนทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2339 ตอน ศรีวิชา - กวนบุ่น ระหว่าง กม. 8+000 - กม. 35+500 เป็นช่วง ๆ ทางหลวงหมายเลข 2347 ตอน ธาตุนาเวง - สกลนคร ระหว่าง กม. 2+300 - กม. 5+200
2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการยกระดับโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนครหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท และเครือข่ายสู่ความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วย NCDs ด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (2) โครงการก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์พุทธอุทยานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ (3) โครงการศูนย์การเรียนรู้การผลิตโคขุนโพนยางคำแบบครบวงจร
(3) ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดนครพนม จำนวน 2 เรื่อง 16 โครงการ ดังนี้
1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการสร้างอัตลักษณ์เมือง (DNA) และ Marketing ภายใต้ 5 Must (Visit, Eat, Shop, Mu, Rest) และ (2) โครงการยกระดับเทศกาลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก
2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 14 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนม (2) โครงการ “นครพนมเมืองแห่งความปลอดภัยและทันสมัย (Smart Safety City) เพื่อความน่าอยู่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (3) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำโขงเหนือเมืองนครพนมและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ระยะที่ 2 (4) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำหนองญาติ และพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (5) โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม (6) โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขง สายนาคาวิถี 2 ตอน จากธาตุพนม ถึง ถนนสวรรค์ชายโขง ระยะทางรวม 51.10 กม. (7) โครงการก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2028 สาย อ.กุสุมาลย์ - อ.ท่าอุเทน ระยะทาง 31.31 กิโลเมตร (8) โครงการก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2033 สายนาแก - หนองญาติ ระยะทาง 50.994 กิโลเมตร (9) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน - ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (10) โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน - ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ตอนที่ 2. อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (11) โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.22 - ทล.212 อำเภอเมือง, ปลาปาก จังหวัดนครพนม (12) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และศูนย์รวบรวมโคเนื้อเพื่อการส่งออก “Stockyard” (13) โครงการสร้างเศรษฐกิจกลุ่มสนุกด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมูลค่าสูง “SNUK RICE PLUS” (SNUK RICE+) และ (14) โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อกลุ่มจังหวัดสนุก “สนุก Beef Valley”
(4) ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 2 เรื่อง จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์ กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุก สุขสบาย) ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากห้วยมุกและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุกสุขสบาย) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่หอแก้วมุกดาหารและพื้นที่ต่อเนื่อง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร (2) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุกสุขสบาย) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะบริเวณแก่งกะเบาและพื้นที่ต่อเนื่อง ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และ (3) โครงการยกระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital & Excellent Center)
3.3 การพิจารณาข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 26 โครงการ โดย สศช. สำนักงบประมาณ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ และภาคเอกชน พบว่า ข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท ดังนี้ (1) โครงการพัฒนาและยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สู่การเป็นเมืองมหานครแห่งพฤกษเวชเพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงเชิงสุขภาพ วงเงิน 50,000,000 บาท (2) โครงการงานปรับปรุงผิวแอสฟัลต์ ติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง บนทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2339 ตอน ศรีวิชา - กวนบุ่น ระหว่าง กม. 8+000 - กม. 35+500 เป็นช่วง ๆ ทางหลวงหมายเลข 2347 ตอน ธาตุนาเวง - สกลนคร ระหว่าง กม. 2+300 – กม. 5+200 วงเงิน 50,000,000 บาท (3) โครงการสร้างอัตลักษณ์เมือง (DNA) และ Marketing ภายใต้ 5 Must (Visit, Eat, Shop, Mu, Rest) วงเงิน 20,000,000 บาท (4) โครงการยกระดับเทศกาลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก วงเงิน 30,000,000 บาท และ (5) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุกสุขสบาย) ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากห้วยมุกและพื้นที่ต่อเนื่องอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร วงเงิน 50,000,000 บาท
มติที่ประชุม :
(1) เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ
(2) มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัด และกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3.4 ในการประชุมหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) กับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) และภาคเอกชน ดังนี้
(1) ประเด็นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้ (1) โครงการเที่ยวสนุกไปให้สุดด้วยการสแกน “Story Digital Sign” จังหวัดนครพนม (2) โครงการนครพนม ทรายทองเฟส “Sai Thong Fest” (3) โครงการเทศกาล สง คราม “Songkram Festival” จังหวัดสกลนคร และ (4) โครงการเทศกาลดอกไม้ไฟแสงนาคาแห่งมุกดาหาร
มติที่ประชุม : มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ร่วมกันผลักดันข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างกิจกรรมใหม่ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป
(2) ประเด็นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนของภาคเอกชน จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ (1) เร่งรัดดำเนินโครงการท่าอากาศยานมุกดาหาร โดยในระยะแรกให้ใช้ประโยชน์จากสนามบินสะหวันนะเขต สปป.ลาว ในการเดินทางมายังจังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง และ (2) เร่งรัดการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่เชื่อมโยงประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน
มติที่ประชุม : มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการต่อไป
ประโยชน์และผลกระทบ
หากคณะรัฐมนตรีรับทราบและให้ความเห็นชอบการดำเนินงานตามผลการประชุมฯ จะเป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไปสู่เป้าหมาย “เชื่อมโยงอนุภูมิภาคและจุดหมายการพักผ่อนริมโขง (GMS Gateway & Mekong Tourism Restination)” โดยการพัฒนาศักยภาพและปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชน (Cultural and Mekong Tourism) การยกระดับการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน (High-value Agriculture) การพัฒนาขีดความสามารถโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Connectivity) การเสริมสร้างทักษะแรงงานและความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน (Labor Skill Enhancement & Border Security) และการยกระดับการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น
8. เรื่อง โครงการสลากการกุศล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย (โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ) ของมูลนิธิต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย (มูลนิธิฯ) วงเงิน 250 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ ดังกล่าวล่วงเลยระยะเวลาตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 เห็นชอบ เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมธนารักษ์เพื่อขอเช่าที่ดินแปลงอื่น
2. เห็นชอบให้มีการออกสลากการกุศล (สลากฯ) เพื่อสนับสนุนโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศลฯ (คณะกรรมการฯ) จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 5,308.14 ล้านบาท
3. มอบหมายให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (สำนักงานฯ) ดำเนินการ ดังนี้
3.1 เป็นผู้จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินรางวัลสลากฯ
3.2 ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสลากฯ (โครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการออกสลากฯ การขออนุญาตการออกสลากฯ โดยปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการนำส่งเงินให้หน่วยงานเจ้าของโครงการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตการออกสลากฯ เสียภาษีการพนันเหลือร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่ายตามข้อ 12 (4) ของกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2543)
3.3 จัดทำแผนการออกสลากฯ และแผนการใช้เงินของแต่ละโครงการและรายงานต่อคณะกรรมการฯ เพื่อประโยชน์ในการกำกับ ติดตามการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการ ดังนี้
4.1 ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาผูกพันวงเงินขยายระยะเวลาผูกพันวงเงิน หรือขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนเบิกจ่ายตามเหตุผลความจำเป็นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกการสนับสนุนเงินจากการออกสลากฯ ให้โครงการดังกล่าว
4.2 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการใช้เงินภายในโครงการที่ได้รับการสนับสนุน โดยจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงเป็นกิจกรรมที่แตกต่างจากโครงการที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ (ตามข้อ 2) เป็นในส่วนของทุนการศึกษา จึงเห็นควรให้ดำเนินการสนับสนุนตามจำนวนผู้รับทุนการศึกษาที่หน่วยงานเสนอขอรับการสนับสนุนเท่านั้น โดยให้นำเงินเหลือจ่ายโอนเข้ารายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ในกระบวนการคัดเลือกผู้มีสิทธิรับทุน ควรดำเนินการอย่างโปร่งใส ชัดเจน รอบคอบ และรัดกุม โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ความถูกต้อง และความเป็นธรรม เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการในการลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้รับทุนอย่างเท่าเทียม
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 7 มกราคม 2568 คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการสลากฯ จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้
1.1 การประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ประชุมมติ ดังนี้
(1) เห็นชอบให้ยกเลิกการสนับสนุนเงินจากโครงการสลากฯ ให้โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ ของมูลนิธิฯ เนื่องจากไม่สามารถผูกพันวงเงินได้ตามกำหนดและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ (ฝ่ายเลขานุการฯ) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกการสนับสนุนเงินดังกล่าวต่อไป
(2) เห็นชอบการกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการสลากฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 มกราคม 2568) ซึ่งมีหลักการฯ คงเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (20 กรกฎาคม 2564) และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ระยะเวลาการยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากฯ และหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณาการออกสลากฯ บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานฯ โดยกำหนดระยะเวลาการยื่นขอรับการสนับสนุนเงินจากการออกสลากฯ 1 เดือน หลังจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานกลั่นกรองโครงการสลากการกุศล (คณะทำงานฯ) กลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากโครงการสลากฯ (โครงการที่ขอรับการสนับสนุนฯ) ที่ได้ยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณาการออกสลากฯ โดยจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นและความพร้อมของการดำเนินโครงการ รวมถึงแผนการเบิกจ่ายเงินโครงการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการสลากฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 มกราคม 2568)
ต่อมา สคร. และสำนักงานฯ ได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่หลักการฯ และรายละเอียดข้อมูลโครงการ ที่ขอรับการสนับสนุนฯ ตามมติคณะกรรมการฯ บนเว็บไซต์ของ สคร. และสำนักงานฯ พร้อมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนยื่นขอรับการสนับสนุนตามรายละเอียดข้อมูลโครงการที่ขอรับการสนับสนุนฯ มายัง สคร. ระหว่างวันที่ 24 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 (ระยะเวลา 30 วัน) โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 มีหน่วยงานอื่นยื่นข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุน รวมทั้งสิ้น 127 โครงการ วงเงินรวม 35,639.60 ล้านบาท
1.2 การประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการกลั่นกรองโครงการสลากฯ ของคณะทำงานฯ ตามแนวทางการดำเนินโครงการสลากฯ [ตามข้อ 1.1 (2)] และมีมติเห็นชอบให้เสนอ กค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
(1) เห็นชอบให้มีการออกสลากฯ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 5,308.14 ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
(1.1) โครงการพัฒนาศักยภาพ Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS) เพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ โดยจะส่งเยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนจาก 878 อำเภอ ทั่วประเทศ และจากกรุงเทพมหานคร 50 เขต จำนวนไม่น้อยกว่า 928 คน ไปศึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีระยะสั้นในต่างประเทศ เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลใหม่
(1.2) โครงการสรรหาและเตรียมความพร้อมนักเรียนทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุนการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสอบเพื่อสรรหาและเลือกสรรนักเรียนทุนเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายในการจัด Boot Camp และการทดสอบภาษาอังกฤษ (Mock test) เพื่อให้ทุนการศึกษาระดับ ปวส. จำนวน 60 ทุน และปริญญาตรีในต่างประเทศ จำนวน 140 ทุน รวม 200 ทุน [ตามข้อ (1.3) – (1.5)]
(1.3) โครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหรัฐอเมริกา โดยขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 60 ทุน ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 30 ทุน
(1.4) โครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ สหราชอาณาจักร โดยขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 50 ทุน ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 25 ทุน
(1.5) โครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุนการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ ณ เครือรัฐออสเตรเลีย โดยขอรับการสนับสนุน ทุนการศึกษาระดับ ปวส. จำนวน 60 ทุน และระดับปริญญาตรี จำนวน 30 ทุน (รวม 90 ทุน) ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) โดยแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 45 ทุน
(1.6) โครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 2,200 คน ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) โดยแบ่งเป็น 6 รุ่น รุ่นละ 1,100 คน (ผู้รับทุนรัฐบาลจากโครงการสลากฯ จำนวน 700 คน และผู้รับทุนรัฐบาลจากโครงการสลากฯ และบางส่วนจากทุนสถาบันอุดมศึกษาเป็นค่าเล่าเรียนตามระเบียบของสถาบันการศึกษา จำนวน 400 คน)
(1.7) โครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ [Outstanding Development Opportunity Scholarship (ODOS)] สำหรับทุกการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวส. ในประเทศ โดยขอรับการสนับสนุนการศึกษา จำนวน 4,800 คน ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) โดยแบ่งเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 1,200 คน
หมายเหตุ : กรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จำนวน 10,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินทั้งสิ้น 4,619.86 ล้านบาท
ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลในด้านความจำเป็นและความพร้อมของโครงการที่ขอรับการสนับสนุนฯ เพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่ง
(2) มอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการ ดังนี้
(2.1) เป็นผู้จัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินรางวัลสลากฯ
(2.2) ประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการออกสลากฯ การขออนุญาตการออกสลากฯ โดยปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการนำส่งเงินให้หน่วยงานเจ้าของโครงการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
(2.3) จัดทำแผนการออกสลากฯ และแผนการใช้เงินของแต่ละโครงการ และรายงานต่อคณะกรรมการฯ เพื่อประโยชน์ในการกำกับ และติดตามการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
(3) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการ ดังนี้
(3.1) ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาผูกพันวงเงิน ขยายระยะเวลาผูกพันวงเงิน หรือขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนเบิกจ่ายตามเหตุผลความจำเป็นแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกการสนับสนุนเงินจากการออกสลากฯ ให้โครงการดังกล่าว
(3.2) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการใช้เงินภายในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ โดยจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงเป็นกิจกรรมที่แตกต่างจากโครงการ ที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนฯ [ตามข้อ 1.2 (1)] เป็นในส่วนของทุนการศึกษา เห็นควรให้ดำเนินการสนับสนุนตามจำนวนผู้รับทุนการศึกษา ที่หน่วยงานเสนอขอรับการสนับสนุนเท่านั้น โดยให้นำเงินเหลือจ่ายโอนเข้ารายได้แผ่นดินและในกระบวนการคัดเลือกผู้มีสิทธิรับทุน ควรดำเนินการอย่างโปร่งใส ชัดเจน รอบคอบและรัดกุมโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ความถูกต้อง และความเป็นธรรม เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการในการลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้รับทุนอย่างเท่าเทียม
2. ประมาณการรายจ่ายตามสัดส่วนการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
การจัดสรรรายได้ จากการจำหน่ายสลากฯ |
ปีที่ 1 (24) งวด งวดละ 11 ล้านฉบับ |
ปีที่ 2 (24) งวด งวดละ 11 ล้านฉบับ |
ปีที่ 3 (3) งวด 2 งวดแรก งวดละ 11 ล้านฉบับ งวดที่ 3 5.55 ล้านฉบับ |
รวม |
เงินรางวัล (ร้อยละ 60) |
12,672.00 |
12,672.00 |
1,322.66 |
26,666.66 |
เงินสนับสนุน โครงการสลากฯ (ไม่เกินร้อยละ 22.5) |
4,752.00 |
4,752.00 |
496.00 |
10,000.00 |
ภาษีการพนัน (ร้อยละ 0.5) |
105.60 |
105.60 |
11.02 |
222.22 |
ค่าบริหารงาน (ไม่เกินร้อยละ 17) |
3,590.40 |
3,590.40 |
374.75 |
7,555.55 |
รวม |
21,120.00 |
21,120.00 |
2,204.43 |
44,444.43 |
หมายเหตุ : คำนวณจากการจำหน่ายสลากฯ ฉบับละ 80 บาท
3. กรณีคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการสลากฯ จะมีการออกสลากฯ ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท งวดละไม่เกิน 11 ล้านฉบับ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ทำให้ปริมาณการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลลดลง และส่งผลกระทบต่อการนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินประมาณปีละ 4,857.60 ล้านบาท ทั้งนี้ กค. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลประกอบการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว
4. คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ทั้ง 7 โครงการ เป็นโครงการที่มีความพร้อม ความจำเป็น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการสลากฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทำให้ประชาชนได้รับการศึกษา การบริการสาธารณสุขและบริการขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกทางหนึ่ง
ต่างประเทศ
9. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และการพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และการพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ( Optional Protocol to the Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: OPCAT) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงยุติธรรม ได้รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และการพิจารณาเข้าเป็นภาษีพิธีสารเลือกรับ OPCAT ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสรรพสามิต กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฯลฯ สรุปผลการพิจารณาในภาพรวมได้ ดังนี้ (1) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายและกระทรวงการคลังเร่งผลักดันร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ซึ่งได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ คือ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุมการแจ้งการควบคุมตัวและการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 ประกาศใช้แล้วเมื่อ 21 กันยายน 2566 และระเบียบที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ คือ ร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. .... และร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่และค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. .... (2) ที่ประชุมมีมติยังไม่เข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT1 และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ความรู้หน่วยงานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT ต่อไป (3) ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่เป็น NPM2 เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT แล้ว โดยที่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 247 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 จึงเข้าข่ายลักษณะเรื่องที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (1) และ (13)
____________________________________
1เนื่องจากหน่วยงานส่วนมากยังไม่มีความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ OPCAT ต้องมีกลไก ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่สามารถเข้ามาตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว/คุมขัง/กักกัน โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
2กลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM)
10. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: ADGMIN) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเกี่ยวกับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ |
รายละเอียด |
3 กันยายน 2567 |
เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักร กัมพูชา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย ในขอบเขตของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในสาขาต่าง ๆ เช่น สินค้าและบริการดิจิทัล การแลกเปลี่ยนดิจิทัล ความปลอดภัยทางออนไลน์และการป้องกันการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ |
7 มกราคม 2568 |
เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ (2) ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (3) ร่างรายงานโครงการศึกษาขั้นตอนการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (4) ร่างเอกสารแผนปฏิบัติการสำหรับกฎระเบียบความเป็นส่วนตัวข้ามพรมแดนระดับสากล และการรับรองความเป็นส่วนตัวระดับสากลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูล (5) ร่างเอกสารเพิ่มเติมแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลและจริยธรรม ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียนโดยครอบคลุมถึงปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (6) ร่างรายงานการสำรวจกิจกรรมการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน (พ.ศ. 2566 - 2567) ภายใต้คณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (7) ร่างเอกสารข้อแนะนำของอาเซียนในการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ และ (8) ร่างเอกสารกรอบการบูรณาการบริการรัฐบาลดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยมี ดศ. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 16 - 17 มกราคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อหลัก “มั่นคง นวัตกรรม ครอบคลุม: ร่วมกำหนดอนาคตดิจิทัลของอาเซียน” |
13 มกราคม 2568 |
เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย พัฒนาความร่วมมือบนพื้นฐานของผลประโยชน์และความเข้าใจ ร่วมกันและเคารพซึ่งกันและกัน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ เช่น ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดร่วมกัน ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ |
2. ผลการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (ตามข้อ 1) มีสาระสำคัญมีสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5
หัวข้อ |
รายละเอียด |
ภาพรวม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานการประชุมฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) เป็นรองประธานการประชุมฯ มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีของอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมด้วยคู่เจรจา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) สหรัฐอเมริกา สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และเลขาธิการอาเซียน นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเต ได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ |
พิธีเปิดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
|
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 ได้กล่าวต้อนรับและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคให้มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยมีประเด็นที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ (1) การจัดการปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลให้มั่นคงปลอดภัยและมีมาตรฐานในการรับมือและต่อสู้กับภัยหลอกลวงออนไลน์ (2) การแก้ไขปัญหาข้อมูลบิดเบือน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในโลกไซเบอร์ โดยเสนอแนะอาเซียนในเรื่องกลไกการติดตามและตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ ส่งเสริมการรู้เท่าทันดิจิทัลแก่ประชาชน และ (3) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นในปัจจุบันและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงและจริยธรรมในการใช้ AI |
การร่วมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน
|
ประเทศไทยได้เน้นย้ำการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น (1) การดำเนินงานของคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ของอาเซียน (2) การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ซึ่งอาเซียนควรส่งเสริมความรู้ดิจิทัลและสร้างความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว (3) การพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับคู่เจรจาของอาเซียน (4) การพัฒนาระบบการยืนยันตัวตน (Digital ID) ของประเทศสมาชิกอาเซียน |
การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม
|
ที่ประชุมได้รับรอง (1) ปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ และ (2) ถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความครอบคลุมการพัฒนาดิจิทัลของอาเซียนในหลากหลายมิติซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน และยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามถ้อยแถลงฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (7 มกราคม 2568) |
การจัดการประชุม ADGMIN ครั้งถัดไป |
เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2569 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม |
2.2 การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.2.1 การประชุม ADGMIN กับคู่เจรจา
คู่เจรจา |
รายละเอียด |
อาเซียน - จีน |
(1) รับทราบสถานะล่าสุดของนโยบายและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนและจีน ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล AI และการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ และ (2) เห็นชอบแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและจีน ปี 2568 |
อาเซียน - ญี่ปุ่น |
(1) รับทราบผลการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ปี 2567 เช่น ความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยทางไซเบอร์ นโยบาย กฎระเบียบและมาตรฐานด้านดิจิทัล (2) รับทราบข้อเสนอของญี่ปุ่นในเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล การส่งผ่านข้อมูลที่มีความปลอดภัยเพื่อพัฒนากรอบการกำกับดูแลข้อมูล และ (3) เห็นชอบแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ปี 2568 |
อาเซียน - เกาหลีใต้ |
รับทราบแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ ปี 2568 โดยเกาหลีใต้เสนอโครงการความร่วมมือ Korea - ASEAN Digital Innovation Flagship เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเผยแพร่แนวทางการประยุกต์ใช้ AI เช่น (1) ศูนย์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (2) การจัดการแข่งขัน startup ด้าน AI (3) สถาบันเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน |
อาเซียน - อินเดีย
|
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้ความร่วมมือตามแผนการดำเนินการ ด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและอินเดีย ปี 2567 และแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและอินเดีย ปี 2568 โดยมีหัวข้อหลัก เช่น โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านไอซีที การฝึกอบรมการจัดการความปลอดภัยด้านโทรคมนาคม และโครงการนำร่องระบบป้องกันการโทรหลอกลวงระหว่างประเทศ |
อาเซียน - สหรัฐอเมริกา
|
รับทราบความคืบหน้าของแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ปี 2566 - 2568 โดยมีการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้ประเด็นสำคัญ เช่น (1) นโยบายและกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัล (2) ความเชื่อมโยงและความครอบคลุมด้านดิจิทัลและรับทราบประเด็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ปี 2568 (เช่น ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การต่อสู้กับการหลอกลวงออนไลน์ การสนับสนุนการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน) |
อาเซียน - ITU
|
(1) รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือที่สำคัญของอาเซียนและ ITU ปี 2567 - 2569 ภายใต้ความร่วมมือที่สำคัญ เช่น นโยบายและกฎระเบียบ ความเท่าเทียมทางดิจิทัลและ ความปลอดภัยไซเบอร์และดิจิทัล และ (2) เห็นชอบแผนการดำเนินการด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนและ ITU ปี 2568 |
2.2.2 การหารือทวิภาคี
ประเทศ |
รายละเอียด |
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) |
ทบทวนความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี 2565 และร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาแผนงานหรือกิจกรรมร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การไปรษณีย์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานที่เป็นธรรมและยั่งยืนตามแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียน 2025 |
ITU
|
ITU ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของ ดศ. เช่น การอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ และไทยยินดีจะสานต่อความร่วมมือกับ ITU ในการพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างทั่วถึงให้กับประชาชนในประเทศ |
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา)
|
หารือปัญหาอาชญากรรมดิจิทัลข้ามพรมแดน โดยฝ่ายไทยได้นำเสนอการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อลดปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเมียนมาให้ความสนใจและจะพิจารณาจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายต่อไป |
มาเลเซีย
|
ฝ่ายไทยสนับสนุนบทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2568 ซึ่งมุ่งเน้นแนวคิด “Inclusivity and Sustainability” โดยมาเลเซียได้เน้นย้ำประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนา AI การจัดการข้อมูลเมืองอัจฉริยะ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญและยินดีส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและบริการของทั้งสองประเทศ |
สำนักเลขาธิการอาเซียน
|
เลขาธิการอาเซียนได้เน้นย้ำการทำงานร่วมกันผ่านกลไกคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในระดับภูมิภาค ส่วนฝ่ายไทยสนับสนุนการผลักดันข้อเสนอการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ASEAN AI Safe ของมาเลเซียซึ่งเป็นโครงการสำคัญของอาเซียน |
อินเดีย
|
ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยอินเดียได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จ เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยการสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยฝ่ายไทยพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีไอซีทีกับอินเดียผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป |
สิงคโปร์
|
หารือเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น AI การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Digital ID และการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมความตกลง Digital Economic Partnership Agreement: DEPA และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงานด้านดิจิทัลของทั้งสองประเทศ การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน |
ญี่ปุ่น |
หารือในประเด็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับโอกาสใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น AI การส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง โดยฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน |
เวียดนาม |
หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการสร้างสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืน เช่น การพัฒนานโยบายและกฎระเบียบด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและการจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมหารือถึงการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่เพื่อกระชับความสัมพันธ์และผลักดันให้มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศต่อไป |
2.2.3 การประชุมระดับรัฐมนตรีไทย - จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งสองประเทศ ได้ร่วมประกาศให้ปี 2568 เป็น “Golden Year of Friendship” เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาภูมิภาค และหารือแนวทางเพื่อยกระดับความร่วมมือให้ครอบคลุมประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งผลประชุมฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นหารือ |
รายละเอียด |
ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและเทคโนโลยี 5G |
ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พัฒนาการ และแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเห็นชอบให้มีการยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและไอซีทีระหว่างไทยและจีน รวมถึงการเชื่อมต่อผ่านเคเบิลใต้น้ำ และการใช้เทคโนโลยี 5G |
เศรษฐกิจดิจิทัล |
ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการสร้างกลไกความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างสองประเทศ ส่งเสริมการลงทุนสาขาดิจิทัลโดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทจีนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกัน การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะใหม่ เช่น Big data และ AI รวมถึงสร้างกลไกความร่วมมือระดับพหุภาคี เช่น กรอบอาเซียน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ บุคลากร และเทคโนโลยี รวมถึงการใช้กองทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาบุคลากร |
การปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม |
ฝ่ายจีนได้มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนา สู่โรงงานอัจฉริยะ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการสร้างกลไกแลกเปลี่ยนความร่วมมือเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล การขยายความร่วมมือ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากร |
AI |
ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (นโยบาย กฎหมาย มาตรฐานและแนวทางการดำเนินงาน) และบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI โดยให้มีการร่วมศึกษาและวิจัย และพัฒนาทักษะแก่บุคลากรให้ใช้งาน AI อย่างมีธรรมาภิบาลและมีจริยธรรม |
ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ |
ที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นในการกระชับความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นในด้าน ต่าง ๆ เช่น (1) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และทักษะที่เกี่ยวข้อง (2) การส่งเสริมการใช้ Digital ID อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นรากฐานในการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล |
การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ |
แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันขจัดปัญหานี้ผ่านความร่วมมือกัน เช่น การร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกหลอกลวง รวมถึงประชาชนที่โดนหลอกไปทำงาน การจัดการข่าวปลอม และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล |
การสร้างความเข้าใจด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย |
จากกรณีที่มีการลักพาตัวนักแสดงชาวจีนในประเทศไทย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ และการประสานความร่วมมือร่วมกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยอย่างไรก็ดี เรื่องที่เกิดขึ้นถูกนำไปขยายผลเชิงลบและเผยแพร่บนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงขอความร่วมมือรัฐบาลจีนจัดการการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวด้วย |
คณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของจีนได้เข้าเยี่ยมชม Thailand Digital Valley ณ จังหวัดชลบุรี |
เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนของจีนที่สนใจลงทุนในประเทศไทยด้านดิจิทัลได้รับทราบถึงข้อมูล สิทธิประโยชน์ และสถานที่ในการจัดตั้งธุรกิจและโอกาสในการลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย |
2.3 ประเด็นอื่น ๆ
หัวข้อ |
รายละเอียด |
การลงนามในบันทึกความเข้าใจ |
1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าและบริการของรัฐบาลดิจิทัล การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการป้องกันการหลอกลวงทางดิจิทัล (คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567) 2) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัล วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่น ยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัลและการใช้ AI รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง และ Big Data) (คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568) |
การอนุมัติโครงการและงบประมาณประจำปี 2568
|
- อนุมัติโครงการและงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund สำหรับดำเนินงานโครงการภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting: ADGSOM) และกรอบการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ประจำปี 2568 จำนวน 23 โครงการ รวมเป็นเงินจำนวน 1,442,210 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยได้รับการอนุมัติ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการ ASEAN Digital Masterplan 2025 Completion Report จำนวน 57,100 ดอลลาร์สหรัฐ 2) โครงการ The Development of Guidelines for Digital Platform Regulation in ASEAN (ดศ. ร่วมกับ สปป.ลาว) จำนวน 96,300 ดอลลาร์สหรัฐ 3) โครงการ ASEAN Digital Capacity Building for Smart Cities: ASEAN Chief Smart City Officers จำนวน 13,500 ดอลลาร์สหรัฐ |
รางวัล ASEAN Digital Awards 2025
|
ASEAN Digital Awards ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านนวัตกรรมในสาขาดิจิทัล และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ตัวแทนประเทศไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 4 รางวัล ดังนี้ 1) ชื่อผลงาน Health Tech สาขา Public Sector 2) ชื่อผลงาน Cortex Shift สาขา Private Sector 3) ชื่อผลงาน Alto CERO สาขา Digital Start-up 4) ชื่อผลงาน AI Medication Solution for NCDs Patient สาขา Digital Innovation |
3. ประโยชน์และผลกระทบ
3.1 การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีอาเซียนและการเป็นผู้นำในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย มีนวัตกรรม และครอบคลุม รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยและส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
3.2 ผลจากการหารือทวิภาคี ดศ. จะได้ดำเนินการขยายความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่าย
3.3 ตัวแทนจากประเทศไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการเข้าร่วมการแข่งขัน ASEAN Digital Awards 2025 จำนวน 4 รางวัล ซึ่งแสดงถึง ศักยภาพด้านนวัตกรรมและสิ่งสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีอาเซียน
11. เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบแก้ไขข้อตกลง “The Agreement Establishing the ASEAN Promotion Centre on Trade, Investment and Tourism” ของศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบบทแก้ไขข้อตกลง “The Agreement Establishing the ASEAN Promotion Centre on Trade, Investment and Tourism” (ข้อตกลงฯ) ของศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่น (ศูนย์ฯ) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนบังคับ (Obligatory Contributions) และเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการยื่นและออกตราสารการยอมรับต่อรัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ตามบทบัญญัติของข้อตกลงฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ศูนย์อาเซียน - ญี่ปุ่น (ASEAN - Japan Centre: AJC) (ศูนย์ฯ) เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับญี่ปุ่น โดยศูนย์ฯ จะจัดสรรงบประมาณ จำนวนร้อยละ 80 ของจำนวนเงินที่ได้รับสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ให้ประเทศสมาชิกขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเพื่อเสนอจัดทำโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN National Activities) ในส่วนของประเทศไทยได้เสนอขออนุมัติโครงการต่าง ๆ และผลักดันให้เกิดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ “Thailand Sustainable Products to Japan” โดยกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Art Fair Asia Fukuoka 2024 และงาน Food Style Kyushu 2024 เพื่อขยายช่องทางการค้าและขยายตลาดสินค้ายั่งยืนของผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 โดยใช้งบประมาณ จำนวน 1,850,000 เยน (ประมาณ 4 แสนบาท) โครงการ “THAI Fashion & Textile Business Matching in TOKYO” โดยการจัดนิทรรศการและกิจกรรมเจรจาการค้าสินค้าแฟชั่นสิ่งทอของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกแฟชั่นและสิ่งทอของไทยไปยังญี่ปุ่น รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของผ้าไทยให้เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2567 โดยใช้งบประมาณ จำนวน 980,000 เยน (ประมาณ 2 แสนบาท) เป็นต้น
2. ตามข้อ 10 ของข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น มีพันธกรณีที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของศูนย์ฯ
3. ศูนย์ฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 แจ้งว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีข้อขัดข้องทางกฎหมายในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินอุดหนุนดังกล่าว และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกร่างบทแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์ฯ ข้อ 10 (Article X) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินอุดหนุนบังคับที่จะทยอยปรับสัดส่วนเงินอุดหนุนบังคับ และขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อยอมรับการแก้ไขข้อตกลงฯ เพื่อให้การแก้ไขข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป
12. เรื่อง การแก้ไขร่างบันทึกผลการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแก้ไขร่างบันทึกผลการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ครั้งที่ 1 (ผลการประชุมสภาฯ) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายลงนามในเอกสารดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มกราคม 2567) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภาฯ ประกอบด้วย (1) ร่างข้อริเริ่มความร่วมมือ (Initiative Card) จำนวน 78 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 5 คณะ (คณะกรรมการด้านการเมืองและการกงสุล คณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า คณะกรรมการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และคณะกรรมการด้านการลงทุน) ของฝ่ายไทยและฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้เห็นชอบร่วมกัน (2) ร่างบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมการร่วม 5 คณะ จำนวน 5 ฉบับ และ (3) ร่างบันทึกผลการประชุมสภาฯ จำนวน 1 ฉบับ
2. กต.ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 และแจ้งว่า ในการประชุมได้มีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าว (ข้อริเริ่มความร่วมมือและบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่วม 5 คณะ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกผลการประชุมสภาฯ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ (ตามข้อ 1.) และมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ เช่น |
1. อารัมภบท |
|
ข้อ 1-13 |
มีการแก้ไขให้มีความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยยังคงสาระสำคัญที่ย้ำความตั้งใจในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดจนกล่าวถึงการเยือนที่สำคัญระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา เช่น - ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศในทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย - การทบทวนสถานะของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความโดดเด่น รวมทั้งการแสวงหาจุดยืนและท่าทีร่วมกันในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
|
2. ความร่วมมือภายใต้คณะกรรมการ 5 คณะ |
|
ด้านการเมืองและการกงสุล |
- เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความร่วมมือทวิภาคีและการประชุมหารือทางการเมืองในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสมัครรับเลือกตั้งในเวทีระหว่างประเทศและตำแหน่งต่าง ๆ - มุ่งมั่นที่จะขยายขอบข่ายความร่วมมือในมิติด้านการเมืองทั้งในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศ และความร่วมมือด้านการกงสุลต่อไปในอนาคต (มีการปรับถ้อยคำใหม่) |
ด้านความมั่นคงและการทหาร |
เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกมิติผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ หลักสูตรการฝึกอบรม การเยือนเพื่อศึกษาดูงาน และเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานระหว่างกันในประเด็นด้านความมั่นคง (มีการปรับถ้อยคำใหม่) |
ด้านเศรษฐกิจและการค้า |
- เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาการค้า อาหารและยา การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน รวมถึงการเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างกัน โดยในปี พ.ศ. 2566 การแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างกันมีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (มีการปรับเพิ่มรายละเอียดมูลค่า ทางการค้า) - เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสภาธุรกิจซาอุดี - ไทย ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ (มีการปรับถ้อยคำใหม่) |
ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว |
-เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษาการดูแลสุขภาพ กิจการฮัจย์และอุมเราะห์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อร่วมมือกันในสาขาต่าง ๆ (มีการปรับถ้อยคำใหม่) |
ด้านการลงทุน |
- เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงริยาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการลงทุน และพัฒนาการลงทุนระหว่างกัน (ประเด็นเพิ่มเติม) - การหารือถึงความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินการตามแผนงาน ซึ่งได้นำไปสู่การจัดทำข้อริเริ่มด้านการลงทุนร่วมกันในสาขาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ 35 ฉบับ เช่น พลังงานโฮโดรเจน พลังงานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ ข้อริเริ่มความร่วมมือเป็นผลลัพธ์จากการประชุมสภาฯ (ประเด็นเพิ่มเติม) |
3. มติที่ประชุมสภาฯ |
|
การปรับเปลี่ยนมติที่ประชุมสภาฯ จากเดิม 1. รับรองระบบการบริหารสภาความร่วมมือฯ 2. รับรองข้อริเริ่มความร่วมมือของคณะกรรมการสภาความร่วมมือฯ โดยให้ประธานคณะกรรมการสภาความร่วมมือฯ ดำเนินการในเรื่องที่จำเป็นร่วมกับคณะกรรมการและละคณะทำงานฯ 3. การรับรองตารางการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ. 2567-2568 เป็น 1. อนุมัติกลไกการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ (Governance) ในรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน ผ่านช่องทางทางการทูต (เดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้) 2. อนุมัติกรอบระยะเวลาการดำเนินงานของสภาความร่วมมือ (Timeline) ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยเป็น การปรับเปลี่ยนกรอบเวลาการทำงานให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการประชุมสภาฯ ไม่สามารถจัดขึ้น ตามกำหนดเดิมในปี พ.ศ. 2567 3. อนุมัติข้อริเริ่มความร่วมมือ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากประธานคณะกรรมการแต่ละคณะภายหลังการประสานงานและการทบทวนร่วมกับฝ่ายเลขานุการสภาความร่วมมือฯ แล้ว โดยมีการปรับเปลี่ยนผู้อนุมัติข้อริเริ่มความร่วมมือ จาก ประธานสภาความร่วมมือฯ เป็น ประธานคณะกรรมการ 5 คณะ ภายใต้สภาความร่วมมือฯ เพื่อลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการดำเนินงาน 4. เห็นชอบการแก้ไขกลไกการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ โดยมีการปรับเปลี่ยนให้ฝ่ายเลขานุการสามารถแก้ไขกลไกการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ ได้โดยตรงในกรณีทั่วไป |
ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า การแก้ไขร่างบันทึกผลการประชุมสภาฯ ตามข้อเสนอของฝ่ายซาอุดีอาระเบียดังกล่าวข้างต้นจะมีประโยชน์ในการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ ให้มีความชัดเจนและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของสภาความร่วมมือฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อสถานะทางกฎหมายของเอกสาร ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบด้วย กต. (กรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา) ได้มีการหารือกรมสนธิสัญญาแล้วเห็นว่า มิใช่การแก้ไขในสาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ตามข้อ 1 รวมทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านความมั่นคงและการทหาร กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการค้า และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการลงทุน พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อการแก้ไขร่างบันทึกผลการประชุมสภาฯ
13. เรื่อง ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทย
กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ครั้งที่ 10
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) ครั้งที่ 10 (10th Meeting of the Joint Commission for Bilateral Cooperation between the Kingdom of Thailand and the Republic of Indonesia: JC) (การประชุมฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกการประชุมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. พิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) ครั้งที่ 10 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ ประเทศไทย โดยร่างบันทึกการประชุมฯ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมของไทยและอินโดนีเซียที่จะกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน เช่น การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือด้านกลาโหมและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การเกษตรและการประมง ความร่วมมือด้านการศึกษา วัฒนธรรม และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ในการนี้ กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย รวมทั้ง กต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกันว่า ร่างบันทึกการประชุมฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านมหาสมุทรของเอเปค ค.ศ. 2025
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านมหาสมุทรของเอเปค ค.ศ. 2025 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านมหาสมุทรของเอเปค ค.ศ. 2025
มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค และเป็นกรอบการดำเนินการในด้านความยั่งยืนของมหาสมุทรและการประมงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและมาตรการอนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครอง เป็นต้น โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2568 ในห้วงการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องของมหาสมุทร ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองปูซานสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
15. เรื่อง การเข้าร่วมงาน International Horticultural Expo 2027
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
(1) อนุมัติในหลักการให้ไทยเข้าร่วมงาน International Horticultural Expo 2027 ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม - 26 กันยายน 2570 ณ เมืองโยโกฮามา ญี่ปุ่น โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงานดังกล่าว
(2) เห็นชอบแผนการดำเนินงานเข้าร่วมการจัดงาน International Horticultural Expo 2027 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ส่วนกรอบงบประมาณเพื่อใช้จัดงาน International Horticultural Expo 2027 ให้สำนักงบประมาณ รับไปทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงพาณิชย์นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน International Horticultural Expo 2027 ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม - 26 กันยายน 2570 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงานดังกล่าวและเห็นชอบแผนการดำเนินงานเข้าร่วมการจัดงาน International Horticultural Expo 2027 ซึ่งกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องด้วย
2. องค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Exposition: BIE)1 และสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้มีกำหนดจัดงานมหกรรมพืชสวนนานาชาติ 2027 (International Horticultural Expo 2027) ซึ่งเป็นงานระดับ A12 ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม - 26 กันยายน 2570 ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผู้คนมีความรู้สึกมีความสุขอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านความสัมพันธ์กับดอกไม้และความเขียวขจี โดยการจัดงานจะเปิดโอกาสให้ชุมชนทั่วโลกได้แบ่งปันความสำคัญของทรัพยากรพืช ซึ่งเป็นรากฐานของกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังที่จะสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการใช้แนวปฏิบัติและความรู้ดังกล่าวเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการบรรลุเป้าหมาย SDGs และแบ่งปันวิสัยทัศน์ของสังคมที่ยั่งยืนหลังจากปี ค.ศ. 2030
แนวคิดหลัก (Theme) ในการจัดงานครั้งนี้คือ “Scenery of the Future for Happiness” (ภาพทัศน์ของอนาคตแห่งความสุข) โดยมีแนวคิดย่อย จำนวน 4 หัวข้อได้แก่ (1) การปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ (Co-adaptation) (2) การอยู่ร่วมกันโดยอาศัยต้นไม้กับภาคการเกษตร (Co-existence) (3) การสร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ร่วมกัน (Co-creation)และ (5) การแก้ไขปัญหาผ่านความร่วมมือ (Co-operation)
3. การเข้าร่วมงาน International Horticultural Expo 2027 จะเป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหาร และเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเรียนรู้และนำเอาเทคโนโลยี แนวคิดใหม่ที่เกี่ยวเนื่องมาใช้พัฒนาส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนของไทยต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษานานาประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือในโครงการวิจัย การพัฒนาการค้าและการลงทุนในอนาคต ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการขยายโอกาสทางการตลาดสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
4. พณ.ได้จัดทำรายละเอียดการดำเนินการตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
_____________________________
1BIE เป็นองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดยมี พณ. เป็นผู้แทนไทยในองค์การดังกล่าว
2การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) A1 : World Horticultural Exhibition ใช้พื้นที่ จัดแสดง 500,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 3 - 6 เดือน (2) B : International Horticultural Exhibition ใช้พื้นที่จัดแสดง 250,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 3 - 6 เดือน (3) C : International Horticultural Show ใช้พื้นที่จัดแสดง 6,000 ตารางเมตร ระยะเวลาจัดงาน 4 - 20 วัน และ (4) D : International Horticultural Trade Exhibition เป็นงานแสดงเพื่อธุรกิจการค้าพันธุ์พืช โดยไม่กำหนดจำนวนวันจัดงานขั้นต่ำ
16. เรื่อง ข้อเสนอแนะยกเลิกข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อในความตกลงว่าด้วยการสถาปนาธนาคารพัฒนาเอเชีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะยกเลิกข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อในความตกลงว่าด้วยการสถาปนาธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยใน ADB ลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบต่อร่างมติสภาผู้ว่าการ ADB ในเรื่องดังกล่าวต่อไปตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ADB เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการขจัดความยากจน สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการ รวมถึงการเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 69 ประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งของ ADB โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤศจิกายน 2508) เห็นชอบการลงนามความตกลงว่าด้วยการสถาปนา ADB รวมทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย พ.ศ. 2506 และพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย พ.ศ. 2547
2. วิกฤตต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ประเทศสมาชิกมีความต้องการ สินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น โดย ADB คาดการณ์ว่าหากไม่มีการเพิ่มทุนในอนาคตจะมีวงเงินคงเหลือที่ให้กู้ได้ไม่เพียงพอในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อให้ ADB สามารถให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริหาร ADB จึงมีข้อเสนอแนะต่อสภาผู้ว่าการ ADB เพื่อยกเลิกข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อ (Charter Lending Limitation: CLL) ในความตกลงว่าด้วยการสถาปนา ADB โดยให้ลบมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ของความตกลงว่าด้วยการสถาปนา ADB ที่กำหนดไว้ว่า “ยอดเงินคงค้างให้กู้ ร่วมลงทุน และค้ำประกัน ในการดำเนินการ ประเภทสามัญในขณะใดขณะหนึ่งจะต้องไม่เกินยอดหุ้นทุนที่ไม่ด้อยค่า ทุนสำรอง และทุนส่วนเกินของธนาคาร ซึ่งรวมอยู่ในเงินทุนสามัญโดยไม่นับรวมทุนสำรองพิเศษที่กำหนดไว้ในข้อบทที่ 17 ของความตกลงฯ และทุนสำรองอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช้ในการดำเนินงานประเภทสามัญ”
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ของกลุ่ม G20 ในเรื่องกรอบความเพียงพอของทุน (Capital Adequacy Framework: CAF)
3. ความเป็นมา
3.1 ข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อ (CLL) กำหนดขึ้น ตั้งแต่การก่อตั้ง ADB ในปี 2509 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มการดำเนินการของ ADB มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดความเสี่ยงขั้นพื้นฐานและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีกรอบบริหารความเสี่ยงอื่น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ข้อบทในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ในธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Bank MDB) เกือบทุกแห่ง ซึ่งถือแบบอย่างจากข้อบทของธนาคารโลก
3.2 หลักการของข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อ (CLL) คือ ความเสี่ยงรวมของธนาคาร (Banking Exposure) จะต้องไม่เกินส่วนของทุนของธนาคาร ซึ่งรวมถึงเงินลงทุน (Subscribed Capital) ที่ประเทศสมาชิกต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ลงทุน ทั้งส่วนของทุนที่ชำระแล้ว (Paid-in Capital) และทุนเรียกชำระ (Callable Capital) เพื่อเป็นหลักประกันว่าเจ้าหนี้ของธนาคารจะได้รับการชำระหนี้หากธนาคารประสบปัญหาขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก โดยธนาคารจะเรียกให้สมาชิกชำระเงินทุนเรียกชำระ (Callable Capital) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารโดยความเห็นชอบของสภาผู้ว่าการเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (MDB) แห่งใดเรียกให้สมาชิกชำระเงินทุนเรียกชำระ (Callable Capital) ดังกล่าว
3.3 ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (MDB) ต่าง ๆ รวมทั้ง ADB ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุดจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดย ADB ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุดมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดย Standard & Poor’s (S&P)และ Fitch อยู่ที่ระดับ AAA และ Moody’s อยู่ที่ระดับ Aaa ส่งผลให้ ADB สามารถระดมทุนจากตลาดการเงินได้ด้วยต้นทุนทางการเงินต่ำ
3.4 ข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อ (CLL) ที่กำหนดไว้ ในความตกลงว่าด้วยการสถาปนา ADB เป็นข้อจำกัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการให้สินเชื่อ ที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่ง ADB มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอื่นภายใต้กรอบความเพียงพอของทุน (CAF) ที่สอดคล้องกับแนวทางสมัยใหม่และสภาพการณ์ในตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป และในขณะนี้ ADB อยู่ระหว่างการพิจารณานำหลักเกณฑ์เพดานการให้สินเชื่อมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณากรอบความเพียงพอของทุน (CAF) โดยหากข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อในความตกลงว่าด้วยการสถาปนา ADB ถูกยกเลิกแต่คณะกรรมการบริหาร ADB ยังไม่เห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ADB จะนำเพดานการให้สินเชื่อในปัจจุบัน (ตามข้อบทที่ถูกยกเลิก) มาบังคับใช้เป็นการชั่วคราวก่อน
3.5 การยกเลิกข้อบทเกี่ยวกับเพดานการให้สินเชื่อ (CLL) ตามเรื่องที่เสนอในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของ ADB ในการให้สินเชื่อและลงทุนในโครงการต่าง ๆ ภายใต้ทุนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนจากประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในกรณีที่มีความต้องการความช่วยเหลือด้านเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ADB และการดำเนินการในครั้งนี้ไม่ส่งผลให้ประเทศไทยต้องชำระเงินทุนเพิ่มเติม ไม่เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศไทย
17. เรื่อง ขอความเห็นชอบการต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) แบบไม่มีกำหนด
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ดังนี้
1. การต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) แบบไม่มีกำหนด
2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ซึ่งกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ลงนามในหนังสือการต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG แบบไม่มีกำหนด
สาระสำคัญของเรื่อง
1. APG เป็นองค์กรเครือข่ายระดับภูมิภาคของ FATF จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 มีสมาชิกทั้งหมด 42 ประเทศ มีภารกิจหลักในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนี้
(1) ประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของประเทศสมาชิก
(2) ประสานงานด้านความช่วยเหลือทางวิชาการและการฝึกอบรมให้กับประเทศสมาชิก
(3) วิจัยและวิเคราะห์เกี่ยวกับวิธีการ และแนวโน้มการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
(4) มีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทั้งในเครือข่ายระดับภูมิภาคของ FATF ทั่วโลก และคณะทำงานและการประชุมใหญ่ประจำปีของ FATF
(5) ร่วมมือกับสถาบันการเงินและนอกภาคการเงิน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรศูนย์ฝึกอบรม และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเสริมสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
2. ประเทศไทย (ไทย) ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ APG ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 และได้มีการต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG ไปอีก 8 ปี (ถึงเดือนธันวาคม 2571) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ไทยในฐานะประเทศสมาชิกของ APG มีพันธกรณีที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของ FATF ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ตามรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลมาแล้ว 3 ครั้ง (ปี 2545 ปี 2550 และปี 2560) มีผลการประเมินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันไทยมีผลการประเมินด้านกฎหมายสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 33 ข้อ จาก 40 ข้อ และด้านประสิทธิผล จำนวน 4 ด้าน จาก 11 ด้าน)
3. สำนักเลขาธิการ APG ได้แจ้งให้ประเทศสมาชิก APG ดำเนินการต่ออายุ กรอบข้อบังคับของ APG แบบไม่มีกำหนด แทนการต่ออายุออกไปอีก 8 ปี ซึ่งเป็นไปตามมติ ที่ประชุมประจำปีของ APG เมื่อเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้งยืนยันการต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG แบบไม่มีกำหนด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2568
4. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering: APG) แบบไม่มีกำหนด แทนการต่ออายุทุก ๆ 8 ปี ตามมติที่ประชุมประจำปี ของ APG เมื่อเดือนกันยายน 2567 และเห็นชอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ซึ่งกำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ลงนามในหนังสือการต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG แบบไม่มีกำหนด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องต่อกรอบข้อบังคับฯ รวมทั้งมีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรอบข้อบังคับฯ มิได้มีการใช้ถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ กรณีจึงไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง
18. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the 28th ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มาเลเซียและจีนได้กำหนดจัดการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 28 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี โดยที่ประชุมจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีเนื้อหาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเงินของภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค และเตรียมรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนทั่วภูมิภาค อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการออกมาตรการเชิงรุกภายใต้กลไกความช่วยเหลือทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน+3 อย่างต่อเนื่อง เช่น RFA การเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM เป็นต้น นอกจากนี้ การพัฒนาตลาดพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่น ตลอดจนมาตรการริเริ่มใหม่ ๆ จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ได้อย่างมั่นคง
แต่งตั้ง
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพลช หุตะเจริญ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการเศรษฐกิจ) สูง] สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ตำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นางสาวดารินทร์ อารีย์โชคชัย นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2569
2. นางสาวทัศนีย์ กุลจนะพงศ์พันธ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมสาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายมงคล ตรีกิจจานนท์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 470,000 บาท รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปแบบที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ จำนวน 3 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเติมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้ 1. นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท 2. รองศาสตราจารย์สุวดี ทองสุกปลั่ง หรรษาสุขสิน 3. นางสาวหทัยทิพย์ เหลืองธนพลกุล
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
24. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จำนวน 6 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้
1. ศาสตราจารย์กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
2. รองศาสตราจารย์ประทีป ด้วงแค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสัตว์ป่า
3. นายบริพัตร ศิริอรุณรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสัตว์ป่า (ผู้แทนภาคประชาสังคม)
4. นายมนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้แทนภาคประชาสังคม)
5. นายประสิทธิ์ หมีดเส็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชน (ผู้แทนภาคประชาสังคม)
6. นายปรีชา สุขเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชน (ผู้แทนภาคประชาสังคม)
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี