ถามจุกๆ 5 ข้อ! ‘หมอวี’ผิดหวัง‘เลขา สปสช.’แจงไม่เคลียร์ งบ‘บัตรทอง’ 2 แสนล้าน ไร้คำตอบทำไม‘โรงพยาบาล’ขาดทุน ‘บุคลากร’ถูกลืม
30 เมษายน 2568 นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Veerapun Suvannamai ระบุว่า...
ผมผิดหวังกับคำตอบของท่านเลขา สปสช อย่างยิ่ง !
หลังจากรออย่างใจจดใจจ่อมา 1 สัปดาห์ ที่ท่านรองเลขารับปากจะชี้แจงให้ละเอียด
“แถลงตัวเลขงาม แต่คำถามสำคัญกลับไม่ยอมตอบ”
งบเกือบ 2 แสนล้านของบัตรทอง
ใช้อย่างไร?
โรงพยาบาลยังขาดทุนได้อย่างไร?
เมื่อ สปสช. แถลงผลดำเนินงานกองทุนบัตรทอง ปี 2567 ดูเหมือนตัวเลขจะสวยงาม
• มีคนใช้สิทธิบัตรทอง 47 ล้านคน
• บริการผู้ป่วยนอก 176 ล้านครั้ง เกินเป้า
• บริการผู้ป่วยใน 6.9 ล้านครั้ง เกินเป้า
• บริการเฉพาะทาง เช่น ไต เบาหวาน เอดส์ จิตเวช ฯลฯ ก็เกินเป้า
แต่…สังคมยังไม่ได้คำตอบในประเด็นสำคัญ
1. ตัวเลขความสำเร็จเหล่านี้ ไม่ใช่ผลงานของ สปสช แต่คือผลงานของ “หน่วยบริการ”
โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐ เอกชน รวมถึงรพ.มหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ และ อปท.
โดยเฉพาะรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือผู้ทำงานจริง
ต้องรับความเสี่ยง ใช้งบจำกัด รับคนไข้มากขึ้นแต่ได้งบเท่าเดิม
งบเหมาจ่ายรายหัว 3,472 บาทต่อหัวต่อปี เพียงพอไหม? ไม่เคยมีคำตอบชัดเจน
2. ทำไม “โรงพยาบาลยังขาดทุน”?
ขณะที่ สปสช.โชว์ตัวเลขผลงาน แต่หลายโรงพยาบาลต้องกู้เงิน
บางแห่งจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรล่าช้า หนี้สะสมพุ่ง
งบเพิ่มขึ้นรวม 6.6%
แต่ไม่ได้บอกเลยว่า “งบที่เพิ่มขึ้น” จ่ายถึงหน่วยบริการอย่างไร?
3. งบกลางใช้ไปไหน? ไม่เคยแถลง
ในแต่ละปีมี “งบกลาง” ที่ควรใช้ช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน เช่น พื้นที่กันดาร เครื่องมือแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยบริการขาดทุนหนัก
แต่ไม่เคยมีการเปิดเผยว่าใช้ไปอย่างไร โปร่งใสหรือไม่
4. หลักเกณฑ์การจัดสรรงบย่อยทั้ง 9 กองทุน ไม่เคยชัดเจน
สังคมถามมาตลอดว่า
• แต่ละกองทุนใช้งบเท่าไร?
• แบ่งอย่างไร? ตรวจสอบได้ไหม?
• หากเกินเป้า หน่วยบริการจะได้เงินเพิ่มหรือไม่?
คำถามนี้สะท้อนอยู่ในตารางของ สปสช. เอง (แนบในโพสต์)
เช่น กองทุนไตวายเพิ่มขึ้นเกือบ 30%
แต่ “ค่าตอบแทนหน่วยบริการ” ไม่เพิ่มตาม
ทำให้หน่วยบริการยิ่งทำงานดี ยิ่งขาดทุนหนัก
5. ประชาชนเข้ารับบริการมากขึ้น แต่ “บุคลากร” ยังถูกลืม
จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น
งานดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง งานป้องกันโรคในชุมชน
เจ้าหน้าที่ต้องทำมากขึ้น แต่ไม่มีค่าตอบแทนเพิ่ม
ระบบดูแลบุคลากรยังอ่อนแอ ทำให้เกิด “ภาวะหมดไฟ” ทั่วประเทศ
สรุป: แถลงตัวเลขไม่ตอบคำถามที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่อยากรู้
สิ่งที่สังคมต้องการไม่ใช่แค่ “ตัวเลขบริการเกินเป้า”
แต่คือคำตอบว่า
“งบเกือบ 2 แสนล้านของระบบบัตรทองถูกใช้ไปอย่างไร?”
“ทำไมโรงพยาบาลยังขาดทุน?”
“หน่วยบริการและบุคลากรที่เหนื่อยหนัก ได้รับอะไรตอบแทน?”
ถึงเวลาแล้วที่ สปสช. ต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใส และฟังเสียงจากคนในระบบอย่างจริงใจ
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย วุฒิสมาชิก
รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
ถามแทนบุคลกรสาธารณสุข
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี