ศาลรธน.ตีตกคำร้อง"วิโรจน์ นวลแข"อดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทย ปมอ้างวิธีพิจารณาศาลฎีกานักการเมืองละเมิดสิทธิฯ หลังพิพากษายกฟ้องทักษิณ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาในคดีที่ นายวิโรจน์ นวลแข ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ถูกร้อง ฟ้องผู้ร้องกับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลพิพากษาว่าผู้ร้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 8 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 และมาตรา 308 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 แต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และผู้ร้องเห็นว่า เมื่อศาลยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวในคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจถูกดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทำให้ผู้ร้องต้องตกอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาค้นหาความจริงที่แตกต่างจากการพิจารณาแบบทั่วไปและถูกพิพากษาให้มีความผิด จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 มาตรา 29 มาตรา 188 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง ขัดต่อกฎหมาย และหลักนิติธรรม ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ผู้ร้องกล่าวอ้างด้วยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 27 ทำให้ผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำของผู้ถูกร้อง โดยศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ส่วนที่กล่าวอ้างว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 นั้น เป็นการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิไว้ เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้อง ไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีนี้ของคณะตุลาการฯ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้น มาก่อน และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กับพวกถูกอัยการยื่นฟ้องในคดีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยมิชอบร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายทักษิณเป็นจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเมื่อปี 55 และเมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา สั่งจำคุกนายวิโรจน์ พร้อมพวกรวม 4 คนๆ ละ 18 ปี พร้อมสั่งชดใช้เป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท แต่นายทักษิณหลบหนีคดี ศาลจึงได้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี และจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งเมื่อ 30 ส.ค.62 ศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังโดยมีคำพิพากษายกฟ้องนายทักษิณ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี