ยังไม่เห็น ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่มีข่าวว่าจะผ่านครม.นั้น มีรายละเอียดที่แน่ชัดอย่างไร
แต่เห็นจากข่าวว่า โดยหลักการกฎหมายฉบับดังกล่าว จะแบ่งการจัดเก็บออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
ประเภทแรก สำหรับที่อยู่อาศัยหลังแรก ราคาไม่เกิน 50ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี
ประเภทที่สอง คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกษตรกรรม
ประเภทที่สาม คือ อุตสาหกรรม
และประเภทที่สี่ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และไม่ใช้ประโยชน์จะต้องเสียภาษีโดยมีอัตราเพดานสูงสุด และหากไม่ได้มีการทำประโยชน์ในปีที่ 4-6 จะเก็บเพิ่มอีกเท่าตัว
1) ดูตามนี้ แน่ใจว่า คนยากคนจน คงไม่ใช่กลุ่มคนที่จะต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้แน่นอน
เพราะถ้ามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ราคาเกิน 50 ล้านบาท ก็คงจะไม่ใช่คนยากจน
ก่อนหน้านี้ คนบางกลุ่มวาดภาพเสมือนว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นยักษ์มาร
กล่าวทำนองว่า ภาษีตัวนี้จะสูบเลือดสูบเนื้อคนจน ต้องยุติโดยทันที
ต้องเลิกอ้างคนจนแบบพล่อยๆ และพร่ำเพรื่อ
2) คนจนจริงๆ และคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่น่าจะต้องจ่ายภาษีตัวนี้
คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนส่วนน้อย แต่มีเสียงดัง มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
3) อันที่จริง คนส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นเจ้าของที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่ (ที่โฉนด)
งานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั่วประเทศ หากจำแนกตามขนาดการถือครอง เมื่อปีพ.ศ. 2555 พบว่า
ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่
ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่
ร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครอง มากกว่า 5 ไร่
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับคนอีกหลายล้านคนที่ไม่มีที่ดินอยู่ในครอบครองเลย!
ตรงกันข้าม ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในประเทศไทยกลับกระจุกตัวอยู่ในมือของคนแค่เพียงหยิบมือเดียว
เมื่อแบ่งสัดส่วนการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด5 กลุ่ม จะพบว่า
คนกลุ่มที่ 1 ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กับคนกลุ่มที่ 5ถือครองที่ดินมากที่สุด ห่างกัน 326 เท่า แสดงถึงความแตกต่างเรื่องที่ดินสูงมาก
“สัดส่วนกลุ่ม 20% สูงสุด มีการถือครองที่ดินราว 80% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด”
ผู้กำหนดนโยบาย อย่างนักการเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินและมีมูลค่าค่อนข้างสูง โดยจัดอยู่ในกลุ่ม 20% สูงสุด ถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 71 ไร่
ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค 0.89 ยืนยันว่ามีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมากในสังคมไทย
สะท้อนถึงความจำเป็นต้องเร่งให้จัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อกระตุ้นการกระจายการถือครองที่ดินออกมา
จะต้องมุ่งจัดเก็บจากคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ เป็นสำคัญ
4) ภาษีนี้ จะมาแทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเดิม ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ
และจะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล เปิดเผยว่า ในหลายประเทศแถวบ้านเราก็มีการจัดเก็บกันแล้ว (ไม่ต้องพูดถึงชาติตะวันตก) เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ (เก็บอัตราก้าวหน้าด้วย) ประเทศสิงคโปร์ (เก็บอัตราก้าวหน้าเช่นกัน) ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
5) ก่อนหน้านี้ เคยแสดงความเห็นท้วงติงไว้แล้วว่า
“หากพิจารณาเจตนามุ่งตรงที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเยอะๆ เกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็ควรจะปรับแก้ข้อยกเว้น เพื่อมิให้คนชั้นกลาง-คนทำงานที่เพิ่งมีบ้านหลังแรก-เกษตรกรในต่างจังหวัด ไม่มีที่ดินสะสมเป็นร้อยไร่พันไร่ ไม่มีบ้านราคาสิบล้านร้อยล้าน จะต้องมาจ่ายภาษีตัวนี้ เช่น ยกเว้นบ้านหลังแรก หรือเพิ่มมูลค่าบ้านที่ได้รับการยกเว้นให้สูงกว่า 1 ล้านบาท, ยกเว้นที่ดินการเกษตรพื้นที่กี่สิบไร่ก็ว่ากันไป มิให้ต้องจ่ายภาษีตัวนี้ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็ควรจะมุ่งไปจัดเก็บภาษีจากกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ ประเภทร้อยไร่พันไร่ คฤหาสน์ราคาหลายสิบหลายร้อยล้านบาท โดยอาจจะเก็บในอัตราก้าวหน้าด้วยซ้ำ เพื่อให้คายที่ดินออกจากการถือครอง นำไปสู่การกระจายทรัพยากรที่ดินต่อไป”
มาวันนี้ การปรับแก้ล่าสุด คนยากจนไม่น่าจะต้องจ่ายภาษีตัวนี้แน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น คนไม่จนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็จะได้ยกเว้นด้วย ซึ่งถือว่ายกเว้นให้มากโขแล้ว ที่ผ่านมากฎหมายประเภทนี้ในยุครัฐบาลนักการเมืองไม่เคยผลักดันสำเร็จเลย จึงขอให้ผ่านในยุคนี้ไปก่อนเถิด ส่วนจะกำหนดอัตราจัดเก็บจริงเท่าไหร่ รัฐบาลต่อไปก็สามารถทำได้ เพราะในกฎหมายกำหนดเป็นอัตราเพดานเอาไว้
แต่นักการเมืองในอนาคต ย่อมจะไม่สามารถอ้างว่าเหตุที่ไม่ยอมจัดเก็บ เพราะยังไม่มีกฎหมายได้อีก (อ้างเหตุอื่นก็อ้างๆไป จะได้รู้เช่นเห็นชาติกัน)
สำคัญ คือ เป้าหมายมิใช่จะรีดเอาเงินเยอะๆ จากคนทั่วไป แต่เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจากคนที่ถือครองที่ดินเอาไว้เยอะๆ พวกเศรษฐีที่ดินหรือกักตุนที่ดินไว้เก็งกำไร ประเภทถือครองทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลจริงๆ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี