ปัจจุบัน ปลานิล กลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย
มูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
ปริมาณผลผลิตกว่า 250,000 ตันต่อปี
มีพื้นที่เลี้ยงปลานิล 500,000 ไร่ ทั่วประเทศ
จำนวน 300,000 ฟาร์ม
สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผู้เกี่ยวข้องนับล้านคน
ขายตั้งแต่ตลาดสดในหมู่บ้าน ยันซูเปอร์มาร์เก็ตบนห้าง
บริโภคตั้งแต่ในครัวชาวบ้าน ยันภัตตาคารหรู
1. 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช
ในระยะแรก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ บริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ก่อนจะทรงให้ย้ายปลาลงเลี้ยงในบ่อดิน
หลังจากนั้น 5 เดือนเศษ ในบ่อเลี้ยงมีลูกปลาเล็กๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก
ทรงให้ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเป็น 6 บ่อ
1 กันยายน 2508 ทรงปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง
โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน
ทรงใส่พระทัยอย่างที่สุด
ผลปรากฏว่า ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตเร็วมาก มีขนาดเฉลี่ยถึง 178.8 กรัม ในระยะเวลา 6 เดือน
17 มีนาคม 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลาจากบ่อดินในพระตำหนักสวนจิตรลดา จำนวน 10,000 ตัว ขนาดความยาว 3-5 เซนติเมตร แก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ แจกจ่ายต่อ
พระราชทานชื่อว่า “ปลานิล”
หลังจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะไว้ ไปแจกจ่ายแก่ราษฎรอีกเป็นประจำทุกเดือน ส่วนกรมประมงก็ได้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก
สร้างความมั่นคงทางอาหาร แหล่งโปรตีน งานและอาชีพแก่ราษฎรไทย
2. การเลี้ยงปลานิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดมา
ข้อมูลจากงานวิจัย “การศึกษาห่วงโซ่คุณค่าเพื่อการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมปลานิล” ของ “กุลภา บุญชูวงศ์” ระบุว่า
ในปี 2526 มีจำนวนฟาร์มปลานิลที่มีผลผลิต 13,907 ฟาร์ม ในพื้นที่เลี้ยง 26,478 ไร่
ปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 300,840 ฟาร์ม ในพื้นที่ 439,854 ไร่
อัตราเพิ่มเฉลี่ยของจำนวนฟาร์ม 11.29% ต่อปี
อัตราเพิ่มเฉลี่ยของพื้นที่เลี้ยง 10.71% ต่อปี
ในช่วง 2526-2556 ผลผลิตก็มีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 12.25% ต่อปี
ปี 2526 มีผลผลิต 12,091 ตัน เพิ่มเป็น 197,595 ตัน ในปี 2556
เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 250,000 ตันต่อปี ในปัจจุบัน
3. ปัจจุบัน มีการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลานิลหลายรูปแบบ
ทั้งเลี้ยงในบ่อดิน และเลี้ยงในกระชัง
บ้างเลี้ยงไว้ขายในท้องถิ่น
บ้างขายส่งออกต่างประเทศก็มี
ปี 2558 ประเทศไทยส่งออกปลานิล 9,908 ตัน มูลค่า 717 ล้านบาท
ส่งไปขายสหรัฐ ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา
ในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกปลานิล กลับไปขายประเทศญี่ปุ่นด้วย 96 ตัน
4. ผลผลิตปลานิล 90% ยังบริโภคภายในประเทศ
ปี 2558 อัตราการบริโภคปลานิลของคนไทย ยังอยู่ที่ 2.59 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
การบริโภคปลานิลในประเทศส่วนใหญ่ บริโภคในรูปปลาสด นำมาปรุงเป็นอาหารบริโภคในครัวเรือน บางส่วนเป็นอาหารแปรรูป
ขณะที่การบริโภคสัตว์น้ำของไทยอยู่ที่ 31.78 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้บริโภคยังติดอยู่ที่กลิ่นปลานิล หรือปลานํ้าจืดมีกลิ่นโคลน และคิดว่าปลาทะเลมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า
สะท้อนว่า ยังมีศักยภาพเพิ่มได้อีกมาก หากมีการปรับปรุงเรื่องการเลี้ยงที่ไม่ให้มีกลิ่นโคลน ส่งเสริมการบริโภค เปลี่ยนค่านิยมและการรับรู้ของผู้บริโภคให้เข้าใจคุณค่าทางโภชนาการของปลาน้ำจืดที่ไม่ด้อยกว่าปลาทะเล ส่งเสริมให้มีการแปรรูปปลานิลในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น
5. ยิ่งกว่านั้น ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลยิ่งๆ ขึ้นไป ปัจจุบันมีปลานิลสายพันธุ์ใหม่ๆ 7 สายพันธุ์
แต่เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์แท้ พระองค์ยังทรงรักษาปลานิลสายพันธุ์แท้ ไว้ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยมีพระราชกระแสว่า ถ้าวันไหนหาปลานิลพันธุ์แท้ไม่ได้ ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดา
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี