เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ว่าจะต้องหนีออกจากเมือง ไปทำการเกษตรกันเสียหมด
เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ห้ามซื้ออะไรบริโภคหรือใช้สอย
เศรษฐกิจพอเพียง จะอยู่ในเมืองก็ได้ เป็นลูกจ้างก็ได้
เศรษฐกิจพอเพียง ดูทีวีได้ ดูถ่ายทอดฟุตบอลก็ได้ ตราบที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง
สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจที่จะใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือมีที่ดินเป็นของตนเองแล้วอยากจะหาแนวทางที่สามารถใช้ชีวิตพอเพียงได้อย่างมั่นคงยั่งยืน นั่นจึงมีโมเดล “เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่พ่อหลวงพระราชทานไว้เป็นแนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม นำไปใช้ได้จริงไม่เชย ไม่ตกยุคตกสมัย
เกษตรทฤษฎีใหม่ มิใช่ว่า จะต้องอยู่อย่างลำบากลำบน อยู่อย่างยากจน
แต่สามารถพัฒนายกระดับ จาก “พอมีพอกิน” สู่ “พอมีอันจะกิน” ได้ด้วย
1. ทฤษฎีใหม่ ออกแบบขึ้นมาบนพื้นฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียง
มีตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง จนถึงขั้นก้าวหน้า
สามารถต่อยอด ขยายผล ไปถึงระดับประเทศ
2. ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
เริ่มต้นที่ปัจเจกบุคคล มุ่งสร้างเสถียรภาพของการผลิต สร้างความมั่นคงอาหาร ชีวิตประจำวันก่อน
โดยให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10
พื้นที่ส่วนแรก ประมาณ 30% ให้ขุดสระน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ ได้ด้วย
พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนเพียงพอตลอดปี ตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้เบื้องต้น
พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
และพื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ เช่น กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด คอกปศุสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น
ในขั้นนี้ คือ การสร้างคุ้มภูมิกันให้ตนเองและครอบครัว มีเสถียรภาพและความมั่นคงพื้นฐาน พออยู่พอกิน
ในหลวงทรงคิดรายละเอียดไว้ด้วย เช่น
การผลิตข้าวไว้บริโภคภายในครอบครัวอย่างพอเพียงตลอดทั้งปี หากเกษตรกรครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกจำนวน 5-6 คน หากทำนาจำนวน 5 ไร่ จะมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค ตามสภาพการบริโภคข้าวเฉลี่ยของคนไทย หนึ่งคนบริโภคข้าวประมาณ 200 กิโลกรัม (20 ถังข้าวเปลือก) ต่อปี หากมีสมาชิกจำนวน 6 คน ปีหนึ่งบริโภคทั้งสิ้นประมาณ 1,200 กิโลกรัม (120 ถังข้าวเปลือก) การทำนา 5 ไร่ สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 1,750 กิโลกรัม (ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของประเทศไทยปี พ.ศ.2536/37 มีค่าประมาณ 350 กิโลกรัมต่อไร่
ดังนั้น พื้นที่ปลูก 5 ไร่ ผลผลิตที่ได้ คือ 5 คูณ 350 = 1,750 กิโลกรัม) ผลผลิตข้าวที่ได้สามารถมีเหลือเล็กน้อย แต่ถ้าการปลูกข้าวมีการดูแลรักษาอย่างดี อาจได้ผลผลิตถึง 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะทำให้มีข้าวเหลือไว้จำหน่ายด้วย เป็นต้น
3. ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง
เมื่อเกษตรกรสามารถปฏิบัติในที่ดินของตนแล้ว ขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจ ดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ ฯลฯ เช่น
เตรียมปัจจัยการผลิต เช่น เตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย และอื่นๆ ใช้เครื่องมือ
ร่วมกันได้ เกิดการประหยัด
ด้านการตลาด เพื่อให้ขายผลผลิตได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว การรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี สร้างอำนาจต่อรอง และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
ด้านชีวิตความเป็นอยู่ สวัสดิการ ชุมชน ก็สามารถดำเนินการได้อย่างดี หากมีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง
สามารถจัดระบบสวัสดิการสังคมของชุมชน ทั้งการศึกษา และสาธารณสุข
ในขั้นนี้ ภาครัฐควรจะเข้าไปเกื้อหนุนส่งเสริมให้มาก สามารถให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเกษตรให้มากกว่าการส่งเสริมการลงทุนเอกชนหรือบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็นการทำลานตากข้าว ยุ้งฉางข้าว หรือเครื่องสีข้าว เป็นต้น
การวางแผนในการจำหน่ายร่วมกันในรูปของกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร จะสามารถจำหน่ายได้ราคาดี เพราะอาจจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยที่การร่วมกลุ่มกันก็จะทำให้เกษตรกรมีพลังในการต่อรอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคาจากผู้ซื้อ
4.ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
เมื่อเกษตรกรแต่ละรายมีพออยู่พอกิน มีความมั่นคงในชีวิต
เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไปคือ การติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงินกับธนาคารหรือบริษัท ดำเนินการในลักษณะธุรกิจ การลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝ่ายธนาคารหรือบริษัท จะต้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน
เกษตรกรไม่ถูกกดราคาพืชผล มีตลาดแน่นอน หรือรวมกันซื้อของใช้จำเป็นจากห้างร้านได้ราคาถูก
ห้างร้านก็ได้ค้าขาย อาจได้ร่วมวางแผนการพัฒนาสินค้า เป็นต้น
เป็นขั้นที่นำไปสู่ธุรกิจชุมชน
ตัวอย่างรูปธรรม เช่น กลุ่มเกษตรกรกับบริษัทห้างร้าน ตกลงร่วมกันในการทำสินค้าแปรรูปจากพืชผลการเกษตร อาทิ ข้าวถุงชุมชน กล้วยตากชุมชน พืชผลแปรรูป ส่งขายตามร้านค้าของฝ่ายธุรกิจ
5. สิ่งสำคัญ คือ การก้าวเดินเป็นลำดับขั้น จะเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรจะมีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรอง มีหลักการจัดการพอคุ้มกันตัวเอง จึงสามารถขยับขึ้นมาสู่สถานะ “พอมีอันจะกิน” ในที่สุด
แต่ถ้าก้าวกระโดด เช่น ยังไม่สามารถพอมีพอกิน ยังไม่มีภูมิคุ้มกันตนเอง แล้วกระโดดไปทำธุรกิจเลย ก็จะมีความเสี่ยงสูง ไม่สอดคล้องกับแนวทางทฤษฎีใหม่ของในหลวง
ถ้าจะทำได้ ภาครัฐต้องช่วยเป็นเสาหลัก ค้ำยันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับธุรกิจที่เข้าไปต่อยอดสหกรณ์การเกษตรในชุมชนต่างๆ เป็นต้น แล้วต้องเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการจัดการของกลุ่มเกษตรกร เพื่อมิให้เสียเปรียบบริษัทเอกชน
6. เกษตรไทยอาจมีข้อจำกัดที่จะใช้ทฤษฎีใหม่บ้าง ตรงที่เกษตรกรจำนวนมาก ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และติดกับดักอยู่ในวงจรหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ
แต่นั่นใช่ว่าจะหาจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตไม่ได้
เพราะเกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อย ก็สามารถพลิกสถานการณ์ชีวิต หันเหจากเกษตรเชิงเดี่ยว และความฟุ้งเฟ้อ โดยใช้เกษตรผสมผสาน ตลอดจนทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ กระทั่งชีวิตพบกับความสุขที่แท้จริง
สำคัญ คือ ตัวเกษตรกรจะต้องเริ่มจากความมุ่งมั่นแท้จริงของตนเอง หรือ “ระเบิดจากข้างใน”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี