เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยจะเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น โดยสมาคมโซกะ กักไก กลับมีบทบาทเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและรัฐสภาอย่างใกล้ชิด
ออร์แลนโด บลูม ได้เข้าเป็นสมาชิกโซกะ กักไก (บางครั้งเรียกว่า โซคา งักไก) หรือ สมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International) เช่นเดียวกับ ทีน่า เทอร์เนอร์ราชินีร็อกแอนด์โรล ที่เธอเคยเจอมรสุมชีวิต แต่ในที่สุดเธอก็ฝ่าฟันอุปสรรคได้ด้วยศรัทธาและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
โซกะ กักไก ก่อตั้งโดย จึเนะซาบุโร่ มาคิงุจิ ในพ.ศ.2473มีรากฐานจาก นิกายนิชิเรน โชชู หนึ่งในนิกายพุทธที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น นิชิเรน โชชู เป็นนิกายที่แยกออกมาจากนิกายมหายาน
แนวคิดที่เป็นหลักในการเผยแพร่คำสอนโซกะ กักไก คือ การรักษาสันติภาพในสังคม ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ร่วมกับการสวดมนต์ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างความสุขให้มวลมนุษยชาติด้วยการส่งเสริมกิจกรรมด้านสันติภาพ วัฒนธรรมและการศึกษา เชื่อว่าปุถุชนสามารถเข้าถึงการรู้แจ้งและเปิดสภาพชีวิตพุทธะในตนเอง การเผยแพร่คำสอนของโซกะ กักไก นอกจากแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการเผยแพร่ไปยังประเทศอื่น ทำให้ในแต่ละปีมีจำนวนผู้คนนับถือเพิ่มขึ้น ในปีพ.ศ.2558 มีสมาชิกมากกว่า 12 ล้านคน ใน 192 ประเทศ และเขตแคว้น
โซกะ กักไก เริ่มเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2504 ในปีพ.ศ.2527 จดทะเบียนเป็น “สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย” หรือ Soka Gakkai Thailand (SGT)มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพแก่โลก ปีพ.ศ.2559 มีสำนักงานใหญ่และสาขารวม 8 แห่งทั่วประเทศ บทสวดโซกะ กักไก ที่อาจมีหลายคนคุ้นหู คือ นัมเมียวโฮเร็งเงเคียว (nammyohorengekyo)” แปลว่า “ขอนอบน้อมแด่พระสัทธรรมบุณฑริกสูตร” หรือพระสูตรว่าด้วยบัวขาวแห่งธรรมอันล้ำเลิศ เป็นพระสูตรสำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เชื่อว่า จะพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นห้วงวัฏสงสารได้ มีหลักสำคัญ 2 เรื่อง คือ (1) ชีวิตของเรานั้นมีอยู่ตลอดกาลและ (2)มนุษย์แต่ละคนมีพุทธภาวะ (ชีวิตพุทธะ) ที่สูงส่งอยู่ภายในชีวิตทุกคน
โซกะ กักไก นับได้ว่าเป็นสมาคมชาวพุทธญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่ถือว่ามีอิทธิพลมากในระดับนานาชาติ นอกเหนือจากโซกะ
กักไก สมาคมที่ถือว่ามีอิทธิพลเช่นเดียวกัน และมีรากฐานจากนิกายนิชิเรน คือ สมาคมเรยูไกนานาชาติ (Reiyukai International) คำว่า “เรยูไก” หมายถึง “สมาคมมิตรภาพทางจิตใจ” มีบทบาทด้านการศึกษา การพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์ และการพัฒนาสังคม
มีนักวิชาการกล่าวไว้ว่า ศาสนาพุทธใหม่ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมีเพื่อเยียวยาจิตใจของคนที่ได้รับผลกระทบทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และมักจะมีคำสอนที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และนำไปเป็นแนวทางค้นหาคำตอบทางด้านจิตใจของตนเอง เกือบทุกนิกายจะโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ทั้งด้านวัตถุและจิตใจที่จะได้รับ เมื่อปฏิบัติตามคำสอนนิกายนั้นๆ ทั้งศูนย์ที่ตั้งเพื่อเผยแพร่คำสอน มีผู้นำที่ดูน่าเชื่อถือเพื่อให้สมาชิกเกิดศรัทธายกย่อง ประทับใจและยินดีบริจาคเงิน เพื่อการเผยแพร่นิกายนั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพื่อกระชับสัมพันธภาพระหว่างสมาชิก และเป็นการเชื้อเชิญสมาชิกใหม่
ย้อนไปปี พ.ศ.2515 สมาคมสร้างคุณค่าสากลฝ่ายยุวชนชาย-หญิงได้เคลื่อนไหวรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม มีการจัดตั้ง “สมัชชายุวชนปกป้องสิทธิในการดำรงชีวิต” ภายหลังพัฒนาเป็น “สมัชชายุวชนโซกะเพื่อสันติภาพ” รวมถึงการเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อ 10 ล้านคน เพื่อต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ และเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ได้ยื่นรายชื่อต่อสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ
โซกะ กักไก ยังมีบทบาทในการแก้ปัญหาระดับโลกในฐานะ “องค์กรพัฒนาเอกชน” หรือเอ็นจีโอ Non-governmental Organization (NGO) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ เช่น ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
การลดอาวุธนิวเคลียร์
ในญี่ปุ่นเองมีการสร้างสถาบันต่างๆภายใต้กลุ่มโซกะ กักไกเช่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม สมาคมดนตรีสื่อหนังสือพิมพ์
นอกจากนี้ โซกะ กักไก ยังมีบทบาทการเมืองเพราะนายไดซะกุ อิเกะดะ อดีตประธานโซกะ กักไก เป็นผู้ก่อตั้ง พรรคโคเมโตะ (Komeito) ในพ.ศ.2503 นำวิธีสายกลางตามหลักศาสนามาใช้ นโยบายสำคัญของพรรค คือทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมอุดมคติตามแบบพุทธนิกายนิชิเรน เป็นพรรคของประชาชนทุกกลุ่ม (Mass Party) สร้างความสามัคคีในชาติ เรียกร้องรัฐบาลมีความสุจริต สร้างสันติสุขและเสรีภาพ รวมถึงต่อต้านการเสริมสร้างอาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ โคเมโตะซึ่งเป็นพรรคศาสนายังมีโอกาสเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลญี่ปุ่น และสมาชิกพรรคมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว
โซกะ กักไก สอนให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทุกคนปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สมาชิกจึงเชื่อว่า การไปลงคะแนนเสียง ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ต้องทำเพื่อสังคม ทำให้สมาชิกไม่เพียงไปลงคะแนนเอง ยังโน้มน้าวบุคคลอื่นไปลงคะแนนด้วย เป็นการสอนให้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง
ที่ผ่านมาถือได้ว่า มีแต่ญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวที่พุทธศาสนาได้สนับสนุนพรรคการเมืองจนได้จัดตั้งรัฐบาลส่วนประเทศอื่นยังไม่มีเหตุการณ์นี้ ซึ่งคงต้องติดตามศึกษากันต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี