ในสังคมไทยนั้น เมื่อข้าราชการมีอำนาจก็สามารถใช้ความเห็นของตนเองชี้เป็นชี้ตายได้ หรือให้ประโยชน์กับพวกพ้องน้องพี่ได้อย่างง่ายๆ แม้กฎหมายหรือระเบียบราชการจะมีห้ามไว้อย่างชัดเจน แต่สุดท้ายก็มักจะมีคำว่า “ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจและมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจสั่งการได้”
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า ดุลพินิจ ใช้ว่าดุลยพินิจก็ได้ ถ้าใช้แบบมีตัว “ย”ด้วย ก็อ่านว่า ดุน-ยะ-พิ-นิด คำว่า ดุลยพินิจประกอบด้วยคำว่า ดุลกับพินิจ..ดุล แปลว่า เท่ากัน เสมอกัน เท่าเทียมกัน พินิจ แปลว่า การพิจารณา ดุลยพินิจ จึงมีความหมายว่า การวินิจฉัยที่สมควร การพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม คำว่า ดุลยพินิจ ใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรมในการตัดสิน เช่น ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจพิจารณาหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยเสนอ แล้วจึงตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรม มีหลักการพิจารณาแต่ละขั้น เป็นขั้นเป็นตอน มีระบบบันทึกเป็นหลักฐานเก็บไว้ที่เปิดเผยให้ประชาชนทุกคนสามารถอ่านและเข้าใจยอมรับในผลการวินิจฉัยของศาลซึ่งเป็นการตัวอย่างการใช้ดุลยพินิจที่ดี
แต่ก็มีตัวอย่างที่เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ดีของผู้มีอำนาจตามระเบียบข้อบังคับต่างๆของข้าราชการ เช่น ตำรวจจราจรสามารถใช้ดุลยพินิจ ประเมินว่ารถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์คันใดไม่ปลอดภัยต่อการนำมาใช้บนถนน ผู้ขับรถบรรทุกมักจะได้ข้อหาแบบแปลกๆ เช่น แหนบหย่อน เป็นต้น หรือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถจะใช้ดุลยพินิจ อนุมัติการก่อสร้างบางชนิดที่ทั่วไปห้ามก่อสร้างให้ ก่อสร้างได้เป็นพิเศษ ในยุคที่รัฐมนตรีไทยมีอำนาจเหนือ ผู้ว่าฯกทม. ที่ดินของรัฐมนตรีท่านหนึ่งสามารถสร้างปั๊มน้ำมันได้ตรงสามแยกและสร้างอยู่ติดโรงพยาบาลที่อยู่ตรงข้ามฝั่งถนนแคบๆได้เลย
อีกตัวอย่างที่เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ดี คือการใช้ดุลยพินิจในการเสนอแต่งตั้งข้าราชการ โดยอ้างความเหมาะสมเหนือกว่ากฎเกณฑ์ที่มีไว้กว้างๆ ก่อให้เกิดระบบการซื้อขายตำแหน่ง อันเป็นความเลวร้ายที่สุดของระบบราชการ ข้าราชการบางพวกอ้างการใช้ดุลยพินิจว่าไม่ได้มีการตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง แต่ใช้การตอบแทนกันไปมาในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก็ร้ายแรงพอๆ กันกับการทุจริตซื้อขายตำแหน่งด้วยเงิน
ปัญหาระบบอุปถัมภ์นี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้เมื่อ 7 ตุลาคม 2559 ในงานเสวนาเชิงวิชาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติหัวข้อ “คอร์รัปชัน….หายนะประเทศไทย” ว่า
“...สิ่งที่ยากมากคือระบบอุปถัมภ์ ผมคิดไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร หากบอกว่าคนไทยช่วยเหลือคนผิด มันก็จริง ซึ่งเขาก็ต้องตอบแทนบุญคุณ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูก มันจึงเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่เราต้องมานั่งช่วยกันคิดว่าเขาต้องแยกให้ออกว่าอะไรควรจะอุปถัมภ์ ได้ หรือ ไม่ได้”
กรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ฯของ สนช.ได้ตอบสนองโดยเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ
แนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม และเสนอว่าสำหรับเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจจะต้องปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.) ให้มีความเป็นกลางและอิสระจากการถูกครอบงำของฝ่ายการเมืองหรือโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตลอดจนให้เป็นองค์กรในการรักษากฎกติกาในการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม นอกจากนี้จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้มีความเหมาะสมชัดเจน โปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง อันนำไปสู่การทุจริตต่อหน้าที่
และได้เสนออีกว่า สำหรับส่วนราชการอื่นๆ จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อใช้ในระบบการบริหารงานบุคคล โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตในการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการผู้พิจารณาต้องบันทึกเหตุผลในการใช้ดุลพินิจแต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนด้วย
ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธาน ป.ป.ช. เป็นประธาน ก็มีคณะกรรมการวิสามัญ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานกรณีศึกษาเรื่องเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐใช้ดุลยพินิจเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่จนสามารถหลบเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐสูญรายได้ที่ควรเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท
ท้ายสุดคือ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตฯ ที่มีผมเป็นประธาน ก็ได้นำเสนอว่ามีความสนใจจะศึกษา จัดรวบรวมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการใช้ดุลยพินิจโดยทุจริต หรือบกพร่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยราชการที่มีการจัดเก็บรายได้หรือที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหรือการกำกับดูแลภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่อาจเลือกประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่นอันจะทำให้ราชการได้รับความเสียหายเพราะเห็นว่าเป็นต้นเหตุร่วมของทุกกรณีของการคอร์รัปชันในประเทศไทย
อนุกรรมการป้องกันฯ คตช.มีหลักคิดใหญ่ๆว่าสิ่งแรกที่จะต้องนำมาใช้ ก็คือมาตรการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันเป็นหลักธรรมาภิบาลเบื้องต้นที่หน่วยราชการต้องมีและต้องใช้เป็นหลักยึดที่สำคัญ ผู้ใดใช้อำนาจดุลยพินิจในเรื่องใดก็จะต้องสามารถบันทึกว่าเหตุใดและใช้หลักการใดจึงได้ออกมาสู่การตัดสินใจสั่งการหรืออนุมัติ และต้องใช้ควบคู่กับการเผยแพร่โดยทันที เมื่อได้สั่งการหรืออนุมัติเรื่องใดไปแล้ว คำอธิบายหรือคำประกอบการวินิจฉัยสั่งการไปนั้นต้องนำเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ในทันที และต้องอยู่ในรูปแบบฟอร์มข้อมูลแบบ Open data ที่อยู่ในระบบกลางของสำนักงาน รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
อันที่จริงแล้วการเปิดเผยข้อมูลลักษณะนี้ ได้บังคับใช้อยู่แล้วตั้งแต่ ปลายปี 2558 ตามพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการซึ่งเป็นตัวอย่างกฎหมายที่จะมีผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่สามารถลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และต้องมีคู่มือบริการที่ชัดเจนออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้รับทราบหลังจากที่ได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้บังคับให้หน่วยราชการต่างๆต้องเปิดเผยขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาที่ต้องใช้ในการออกใบอนุญาตต่างๆ ปรากฏพบว่า มีหน่วยงานของรัฐถึง 4 หมื่นแห่ง ที่มีอำนาจออกใบอนุญาตในเรื่องต่างๆมากมายอยู่ถึงกว่า 9 หมื่นเรื่อง
เรื่องนี้ต้องขอบคุณองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) ที่ช่วยกันผลักดันให้กฎหมายอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตฉบับนี้ออกมา ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ใครเลยจะทราบว่ามีใบอนุญาตราชการอยู่มากมายโดยไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ขั้นต่อไปจะต้องอาศัยใช้กฎหมายเพื่อชำระล้างกฎหมายเก่าที่รกรุงรังซ้ำซ้อน หรือไร้ประโยชน์ ที่มีชื่อว่า “พระราชกฤษฎีกา การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย”
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเรายังมีปัญหาในเรื่องการใช้ดุลยพินิจอย่างถูกต้องทำนองธรรมอยู่ทุกหัวระแหง จึงขอเสนอให้ทุกองค์กรที่กำลังแก้ไขปัญหาการใช้ดุลยพินิจอย่างทุจริตนี้ได้ช่วยร่วมกันผลักดันมาตรการเหล่านี้ให้ได้ออกมาใช้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนะครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี