ปกติเมื่อได้ยินเกี่ยวกับทวีปแอฟริกา ใครๆ ก็มักจะเห็นแต่ภาพของความยากจน แห้งแล้ง บ้านเมืองยุ่งเหยิง รวมทั้งเต็มไปด้วยผู้นำประเทศต่างๆ ที่นิยมเผด็จการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีหลายประเทศในทวีปนี้ที่สามารถหลุดพ้นจากสภาพสภาวะอันหดหู่ดังกล่าว และก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย สังคมมีความมั่นคง เสถียรภาพ และมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ
กลุ่มประเทศที่กำลังเริ่มต้นก้าวออกจากสภาพและกรอบความลำบากดั้งเดิม ก็คือกลุ่มประเทศในภาคตะวันตกของแอฟริกา ที่อยู่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีอยู่ 17 ประเทศ โดย 15 ประเทศ ได้รวมตัวกันเป็นสมาชิกองค์การร่วมมือเศรษฐกิจของรัฐประเทศแอฟริกาตะวันตก (Economic Cooperation of West-African States – ECOWAS) ซึ่งมีสำนักงานกลางอยู่ที่กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย
การรวมตัวขององค์การภูมิภาคนี้ มีความเป็นพิเศษที่ไม่เหมือนกลุ่มใดๆในโลกนี้ นั่นคือ นอกจากจะเป็นองค์การร่วมมือกันเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังร่วมมือกันทางด้านการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้วย โดยการจัดตั้งกองกำลังร่วมรักษาสันติภาพ (Peace KeepingForces) เพื่อร่วมกันช่วยเหลือประเทศสมาชิกเมื่อมีปัญหาไร้เสถียรภาพและวิกฤตการณ์ เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ส่วนรวมเข้าช่วยเหลือและแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกหนึ่งใดก็ได้ เมื่อมีการตกลงร่วมกัน หรือเมื่อมีการร้องขอมาจากประเทศสมาชิกที่กำลังประสบปัญหาภายใน
แต่การเข้าแทรกแซงนี้ก็มิได้มีการใช้กันอย่างกว้างขวางพร่ำเพรื่อ เพราะหลักพื้นฐานที่ว่าด้วยการไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน (Non-Interference หรือ Non-Intervention) มักจะมีความสำคัญกว่า อีกทั้งผู้นำของประเทศแอฟริกาตะวันตกรุ่นแรกๆ ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ หรือฝรั่งเศส มักจะเป็นผู้นำแบบเผด็จการ ฉะนั้นจึงมีการยอมรับซึ่งกันและกัน ปล่อยให้ผู้นำนั้น ทำการตามอำเภอใจต่อประชาชนพลเมืองของตนได้แบบสะดวกโยธิน และแม้ว่าจะได้รับตำแหน่งที่มิใช่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจแล้ว คือมาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อครบเทอม ก็มักจะใช้อำนาจแก้กฎหมาย เพื่อจะเป็นผู้นำไปตลอดชีวิต
แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ความถาวร ความจีรังยั่งยืนนั้นไม่มี ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงต้องมี จะช้าจะเร็วก็ตาม
ในปัจจุบันนี้ บรรดาผู้นำเผด็จการในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเริ่มสูญพันธุ์ไปจากวงการเมือง ทำให้ผู้นำรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ต่างเคยเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกกดขี่มาก่อน เคยถูกตามล้างตามเช็ด ถูกกลั่นแกล้ง และถูกโกงเลือกตั้ง แต่ในที่สุดก็สามารถพลิกกลับมากุมชัยในการเลือกตั้งได้ และกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้จึงได้ร่วมกันตั้งมั่น มุ่งมั่นในการประคับประคองระบอบประชาธิปไตยร่วมกัน องค์การอีโควาสจึงสามารถเป็นองค์การที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง
ซึ่งก็มีเหตุการณ์ในประเทศ เดอะ แกมเบีย (The Gambia) เป็นกรณีพิสูจน์ความแข็งแกร่งในการร่วมมือกันของกลุ่มนี้ โดยเมื่อนายยาห์ยา จัมเมห์ (Yahya Jammeh) ผู้ที่เป็นแชมป์ผู้นำประเทศ ทั้งในฐานะนักเผด็จการ และนักชัยชนะเลือกตั้งมาเป็นเวลา 22 ปี ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่ผู้ท้าชิงคือ นายอดามา แบร์โรว (Adama Barrow) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 แล้วก็ทำท่าอิดเอื้อน จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยร้องขอให้มีการทบทวนนับคะแนนกันใหม่ ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับว่าสุจริตเที่ยงธรรมจากสังคม
เมื่อเป็นเช่นนี้ทางผู้นำองค์การอีโควาสก็ได้ประชุมกันและส่งตัวแทน อดีตประธานาธิบดีของมอริเชียส และกีนีไปเจรจาความเพื่อให้ นายยาห์ยา จัมเมห์ ยึดมั่น รับผลการเลือกตั้ง และให้ลงจากเวทีไป โดยอนุญาตให้ลี้ภัยในต่างแดน
ซึ่งเมื่อ นายยาห์ยา ยังคงไม่ตอบสนองข้อเสนอตกลง ทางองค์การอีโควาสก็เลยร่วมกันจัดส่งกองกำลังร่วมรักษาสันติภาพเข้าไปที่ประเทศ เดอะ แกมเบีย จนในที่สุดนายยาห์ยา จัมเมห์ จึงต้องยินยอมโดยดุษณี และเดินทางลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอีเควทอเรียลกินี และเปิดทางให้ผู้ชนะ นายอดามา แบร์โรว เข้ารับตำแหน่งและบริหารประเทศ โดยคำสั่งแรกคือ การจัดตั้งคณะกรรมการชาติเพื่อค้นหาความจริง และเพื่อความปรองดอง (Truth and Reconciliation) เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่าอะไรได้เกิดขึ้นช่วง 22 ปี ของการครองอำนาจของ นายยาห์ยา จัมเมห์ และจักได้จัดการเรื่องปรองดองกันต่อไป
เหตุการณ์นี้ สามารถนำมาเป็นข้อคิดเป็นบทเรียนให้กับองค์การร่วมมือภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประชาคมอาเซียนของเรา ที่มีกฎหมาย หรือธรรมนูญอาเซียนบัญญัติไว้ เรื่องสิทธิมนุษยชน และสังคมประชาธิปไตย แต่ก็มัวแต่ติดขัดทุกทีในการดำเนินการ เพราะหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้หมายความว่าต่างต้องนิ่งเฉยหมด โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กดขี่ประชาชนอย่างแจ่มชัดโจ่งแจ้ง
โดยเฉพาะเมื่อทุกประเทศได้ตกลงกันแล้วว่า ประชาชนพลเมืองต้องมาก่อน ต้องเอาพลเมืองเป็นที่ตั้งผู้นำประชาคมอาเซียนก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของชาวอาเซียนก่อน มิใช่เกรงอกเกรงใจกันเอง ปิดหูปิดตาเกาหลังกันไปมา ทำท่ายิ้มแย้ม สนิทชิดเชื้อกัน แต่ขาดความนึกคิดถึงความถูกต้อง และคิดถึงประชาชนพลเมืองเจ้าของประชาคมอาเซียน
ในวันนี้ ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่เคยได้ถูกมองว่าล้าหลัง ได้ก้าวไกลไปแล้วในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตย ทั้งการมุ่งสู่สังคมประชาธิปไตยในแต่ละประเทศสมาชิก และการมุ่งเสริมสร้างรักษาให้ภูมิภาคเป็นภูมิภาคแห่งการเป็นประชาธิปไตยด้วย ซึ่งก็เริ่มได้จากบรรดาผู้นำประเทศที่ได้ผ่านการต่อสู้กับระบอบเผด็จการอย่างกล้าหาญ และเมื่อประสบผลสำเร็จได้รับชัยชนะ ก็มุ่งต่อไปในการเสริมสร้างประชาธิปไตย แล้วผู้นำในองค์การอื่นๆทั่วโลก โดยเฉพาะผู้นำประชาคมอาเซียนเล่า จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำตัวเป็นกระต่ายขาเดียวยืนอยู่บนหลักไม่แทรกแซงประเทศเพื่อนสมาชิกอย่างเดียว โดยไม่ต้องรับรู้ถึงหลักประชาธิปไตยที่ต่างได้ให้สัตยาบันกันไว้ และทำเป็นไม่สนใจหลักมนุษยธรรม เพื่ออยู่ๆร่วมกันไปอย่างนั้นหรือ?
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี