“บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี กว่า 11.4 ล้านคน ที่ลงทะเบียนไว้ งบประมาณปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สาละวนไปกับการจัดซื้อทั้งบัตร เครื่องรับบัตร อุปกรณ์ต่างๆ หรือแม้แต่การออกแอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ ทำให้รัฐต้องเสียตังค์กับเรื่องพวกนี้ไม่ใช่น้อย อย่างการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) และกล่องเก็บค่าโดยสาร (Cash Box) บนรถเมล์ ก็เสียเงินไปแล้วถึง 1,665 ล้านบาท เพื่อรองรับการอ่านบัตรคนจน แต่ก็ยังใช้ไม่ได้จนถึงตอนนี้
แทนที่จะเสียเงินโดยไม่จำเป็น มีแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้มีอำนาจลองพิจารณาดู คือวิธีการโอนเงินตรงเข้าบัญชีประชาชนไปเลย จัดทำระบบ Negative income Tax หรือ NIT ให้ผู้มีรายได้น้อยมายื่นแบบแสดงภาษีกับกรมสรรพากร แทนที่ยื่นแบบภาษีแล้วต้องเสียเงิน กลายเป็นได้เงินจากรัฐแทน หากรายได้น้อยเข้าเกณฑ์เป็น “คนจน”
ข้อดีคือ ดึงผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ระบบที่รัฐตรวจสอบได้รายปี ข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูล “เป็น” มีความเคลื่อนไหวชัดเจน หากปีไหนผู้มีรายได้น้อยมีรายรับ ได้รับการจ้างงาน มีรายได้เพิ่มขึ้นจนหลุดพ้นเกณฑ์ความยากจน รัฐก็สามารถระงับการช่วยเหลือในปีนั้นได้ แล้วยังช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีข้อมูลทางการเงินที่เป็นระบบ เพราะโอนเข้า “บัญชีธนาคาร” หากรู้จักบันทึกทำบัญชีครัวเรือนดีๆ ก็ทำให้มีเครดิตกู้เงินธนาคารได้อีก ไม่ต้องหนีไปกู้หนี้นอกระบบ กลับกันระบบการลงทะเบียนบัตรคนจนที่ทำกันอยู่ตอนนี้เป็นข้อมูล “ตาย” ไม่สามารถอัพเดทรายได้ รับรู้แค่ว่าแจ้งว่าเป็นคนจน
ผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปีจำนวน 11.4 ล้านคน โดยในจำนวนนั้น มีผู้มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ถึง 8.4 ล้านคน รายได้ปีละ 3 หมื่นบาท คือ 2,500 บาทต่อเดือน ถ้าไม่รวมค่าเช่าบ้าน หรือค่าอื่นๆ เอาแค่ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ตกแค่มื้อละ 27 บาทเท่านั้น ทุกวันนี้จะหาซื้อได้ที่ไหน
ลองนึกภาพตาม คนกลุ่มนี้ต้องเดินทางเข้าอำเภอไปซื้อสินค้าธงฟ้าประชารัฐที่อยู่ไกลออกไป มันไม่คุ้มเลยกับการเดินทาง ไม่น่าไปผูกขาดการใช้บัตรที่ต้องซื้อสินค้าเฉพาะจากร้านธงฟ้าประชารัฐ สินค้าในร้านส่วนใหญ่ก็ของเจ้าสัวเถ้าแก่ใหญ่ หลังๆ แก้เกี้ยวออกแอพพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” ทำ QR Code ให้ซื้อจากร้านค้าอื่นๆ ก็ได้ แต่ก็นั่นอีก คนจนมีเงินกินข้าวมื้อละไม่ถึง 27 บาท จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อสมาร์ทโฟนมาจ่ายเงินผ่าน QR Code
ผมเสนอ “โอนเงินสดตรง” เข้าบัญชีประชาชน สะท้อนความจริงมากกว่าการใช้จ่ายผ่าน “บัตรคนคน” อย่างที่ทำกันอยู่ รัฐบาลไม่ต้องมาสาละวนเปลืองงบประมาณไปกับค่าบัตร เครื่องรูดบัตร อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องมารองรับการใช้บัตรคนจน
ในทางเศรษฐศาสตร์ จ่ายเงินสดเข้าบัญชี ได้รอบหมุนของการบริโภคภายในประเทศมากกว่า และ GDP ก็โตมากกว่าด้วย เช่น ใช้เงินสดซื้อสินค้ากับรถเข็นหน้าบ้าน รถเข็นไปรับของจากร้านค้าในอำเภอ ร้านค้าในอำเภอ ก็ไปรับต่อจากจุดกระจายสินค้ามาอีกที แต่ที่ทำกันตอนนี้ รูดบัตรคนจนที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ เงินก็ดิ่งตรงกระเป๋าผู้ผลิตรายใหญ่ทันที รอบหมุนมันต่ำ การกระจายรายได้น้อยไป
ปัจจุบัน กรณีค่าเดินทาง บัตรคนจน ให้เครดิตเป็นค่าเดินทางรถเมล์ 500 รถไฟ 500 บขส. 500 ไม่ใช้ก็ถูกตัดยอดทุกเดือน ถามจริงมันช่วยค่าเดินทางได้จริงเหรอ ทุกวันนี้เครื่องรับบัตรบนรถเมล์ลงทุนไปตั้งเยอะยังอ่านบัตรไม่ได้เลย ผมว่าคำนวณแล้วจ่ายเป็นเงินค่าเดินทางไปเลยคุ้มกว่า ถึงตัวกว่า เค้าจะนั่งวิน เรือ ตุ๊กตุ๊ก เอาตามสะดวก
ฝากให้ผู้มีอำนาจคิดครับว่า หากตั้งใจจะช่วยประชาชนให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย คุ้มค่างบประมาณ เปลี่ยนประชานิยม หรือสังคมสงเคราะห์ สู่ “สวัสดิการสังคม” คนจนไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ลองศึกษาเรื่อง Negative income Tax ดูครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี