สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) คือ การให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีสินค้านำเข้าให้กับประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา หมายความว่าประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้จะได้รับการลดหย่อนภาษี ไม่ต้องเสียภาษีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนประเทศอื่นที่รวยแล้ว
สำหรับสหรัฐอเมริกาจะให้สิทธิกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งประเทศไทยอยู่ราว 6,000 กว่าเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับประโยชน์ด้วย โดยมีสินค้าได้รับสิทธิ์กว่า 3,400 รายการ เมื่อปีที่แล้ว
ภายหลังการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนมกราคม 2560 ก็เริ่มมีแนวนโยบายตั้งกำแพงภาษี ออกมาขู่ประเทศต่างๆ ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา และเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามียอดขาดดุลการค้ามากที่สุดถึง 57,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.89 ล้านล้านบาท มากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี จนเกิดเป็น “สงครามทางการค้า” สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 1,333 รายการ ถึงร้อยละ 25 ส่วนจีนก็ตอบโต้เก็บภาษีร้อยละ 25 จากสินค้าอเมริกา 128 รายการ เช่นกัน
สำหรับ “ประเทศไทย” ในฐานะหัวหน้ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้สิทธิ 27 ประเทศ (GSP Alliance) จะว่าไปแล้วก็ยังมีปัญหา เพราะความล่าช้าของฝ่ายสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าทั้งหมดถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และเพิ่งได้สิทธิกลับคืนมาเมื่อไม่กี่เดือนนี้เอง โดยต่ออายุไปจนถึงสิ้นปี 2563
พอเห็นแบบนี้ ความหนักใจของฝ่ายไทยน่าจะหมดไปแล้ว ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในรอบ 12 ปี ที่เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยการเจรจาซื้อเครื่องบิน Boeing 28 ลำ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2560 ที่ผ่านมา ก็น่าจะลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้พอสมควร โดยเฉพาะภาวะประเทศที่มีผู้นำทหารแบบนี้
แต่ปรากฏว่าผ่านไป 1 ปี มาถึงวันนี้ สหรัฐอเมริกาออกประกาศทบทวนและตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติม 15 ประเทศ แน่นอนว่า “ไทย” เป็นหนึ่งในนั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
คราวนี้สินค้าของประเทศไทย โดนไป 11 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง,มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม, มะละกอแปรรูป, แผ่นไม้ปูพื้น, เครื่องพิมพ์, เครื่องซักผ้า, ขาตั้งกล้องถ่ายรูป โดยสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่า สินค้าเหล่านี้นำเข้าเกินมูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 50 ตามเกณฑ์ว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (Competitive Need Limit : CNLs)
ผลที่เกิดขึ้น สินค้าเหล่านี้ต้องเสียภาษีนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาในอัตราปกติ ทำให้ไทยเสียประโยชน์ไปกว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยสูงถึงหรือ 1,510 ล้านบาท
ด้วยนโยบาย “America First Policy” นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คงทำให้สหรัฐอเมริกาประเมินสถานการณ์การค้าและเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่นโยบายกีดกันการค้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน แต่ประเทศไทยเราก็อยู่ในข่ายที่อาจถูกกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่ใช้สิทธิ GSP มูลค่าถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดียเท่านั้น เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 3 ของประเทศสหรัฐอเมริกา รองจากจีน และญี่ปุ่น
ต้องจับตาสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดครับ โดยเฉพาะการหารือกันระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ในการประชุมสุดยอด G20 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2561 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา น่าจะมีข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายได้ ลดบรรยากาศตึงเครียด ผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าในที่สุด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี