“พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2561 หลังจากใช้เวลาพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ นานถึง 19 เดือน สาระสำคัญและวิธีคิดก็ยังล้าหลังอยู่ดี
ผมเคยเห็นร่างฉบับนี้ตั้งแต่สมัยยังทำงานที่กระทรวงการคลัง มีความพยายามกว่า 20 ปี เพื่อแปลง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ให้มารวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียว ด้วยหลักคิดที่ว่า ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้ที่ดินถูกกระจุกถือครองโดยคนรวย เลยต้องรื้อกฎหมายใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น ขีดเส้นใต้ 500 ครั้ง “ทันสมัยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว”
คณะกรรมาธิการของ สนช.ใช้เวลาพิจารณากันอยู่นาน เกี่ยวกับเรื่องความเหมาะสมในการกำหนดอัตราภาษี เนื่องจากที่กำหนดไว้ทีแรกสูงไป แต่สุดท้ายก็ปรับลดอัตราลงมา โดยระบุให้จัดเก็บภาษี 4 ประเภท ได้แก่
1. ที่ดินเกษตรกรรม มูลค่า 0 - 75 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.01 ต่อปี , 75 - 100 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.03 ต่อปี , 100 - 500 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.05 ต่อปี
2. ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย บ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ฟรี ไม่เก็บภาษี แต่บ้านหลังต่อไปถ้ามูลค่า 0 - 50 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.02 ต่อปี , 50 - 75 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.03 ต่อปี , 75 - 100 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.05 ต่อปี, 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีร้อยละ 0.1 ต่อปี
3. ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมและการค้า มูลค่า 0 - 50 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.3 ต่อปี , 50 - 200 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.4 ต่อปี, 200 - 1,000 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.5 ต่อปี, 1,000 - 5,000 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.6 ต่อปี, 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีร้อยละ 0.7 ต่อปี
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดภาษีที่ร้อยละ 0.3 ของมูลค่าที่ดิน และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี ถ้าไม่ใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกำหนดเพดานภาษีไม่ให้เกินร้อยละ 3
เป็นการเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ใครมีที่ดินแพงจ่ายมาก มีที่ดินถูกจ่ายน้อย แต่ไม่สะท้อนความเป็นจริงของสถานะทางการเงินแท้จริงของเจ้าของที่ดิน เพราะคนจะรวยก็คือ “ตอนขาย” ไม่ใช้ตอนถือที่ดินอยู่ การคิดแบบนี้คือการบีบให้ขายที่ดินแปลงสวยๆ เพื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่มากกว่า
ตัวอย่าง “สมชาย” เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆแต่อยู่บ้านพ่อในทำเลทองมูลค่า 100 ล้านบาท ต่อมาพ่อตายได้มรดกเป็นบ้านที่ตนและพ่อเคยอยู่ (ตรงนี้สมชายต้องเสียภาษีมรดกที่เพิ่งออกใหม่ไปแล้ว 1 ครั้ง) คราวนี้สมชายต้องมาจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายภาษีที่ดินใหม่อีก “ปีละ” 20,000 บาท ฟังดูเหมือนจะแฟร์ว่าสมชายรวยแล้วอยู่บ้านหลังละร้อยล้าน แต่คิดดีๆสมชายรวยเงินในกระเป๋าจริงเหรอ? ผมว่าสมชายก็ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ดี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นว่าเค้าขายที่ดินได้เงินมาสิแบบนี้รวยจริง
“ภาษีที่ดินเป็นเงินที่ถูกเก็บเพื่อเอาไปพัฒนาท้องถิ่น” หากคิดให้ตรงประเด็นชัด “ที่ดินแปลงไหนเป็นภาระกับท้องถิ่นมาก ก็ควรเสียมาก” ซึ่งแนวคิดนี้ผมเคยเขียนบทความนำเสนอมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยยกวิธีคิดแบบ “คาร์บอนเครดิต” มาคิดด้วย คนอยู่ในบ้านมากน้อย ปริมาณขยะ น้ำเสียต่างๆ เหล่านี้ควรถูกนำมาคำนวณทั้งสิ้นแต่กฎหมายที่ดินฉบับใหม่นี้เค้าไม่คำนึงถึง “คาร์บอนเครดิต” คิดอยู่แต่ในมุมลดการถือครองที่ดินอย่างเดียว
หากใช้แนวทาง “คาร์บอนเครดิต สร้างภาระมากจ่ายมาก สร้างภาระน้อยจ่ายน้อย” จะเห็นความแตกต่างชัดเจน
กรณีที่ 1 ที่ดินว่างเปล่ากลายเป็นกองขยะ สร้างภาระให้ชุมชน ทำชาวบ้านเดือดร้อน และท้องถิ่นต้องมาเสียทั้งคนและงบประมาณแก้ไข ก็ต้องเก็บภาษีกับเจ้าของที่ดินให้หนัก
กรณีที่ 2 ที่ดินว่างเปล่ากลายเป็นสวน ให้คนมาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ แบบนี้เป็นประโยชน์ ต้องเก็บภาษีน้อยถึงจะถูก
กรณีที่ 3 ผลกระทบต่อผังเมืองและชุมชน อย่างเช่น บ้านไม้ชุมชนดั้งเดิมหลังเล็กๆ ริมทะเล แม้อยู่บนที่ดินแสนแพง แต่ไม่ได้กระทบกับทัศนียภาพ ไม่บังวิวที่ดินแปลงหลังๆ ที่อาจจะสร้างบ้านไล่เลียงลำดับแบ่งชมวิวทะเลกันได้ ไม่กระทบต่อชุมชน ก็น่าจะจ่ายภาษีน้อยกว่าพวกตึกสูงที่สร้างบดบังทัศนียภาพ
และถ้าจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น น่าจะมีส่วนลดภาษีให้กับเจ้าของที่ดินที่ปลูกพืชตามความต้องการของรัฐ เช่น ลดภาษีให้กับชาวนาที่งดปลูกข้าวนาปรังช่วงประเทศประสบภัยแล้ง หรือลดภาษีให้ชาวสวน ถ้าปลูกพืชอื่นทดแทนยางพาราที่ล้นตลาด ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับภาครัฐที่พยายามจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรม
เสียดาย! ไม่น่าไปคิดซับซ้อนมากนัก หลักการเดิมของกฎหมายเก่าว่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ก็ให้เสียภาษีโรงเรือนที่ต้องจ่ายมากกว่า ส่วนที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการพาณิชย์ ก็ให้เสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งจ่ายน้อยกว่า ก็น่าจะใช้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงเรื่องการประเมินมูลค่าที่ดินให้เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่เอาราคาประเมินภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2524 มาใช้ และเสริมเรื่องใหม่ลงไป อาทิ กำหนดมีส่วนลดโดยใช้หลักการเรื่องคาร์บอนเครดิต การปฏิบัติตามผังเมือง การปฏิบัติการตามการจัดระเบียบชุมชน หรือโซนนิ่งการเกษตร เป็นต้น
ที่ว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ล้าสมัย ก็เพราะว่าปัญหาปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่อง “ที่ดินกระจุก” ในมือคนรวยแล้วไม่ยอมพัฒนาที่ดินให้เต็มศักยภาพของทำเลที่ตั้ง แล้วจึงต้องออกกฎหมายมาเร่งให้เปลี่ยนมือ ให้คุ้มกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ เหมือนที่เคยคิดกันมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เทรนด์ปัญหามันเปลี่ยนไป มีเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำเสีย การกำจัดขยะ น้ำท่วมซ้ำซาก การจัดการผังเมือง ความหนาแน่นของประชากร เข้ามาเป็นตัวแปรด้วย วิธีจัดเก็บภาษีจึงต้องเข้ามาเครื่องมือสำคัญในการ “ยกระดับมาตรฐานชีวิต” ไม่ใช่เอาสะใจบนหลักการโบราณ
ทีนี้จะให้ทำอย่างไรเมื่อโครงสร้างหลักของกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ ทำตกยุคตั้งแต่แรกเริ่มเสียแล้ว ร่างฉบับนี้เค้าทิ้งไว้จนเปื่อยแล้ว ยังอุตส่าห์เอามาปัดฝุ่นอีก เสียดายที่รัฐบาลคิดใหม่ทำใหม่ไม่ได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี