แวบๆ ผ่านไปก็เดือนสุดท้ายของปีอีกรอบแล้วนะครับ 2561 กำลังจะหมดไป หลายคนเฝ้ารอว่าปี 2562 ประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะการเป็นปีที่จะมีเหตุการณ์สำคัญขึ้นในประเทศหลายๆ เหตุการณ์ และแน่นอนเรื่องที่จะใหญ่ที่สุดในปีหน้าคือเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
วันนี้บทความของเราคือการถอดคำบรรยายจากกิจกรรม “ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศไทย” โดย คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) แขกรับเชิญประจำคอลัมน์นี้ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาครับ ในงานนี้จัดโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีคณะผู้บริหารร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชน ชื่องานคือ “ใคร่ครวญ” แต่ความจริงคือการ “วิเคราะห์จุดอ่อนประเทศไทย แก้ไม่ได้ไปต่อยาก”
คุณบรรยง เริ่มด้วยประเด็นว่า… ไทยของเรานั้น…ติดกับดักการเติบโตร่วม 10 ปี !
เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีนซึ่งมีรายได้ประชากรต่อหัว 9,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ออกมาบอกประชาชนว่า ให้อดทน แต่ประเทศไทยที่มีรายได้ประชากรต่อหัว 6,600 ดอลลาร์สหรัฐ กลับมีการออกมาบอกว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดี สบายใจ เพราะเศรษฐกิจไทยจะโตในอัตรา 4% เป็นครั้งแรก หลังจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3% มาเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจเติบโตแค่ 3.3% ซึ่งชะลอตัวลงมาจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งรายละเอียดของการเติบโตเศรษฐกิจก็ยังมีข้อกังขา
สรุปประเทศไทยในทางเศรษฐกิจ ติดกับดับมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เศรษฐกิจก็ไม่ได้ขยายตัวดี เศรษฐกิจเติบโตเพียง 4-5% เท่านั้นเอง ถ้าเทียบกับที่เคยเติบโต 7% โดยเฉลี่ย มา 40 ปี ในช่วงปี 2500-2540 ซึ่งยุคนั้นมีการเรียกประเทศไทยว่า มหัศจรรย์ของเอเชีย หรือ Miracle of Asia
“ถามว่าที่เราเติบโตเฉลี่ยมา 3-4% มาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี มีการอัดฉีดเงินทุกด้าน ยังโตมาได้แค่ 4% อะไรคือปัญหา”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาด้วยกันเกือบทั้งโลก ยกเว้นประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจในช่วงนั้น ถ้าไปในอัตรานี้ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านไทย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราการเติบโตเกือบ 6% จะโตล้ำหน้าไทยไปชั่วชีวิตของเยาวชนรุ่นนี้
ถามว่าปัญหาคืออะไร ประเทศไทยมีปัญหาเยอะแยะมากมายเกือบทุกด้าน ที่ทำให้ประเทศเราขึ้นชื่อว่าเป็น “sick man of Asia คนป่วยของเอเชีย” ในการวิเคราะห์ทั่วไปจะเห็นปัญหาหนึ่ง คือ แก่ก่อนรวย คือการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่จะสร้างเสริมเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ปัญหาคือคนไทยมีอายุสูงพ้นวัยทำงาน ขณะที่ตัวประเทศไทยเพิ่งพัฒนามาได้ครึ่งเดียว คือ 6,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ตามเป้าหมายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมี 12,500 ดอลาร์ ประเทศไทยจะเอาทรัพยากรที่ไหนที่จะมาทำให้เติบโตต่อไปได้ ในเมื่อทรัพยากรมนุษย์ขาดแคลน การส่งเสริมให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี กว่าจะเพิ่มขึ้นได้
ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำสุดในโลก 1.4 ต่อผู้หญิง 1 คน ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มยุโรป สวีเดนยังสูง 1.7 แต่ประเทศไทยต้องอยู่กับปัญหานี้ ซึ่งยังแก้ไม่ได้ ต้องรับคนเข้ามาในประเทศ แต่คนที่ต้องการจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีคุณภาพที่จะเพิ่มผลิตภาพได้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำเกือบทั้งนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายที่จะชักจูงโน้มน้าวให้คนที่มีทักษะสูงเข้ามา เพราะคนที่มีทักษะสูงในประเทศกีดกันไว้ผ่านนโยบายต่างๆ โดยที่ไม่รู้ตัว
ปัญหาต่อไปคือ ด้านการศึกษา เป็นสิ่งที่พูดกันมา เป็นสิ่งที่รู้และยอมรับกันทั่วว่า การศึกษาล้มเหลว ไม่สามารถยกระดับบุคลากรของประเทศให้ขึ้นมามีคุณภาพพอที่จะเพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศขึ้นมาได้ ส่วนการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มวันนี้จะเห็นผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
และแน่นอน คุณบรรยงย้ำมาตลอดครับว่า… คอร์รัปชั่น คืออุปสรรคใหญ่ฝังรากลึก
ในด้านอุปสรรค อุปสรรคใหญ่ของไทยคือคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคม ระบาดไปทั่ว นอกจากจะเอาทรัพยากรไปแล้ว ยังทำให้นโยบายบิดเบือน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในทางวิชาการบอกว่า ถ้าคนโกงไป 1 ล้านบาทจะส่งผลลบต่อระบบทั้งระบบ 10 เท่า ไม่ใช่แค่ตัวเงินที่เอาไป แต่ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน ตัวอย่าง สมมุติให้พ่อค้าสามารถไปซื้อการผูกขาดมาได้ ไม่ว่าจะจ่ายเงินไป 1 พันล้านบาท 2 พันล้านบาท 3 พันล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่เขาได้กลับมาเป็นแสนล้านบาทจากการผูกขาด ซึ่งแสนล้านบาทเอาไปจากไหน ไปจากผู้บริโภคทั้งหลาย จากศักยภาพการแข่งขัน ทำให้ทุกอย่างบิดเบือนไปหมด
เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปซึ่งพูดกันมานานตั้งแต่ปี 2557 จะปฏิรูปไปไหน มีทิศทางอะไร รูปแบบเป็นอย่างไร ก็ชวนมองไปว่า เวลาพัฒนาไปแล้ว อย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรจะมีความสุขไปด้วย เพราะการกระจุกตัวไม่มาก มีทั้งความมั่งคั่งและการกระจายที่ทั่วถึง ก็พบว่ามีเงื่อนไข 3 อย่าง
หากไปดูดัชนีหรือตัววัด 3 อย่าง ประเทศที่อยู่อันดับต้นของดัชนี ด้านแรก ความร่ำรวย ที่วัดจาก GDP per capita พบว่า 20 ประเทศแรกที่มีความร่ำรวยที่สุดในโลก
ด้านที่สอง ความเป็นประชาธิบไตย ซึ่งดัชนีที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุด democracy index ที่จัดทำโดย Economic Intelligent Unit (EIU) พบว่าประเทศ 20 ประเทศที่มีประชาธิปไตยสูง มีการพัฒนามายาวนาน (ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าเลือกตั้ง)
ดัชนีตัวที่ 3 คือ Corruption Perception Index ดัชนีชี้วัดความโปร่งใส
มีคำถามง่ายๆ ว่า ประเทศเหล่านี้ที่ร่ำรวย เคารพสิทธิมนุษยชน ถึงเลิกโกง หรือเพราะเคารพสิทธิมนุษยชน แล้วไม่โกง ประเทศถึงรวย ซึ่งค่อนข้างชัด ว่าไม่ใช่รวยแล้วถึงเลิกโกง ไม่ใช่ว่ารวยแล้วถึงเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่พัฒนาต่อเนื่องยาวนาน เพราะมีกลไกที่ทำให้เกิดความโปร่งใสทำให้พัฒนาไปได้
ทีนี้ เวลาพูดอย่างนี้ แล้วคำถามต่อมาคือ จะทำอะไร อะไรคือธีม อะไรคือแนวที่ไทยควรไป?
ในด้านเศรษฐกิจเป้าหมายมี 3 ข้อ คือ มั่งคั่ง แบ่งปันและยั่งยืน โดย มั่งคั่ง คือ รายได้ต่อหัว ไม่ใช่กระจุกเฉพาะกลุ่ม ต้องแบ่งปันมีการกระจายที่ดี เรื่องความมั่งคั่งประเทศไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่การกระจายยังน้อย
ประเทศไทยติดอันดับที่การกระจายความมั่งคั่งแย่ อยู่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย คนรัสเซีย 1% แรกถือทรัพย์สินรวม 74% คนอินเดีย 1% แรกถือทรัพย์สินรวม 58.8% คนไทย 1% แรกหรือประมาณ 600,000 คน ถือทรัพย์สิน 58.0% และจะแซงอินเดียได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประเทศอื่นไม่ถึง 50% สหรัฐอเมริกา 42%
นอกจากนี้ จากการวัดทุกมุมประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก แนวทางที่ทำมาในการกระจายความมั่งคั่งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งมาตรการที่พยายามจะเสริมเข้าไป เช่น นโยบายประชานิยม ที่จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หรือการพยายามเก็บภาษีจากผู้มีรายได้มากให้ได้มากขึ้น โดยภาษีที่ออกมาคือภาษีมรดก ซึ่งมีผลมา 3 ปีแล้ว เก็บได้ประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนภาษีที่ดิน มีทั้งวิธีเลี่ยงวิธีใช้ดุลยพินิจมากมาย ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวที่บอกว่าจะเดินอย่างไร
ด้านความยั่งยืนหมายถึง ต้องมีการพัฒนาเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ในระยะสั้นเศรษฐกิจเสถียรมาก แต่ความยั่งยืนจะหยุดอยู่กับที่ จะอย่างยั่งยืนไปตลอดหรือไม่
อีกปัญหาใหญ่ของไทยคือ ตัวภาครัฐต้องทำในสิ่งจำเป็น และปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน
ในประเทศไทยรัฐบาลเราใหญ่เกินไปทั้งขนาด บทบาท อำนาจ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การลดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ ผ่านหน่วยงานของรัฐ ผ่านกฎหมายที่รัฐถืออยู่ และผ่านรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน
“หลักง่ายๆ คือ ลดให้มากที่สุด เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่คงไม่เกิดขึ้น เพราะการปฏิรูปทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย หรือ การทำ regulatory guillotine เป็นความพยายามที่จะลดกฎหมาย กฎระเบียบ”
…ใคร่ครวญอนาคตประเทศไทยต้อนรับเดือนสุดท้ายของปีกันไว้เพียงเท่านี้ครับ คุณบรรยงท่านมีความชัดเจนในหลักการและธีมต่อพัฒนาการของประเทศ บทความของเราเชิญเนื้อหาการบรรยาย และงานเขียนของท่านมาให้อ่านกันหลายต่อหลายครั้ง ธีมชัดๆ ที่เป็นทางออกได้ท่านก็ได้พยายามให้ข้อมูล อธิบาย ขยายความให้เข้าใจง่ายมาตลอด วันนี้ต้องขอขอบคุณคุณบรรยงอีกครั้งมา ณ โอกาสนี้และขอขอบคุณ Thaipublica สำหรับการถอดเทปคำบรรยายด้วยครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี