“ธุรกิจโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และภาษีอีกหลายชนิด” แต่ทว่า ทันทีที่ โรงเรียนนานาชาติสิงค์โปร์และโรงเรียนในเครือโดยบริษัท SISB จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯและปิดตลาดวันแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ 4.36 บาท ต่ำกว่าราคาเปิดจอง 5.20 บาทต่อหุ้น ถือว่าราคาตกฮวบทันทีที่เข้าสู่ตลาด “แค่เริ่มสตาร์ท อาการก็ไม่สู้ดีแล้ว”
ยิว ฮอค โคว ประธาน SISB พยายามสื่อสารว่า บริษัทมีพื้นฐานหุ้นดี ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทุกอย่าง ประกอบกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) บอกว่าไม่มีข้อห้ามการนำธุรกิจโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนเอกชนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ผมขอร่วมวงเขียนถึงเรื่องนี้สักนิดว่า ปรัชญาของ “โรงเรียน” คือ สถานที่สร้างการศึกษา ให้องค์ความรู้พัฒนาคน ไม่ใช่ “บริษัท” ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรเท่านั้น
ถึงตอนนี้จะมีแค่ SISB เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯเพียงเจ้าเดียว แต่สิ่งที่น่ากังวล ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นดังนี้
1. ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนนานาชาติเท่านั้น แต่จะมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ “คล้ายๆโรงพยาบาลเอกชน” เพื่อขยายกิจการและสร้างผลกำไรที่มากขึ้น จนเกิดเป็นค่านิยมทำธุรกิจโรงเรียนเพื่อแสวงหา “ผลกำไร” มากกว่า สร้างองค์ความรู้ให้เยาวชน ด้วยการโฆษณาว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษี เป็นหุ้นเกรด A
2. “ภาระภาษีใหม่ จะถูกผลักไปที่ผู้ปกครอง” เมื่อโรงเรียนที่เข้าตลาดหุ้นมีกำไรมากขึ้น แต่กลับไม่ต้องเสียภาษี อนาคตเชื่อเหลือเกินว่า รัฐก็จะเริ่มทำการรื้อมาตรการภาษีใหม่ สุดท้ายโรงเรียนเอกชนก็จะถูกเก็บภาษี เรื่องนี้เกิดมาแล้วกับโรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบันที่ถูกสั่งให้เก็บภาษี
3. “ความเสี่ยงเริ่มเกิดขึ้น” เมื่อไม่มีภาครัฐเป็นเบาะรองรับยกเว้นภาษีให้อีกต่อไป ก็ถือว่าการลงทุนหุ้นประเภทนี้ไม่ใช่เกรด A อีกต่อไป หากเกิดตลาดหุ้นตกหนักสภาวะตลาดขาลง “มีเป้าหมายหลัก เพื่อประโยชน์ผู้ถือหุ้น” การขายที่ดินโรงเรียนคุ้มกว่าทำธุรกิจโรงเรียนต่อ อะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตเด็กนักเรียน
4. ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยสูงเพิ่มขึ้นไปด้วย ตัวอย่างดูที่ “โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ” ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ายา ค่าหมอ ก็เพิ่มสูงขึ้นตามกันไป จนสุดท้ายราคาก็สูงขึ้นกันทั้งวงการไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐ แต่ว่าไปแล้วจะคล้ายโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่หมด ต้องบอกว่าหนักกว่าเพราะ “โรงเรียนเอกชน” ได้รับยกเว้นภาษีจากรัฐด้วยซิครับ
5. เป็นประเด็นกฎหมายอยู่ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวดหน้าที่ของรัฐ เรื่องการอุดหนุนเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษานั้น จะผิดหรือจะถูกก็ต้องไปว่ากันที่ศาลปกครอง เพราะยื่นคำฟ้องไปแล้ว โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังจะนัดไต่สวนวันที่ 7 ธันวาคมนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาบอกว่าการเอาโรงเรียนนานาชาติเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเรื่องขัดจริยธรรม แต่ก็อยากให้วัดใจกันหน่อยว่าที่พูดออกไปจะทำจริงหรือไม่ ถ้าคิดเห็นเหมือนกัน ก็ควรจะทำหน้าที่เป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
ส่วนความเห็นของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องบอกเลยว่าพอเห็นบทสัมภาษณ์แล้วรู้สึก “น่าละเหี่ยใจ”
เพราะดันไปมองแค่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดหลักเกณฑ์
เรื่องนี้อย่ามองระยะสั้นว่ามีแค่ “โรงเรียนนานาชาติ” แต่มันจะเป็นลูกโซ่ไปถึง “โรงเรียนเอกชน” ทั่วไปในอนาคตด้วย และถ้าอย่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป โรงเรียนก็คงเป็นบริษัทหากำไร ไม่ใช่บ้านหลังที่สองอีกต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี