ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในอดีตคือการไม่มีข้อมูล!
ข้อมูลภาครัฐคือสิ่งที่ได้มายากเย็นยิ่งนัก ดังนั้นเวลารัฐต้องการจะทำนโยบายอะไรดีๆ ในเชิงโครงสร้างและช่วยคนให้ถูกจุดตรงประเด็นมักทำได้ยากยิ่งนัก
ทุกวันนี้ให้เครดิตทั้งหมดแก่เทคโนโลยี มาเร็ว มาทันเวลา ช่วยให้การเก็บข้อมูลสำหรับการจัดสรรทรัพยากร จัดสรรงบประมาณ รวมไปถึงจัดเก็บรายได้ภาครัฐทำได้ง่ายขึ้น และ“มีประสิทธิภาพ” มากยิ่งขึ้น
คำว่ามีประสิทธิภาพก็หมายถึง เก็บคนที่ควรถูกเก็บได้ครบถ้วนขึ้น หรือเก็บในจำนวนที่เหมาะสมกับเรื่องกับราวมากขึ้น เรื่องแผนภาษีที่กระทรวงการคลังทำมาตลอดช่วงสองปี เมื่อมองในมุมผลประโยชน์ของประเทศภาพรวมแล้วต้องถือว่า ดีขึ้นมากเลยครับ แต่หากมองในแง่ส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่เราๆ ท่านๆ อาจจะต้องหวั่นๆ บ้าง นั่นก็จะทำให้เราเบาใจลงไปได้บ้าง ถ้าเราเห็นรัฐบาลเอาเงินที่เก็บไปจากพวกเรา นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และมีประสิทธิภาพในการกระจาย..
วันนี้นำบทความสรุปข่าวหลายข่าวที่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปภาษีของปี 2562 ที่สรุปโดยคุณ “ลงทุนแมน” มาให้ได้อ่านกันครับ เข้าใจง่ายทีเดียว
แต่ก่อนอื่นอัพเดทกันก่อนเรื่องนึงคือ ล่าสุด สนช.ผ่านกฎหมายที่ช่วยควบคุมธุรกิจนอกระบบให้เข้าระบบมากขึ้น นอกระบบไม่ได้หมายถึงผิดกฎหมายนะครับ แต่ธุรกิจผิดกฎหมายก็อยู่ในนี้ด้วยนั่นแหละ คือเอาว่า หลังจากนี้รอการประกาศใช้ที่ชัดเจนอีกครั้ง 1.ถ้ามีการฝากโอนเงินทุกบัญชีในชื่อคุณรวมกันเกินปีละ 3,000 ครั้ง จะต้องยื่นสรรพากร เช่น ขายเสื้อผ้าออนไลน์ตัวละ 100-200 บาท ปีละสมมุติว่าขายได้วันละ 10 ตัวรวมทั้งปีได้ 3,650 ตัว มีการโอนเงินจากลูกค้าเข้ามารวมทั้งปีเกิน 3,000 ครั้ง จำนวนเงินเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ก็ต้องบอกสรรพากรทราบ หรือ 2.ถ้าคุณไม่ได้ขายอะไรถูกๆ แต่มีธุรกรรมเกิดขึ้นเกิน 2 ล้านบาท รวมกันในบัญชี และที่เกินสองล้านนั้น รวมจำนวนการโอนฝากถอน 400 ครั้ง ก็จะต้องยื่นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เป็นข้าราชการโกงเงินค่าข้าวนักเรียน โกงรอบละหมื่น เดือนนึงโกงสองครั้ง ปีนึงได้เงินอันมิชอบมา 2.4 ล้านบาท และมีการฝากถอนโอนจ่ายเกิน 400 ครั้งต่อปี แบบนี้โดนสรรพากรดูแน่ๆ
จะว่าดีก็ดีครับ จะว่าเข้มขึ้นก็เข้มขึ้น ก็อย่างที่ย้ำไป ถ้าขาจ่ายงบประมาณ ซึ่งคือรัฐบาล เอาเงินเราไปใช้ในเรื่องดีๆ คนเสียภาษีเขายินดีจ่าย เอาไปจำนำข้าว รถคันแรก ซื้ออะไรไม่จำเป็น ทำถนนแบบเน้นซ่อมถี่ๆ แบบนี้ ไม่มีใครอยากจ่ายแน่นอน แต่เราเชื่อในระบบครับ มันจะรัดกุมและช่วยตรวจสอบหลายเรื่องได้ หลังจากนี้ข้าราชการร้ายๆ จะโกงยากขึ้น ก็ต้องคอยช่วยกันจับตาดูต่อไป
อ่ะ.. ร่ายมาซะยาว เราไปดูแผนปฏิรูปภาษี 2562 โดยคุณลงทุนแมนกันต่อ..
ใครมีเงินได้สูงเกิน 2 ล้านบาทต่อปี อาจจะต้องร้องว้าว! เพราะในปีหน้าจะมีการปฏิรูปภาษี ลดภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดจาก 35% เหลือ 25% นิติบุคคลก็เตรียมดีใจ เพราะรัฐจะลดภาระภาษีจาก 28% เหลือ 25% เช่นกัน
ส่วนเรื่อง VAT ก็จะมีการปรับปรุงที่กระทบกับผู้ประกอบการทุกคน เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟังแบบง่ายๆ
ก่อนอื่นเริ่มจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าถามว่าเราจะต้องเสียภาษีเงินได้เท่าไร? ให้ดูข้อมูลของเดิม
ถ้าทั้งปีเรามีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท เราจะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็ต้องยื่นให้สรรพากรรับทราบ
ถ้าเรามีเงินได้สุทธิมากกว่า ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 5%
และถ้าเรามีเงินได้สุทธิสูงขึ้นไปอีก ในส่วนที่เกิน 300,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 10%
และอัตราภาษีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตามเงินได้สุทธิของเรา
ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่มากขึ้น
ส่วนที่เกิน 500,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 15%
ส่วนที่เกิน 750,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 20%
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 25%
ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 30%
และสุดท้าย ส่วนที่เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป เราจะเสียภาษีในอัตรา 35% เร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ได้ประกาศว่าจะปฏิรูประบบภาษีใหม่ ให้อัตราภาษีที่เป็นขั้นบันไดนี้สูงสุดแค่ 25%
เรื่องนี้กระทบกับใครบ้าง?
ถ้าดูจากข้อมูลด้านบน ก็แปลได้ว่า เรื่องนี้จะกระทบกับคนที่มีเงินได้เกิน 2 ล้านบาทต่อปีนั่นเอง ที่จะเสียภาษีน้อยลง ใครที่มีอาชีพที่มีเงินได้สูง เช่น คุณหมอ ผู้บริหาร คงร้องว้าวเพราะต่อไปจะเสียภาษีน้อยลงไปมากเลยทีเดียว
ทำไมถึงต้องลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
เรื่องนี้สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ยกตัวอย่าง นาย A ทำเงินได้ 10 ล้านบาทต่อปี ถามว่านาย A จะใช้ตัวเองเป็นคนรับเงินได้นี้ไหม?
ถ้าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังสูงสุดที่ 35% คำตอบก็คง ไม่รับ และตั้งนิติบุคคลขึ้นมารับเงินแทน เพราะตอนนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเสียในอัตราแค่ 20% การปรับลดภาษีลงมาให้เท่ากันก็จะทำให้มีความเท่าเทียมกันระหว่าง บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคลมากขึ้น
เรื่องต่อมาก็คือ การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่เดิมนิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นอัตรา 20% เช่น บริษัทได้กำไร 100 บาท บริษัทต้องเสียภาษี 20 บาท เหลือ กำไรสุทธิหลังภาษี 80 บาท และเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผล 80 บาทมาให้ผู้ถือหุ้น จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% (8 บาท)
ดังนั้นผู้ถือหุ้นก็จะได้เงินสุทธิ 72 บาท ซึ่งหมายความว่า ผู้ถือหุ้นมีภาระภาษีที่จะต้องเสียทั้งหมด 28%
ทีนี้ทางคณะอนุกรรมการดังกล่าวก็มีแผนที่จะลดภาระภาษีของนิติบุคคลจาก 28% ให้ลดลงเหลือ 25%
ทางที่จะเป็นไปได้ก็อาจจะมี 2 ทาง ก็คือ
1.ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินปันผล จาก 10% ลงเหลือ 6.25%
ตัวอย่างเช่น นำเงินปันผล 80 บาท ถูกหัก ณ ที่จ่ายภาษี 6.25% จะเป็น 5 บาท
และเมื่อนำ 5 บาท ไปรวมภาษีที่เสียไปแล้ว 20 บาท จะทำให้มีภาระภาษี 25 บาท
2.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 20% ลงเหลือ 16.67%
ตัวอย่างของทางเลือกนี้คือ เมื่อบริษัทมีกำไร 100 บาท บริษัทจะเสียภาษี 16.67 บาท และเหลือกำไรสุทธิหลังภาษี 83.33 บาท และ เงินปันผล 83.33 บาท จะถูกหักภาษี 10% ณ จ่าย คือ 8.33 บาท รวมแล้วบริษัทก็จะมีภาระภาษี 25 บาทเช่นกัน
น่าสนใจว่าถ้ารัฐเลือกทางเลือกนี้ จะทำให้ภาษีนิติบุคคลลดลงอีก และรัฐอาจขาดรายได้ไปมาก และในทางกลับกันนิติบุคคลจะได้ประโยชน์มาก เพราะจะมีกำไรเพิ่มขึ้นทันทีจาก 80 บาท เป็น 83.33 บาท หรือ 4%
ส่วนเรื่องต่อมาก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตรา 7% ของยอดขาย สำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขาย 1.8 ล้านบาทขึ้นไป มาคราวนี้จะเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก ในอัตรา 2% ของยอดขายตั้งแต่บาทแรก และสำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 10 ล้านบาท ถึงจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เสีย VAT ในอัตรา 7% แทน
ทั้งนี้ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น การยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯการยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีอื่น
บทสรุป เรื่องนี้กระทบกับใครบ้าง?
เรื่องแรกในการลดภาษีบุคคลธรรมดาให้สูงสุด 25% ก็คงกระทบกับผู้ที่มีเงินได้เกิน 2 ล้านบาทต่อปีที่จะเสียภาษีน้อยลง แต่ก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นเต็มใจที่จะเสียภาษีมากขึ้น ไม่นำรายได้ไปเข้านิติบุคคล
เราอาจจะได้เห็นบุคคลมีเงินได้เป็นสิบล้าน แต่ไม่จดเป็นนิติบุคคลกันมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือภาษีของบุคคลธรรมดาจะลดลง ก็อาจทำให้มีเม็ดเงินมาซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีได้น้อยลง ทั้ง LTF RMF และ ประกันชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีภาษีจากการที่มีบุคคลธรรมดาเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ก็อาจจะทำให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีมากขึ้นจากคนกลุ่มนี้
ส่วนเรื่องที่สอง นิติบุคคลก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นอีก เพราะจะทำให้ผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลนั้นมีภาระภาษีน้อยลงเป็น 25% จากเดิม 28%
สำหรับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มปรับให้การจด VAT ให้เป็นสำหรับ 10 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่ 1.8 ล้านบาท และเสียภาษี 2% ของรายได้ตั้งแต่บาทแรก ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
- ขอขอบคุณคุณลงทุนแมนมา ณ ที่นี้ด้วยครับ -
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี