ใกล้เลือกตั้งเข้ามาเรื่อยๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็คงต้องรอให้ฝ่ายที่มีหน้าที่โดยตรงเป็นคนเคาะครั้นแต่จะไปร้องปาวทุกเรื่องก็ใช่ที่ ระหว่างนี้นักการเมืองสายที่เน้นการนำเสนอนโยบาย ผลิตนโยบาย ก็ทำงานกันต่อไป มิได้จำเป็นต้องไปรวนระบบแต่อย่างใด
ประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาแต่ละสัปดาห์ทยอยออกนโยบายแต่ละด้านให้ประชาชนได้พิจารณาและทำความเข้าใจกันไปล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ “ยกระดับคุณภาพลูกหลานไทย” ยกเครื่องการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพเด็กไทย ขจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษา มีการนำเสนอ 10 นโยบาย เพื่อการศึกษาตั้งแต่เกิดจนแม้กระทั่งเป็นผู้สูงอายุก็ยังมีโอกาสในการฝึกทักษะ แต่ที่โดดเด่นที่สุด และเป็นที่กล่าวถึงกันหนาหูมากก็คือ นโยบาย “เกิดปั๊บ รับสิทธิ์เงินแสน” คือนโยบายสวัสดิการพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดูแลพื้นฐานแก่เด็กแรกเกิด ไปจนอายุ 8 ปี ให้ได้วางรากฐานทางโภชนาการเพื่อพัฒนาการทางร่างกาย เอาว่า นี่คือเรื่องแรกที่ได้เปิดออกมาก็ฮือฮาไม่น้อยครับ
เรื่องต่อมาคือการ “ยกระดับความเป็นอยู่” ประกันรายได้คนไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยนอกจาก หลักการประกันรายได้ให้แก่คนไทยแล้ว จุดหนึ่งที่จะขอนำมาเล่าซ้ำให้ฟังอย่างละเอียดในวันนี้ก็คือ นโยบายเพื่อการเป็นหลักประกันใหญ่ที่สุดในการดำเนินชีวิตของคนไทย
นั่นคือ “การถือครองทรัพย์สิน” และที่เป็นจุดชี้วัดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างรายได้ที่หนักที่สุดก็คือ ปัญหาการถือครองที่ดิน
ทราบกันดีครับว่า คนรวยกระจุกที่ดินไว้ในมือตัวเองเยอะแค่ไหน คนจน คนรายได้ระดับกลาง มีที่ดินน้อยลงลดหลั่นกันไป จนยากจะนำมาทำมาหาเลี้ยงชีพต่อได้ และในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของไทยเรา ต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่ได้มีงานวิจัยออกมาก็มาจากวิถีแห่งการถือครองที่ดินนี่เอง
“โฉนดสีฟ้า” คือแชมเปี้ยนทางนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ของไทย โดยมีความหมายในเชิงการขยายความ ได้ 4 ประเด็นเนื้อหาสำคัญครับ
นั่นคือ 1) การยกระดับที่ดิน ส.ป.ก.ให้ใช้เป็นหลักทรัพย์กู้เงินจากธนาคารรัฐ และหลักทรัพย์ประกันตัวในศาลได้
โดยมี 2) “ธนาคารที่ดิน” ทำหน้าที่ตัวกลาง หาก ส.ป.ก.หลักประกันถูกยึด ก็จะถูกนำกลับมากระจายต่อให้ประชาชนรายอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนต่อไป
ส่วนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของรัฐ หรือในที่ดินป่าเสื่อมโทรม จะพิจารณาออก 3) “โฉนดชุมชน” เพื่อให้เกิดการจัดการตนเองในการแบ่งที่อยู่ ที่ทำกินอย่างเท่าเทียม
และข้อ 4) เร่งออก “โฉนดทันใจ” ที่เป็นโฉนดค้างท่อ และเอกสารสิทธิต่างๆ ที่ยังตกค้างมาอย่างยาวนานในระบบราชการไม่ว่าจะด้วยปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่หมักหมมมายาวนานก็ตาม
พูดง่ายๆ คือหลักการของโฉนดสีฟ้าของประชาธิปัตย์ที่จะออกมาเพื่อเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ตั้งเป้าหมายที่ “ประชาชนคนไทย” เป็นหลัก ดูเข้าไปในปัญหาเชิงลึกว่า ติดกันอยู่ตรงไหน ก็พบว่าแหล่งทำกิน ที่ดินในการถือครองนั้นยากที่จะมาช่วยทำให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งโฉนดสีฟ้าตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างตรงเป้าที่สุด
ทวนอีกครั้งนะครับ ขยายความเลยก็คือว่า.. “โฉนดสีฟ้า” สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศไว้ว่าจะทำก็คือ ข้อแรก ยกระดับ ส.ป.ก. กู้ได้ขยายโอกาสเกษตรกร คือ เพิ่มสิทธิ์ ส.ป.ก. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐ สามารถขอกู้ต่อธนาคารรัฐได้ เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน โดยหากเกิดการเบี้ยวหนี้ จะมีธนาคารที่ดินทำหน้าที่ซื้อที่ดินที่ถูกยึดจากธนาคารรัฐ และจัดสรรที่ดินนั้นให้แก่เกษตรกรรายใหม่ ที่มีคุณสมบัติตรงตามแต่ละประเภทที่ดินนั้น นอกจากนั้น ยกระดับ ส.ป.ก.ยังเพิ่มสิทธิ์ให้สามารถนำไปค้ำประกันในชั้นศาลได้ และที่สำคัญการยกระดับ ส.ป.ก. ยังให้สิทธิ์เกษตรกร สามารถทำอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้นได้ในที่ดินของตนเอง แตกต่างจากการยกระดับที่ดิน ส.ป.ก.ของรัฐบาลปัจจุบันที่ให้ที่ดิน ส.ป.ก. ทำอุตสาหกรรมบางชนิดที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง เช่น เหมืองแร่ พลังงาน
ข้อสอง ต่อเนื่องไปด้วยการออกกฎหมายเรื่อง โฉนดชุมชน ให้ชุมชนจัดการตนเอง เพื่อที่อยู่ ที่ทำกิน คือ ออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อสิทธิ์ในการจัดการตนเองของชุมชนอย่างแท้จริง เดิมการที่ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐ จะก่อสร้างอะไรต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด (ที่จะมาจากการกระจายอำนาจมาแล้ว มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ ซึ่งจะถูกนำเสนอเร็วๆ นี้ ในส่วนของนโยบาย “มหานคร”) แต่ พ.ร.บ. โฉนดชุมชน จะให้สิทธิ์ชุมชนจัดการตนเอง ขึ้นอยู่กับชุมชนเอง หัวใจตรงนี้สอดคล้องกับแนวทางการกระจายอำนาจของพรรค มาโดยตลอดหลายสิบปีนั่นคือ หลักการกระจายอำนาจ ที่ประชาธิปัตย์เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกฯ ชวน และสานต่อเรื่อยมาสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ นั่นคือการกระจายอำนาจ เพื่อลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน!!!
ข้อสาม เดินหน้า ธนาคารที่ดิน คือ ธนาคารที่ดินเป็นโครงการที่คอยจัดสรรที่ดินรัฐ ให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามแต่ละประเภทที่ดินนั้น จะขอแถมให้ว่า เรื่องโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินนี้ ทำมาแล้วด้วยนะครับอย่างเข้มข้นมากในปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตอนนั้นอดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้สมัครสส.ตรัง เป็นคนจัดเต็มเดินหน้าเต็มที่ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย
ข้อสี่ เร่งออก โฉนดทันใจ คือ เร่งทำโฉนดให้ที่ดินที่ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิ ต่างๆ เช่น ส.ค.1 น.ส.3 และเอกสารต่างๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพราะเวลาคือต้นทุน ระบบราชการที่ล่าช้า และไม่ทันสมัยเอื้อให้เกิดช่องทางทุจริตต่างๆ มากมายรวมไปถึงการเตะถ่วงโอกาสของพี่น้องประชาชนในการทำมาหาเลี้ยงชีพอีกด้วย
ส่วนสัปดาห์หน้า ผมจะมาช่วยขยายความในเนื้อหารายละเอียดนโยบายต่างๆ ของพรรคประชาธิปัตย์นะครับ “ประกันรายได้” คืออะไร เหมือนประกันราคามั้ย แล้วมันดีกว่าจำนำยังไง ดีกว่าจำนำไม่พอ ดีกว่าจำนำตอนรัฐบาลก่อนนี้แค่ไหน บิดเบือนกลไกตลาดอีกมั้ยเนี่ย สัปดาห์หน้าจะมีคำตอบให้ครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี