วิจัยและพัฒนา (Research & Development)..เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ ซึ่งสำหรับประเทศแล้วจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ ดังความพยายามก่อตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นผลสำเร็จเบื้องต้นเมื่อ 5 มี.ค. 2562 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายกระทรวงดังกล่าวแล้ว รอเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้นก็จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม ผ่านแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผนแม่บท สำหรับแผนแม่บทประเด็นที่ 23 ประเด็น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเทศชั้นนำของโลก สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าแผนแม่บทประเด็น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการพัฒนาต่อยอดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศครั้งใหญ่ บูรณาการให้ตรงกับ ความต้องการและเป็นไปในในทิศทางเดียวกัน โดยการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้น
“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการรวม 4 หน่วยงานเข้าด้วยกัน” ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ 1.การปฏิรูปการบริหารราชการ 2.การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ และ 3.การปฏิรูประบบงบประมาณ โดยเน้น
การทำงานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
ขณะที่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนและขยายบทบาทหน้าที่ใหม่ดังกล่าว วช. ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (จากเดิมคือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) ได้รับมอบหมายเป็น 1.หน่วยให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ 2.การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 3.การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ
4.การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย 5.การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ 6.การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม และ 7.การให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม รวม 7 ภารกิจสำคัญในระดับประเทศ โดย วช. มีการหารือร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทำให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ
นอกจากนี้ วช. ได้เตรียมความพร้อมและยกระดับการทำงานตามภารกิจใหม่โดยแนวทาง “วช. 5G” ประกอบด้วย 1.Speed ทำงานได้รวดเร็วขึ้น 2.Start เริ่มทำงานได้ทันที ตอบสนองฉับพลัน 3.Scope ขยายขอบข่ายการทำงานในระดับชาติ และนานาชาติ 4.Connectivity เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5.Low Energy ทำงานคุ้มค่า ใช้ต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตสูง
6.Smooth ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น และทำงานโดยไม่มีข้อจำกัด และ 7.New Features คิดริเริ่มงานใหม่ และได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ www.facebook.com/nrctofficial เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาคมวิจัยได้ใช้เป็นช่องทางสื่อสาร แสดงความคิดเห็นและความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของการเดินหน้าจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2562 นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 1/2562
โดยหัวข้อสำคัญคือ “การเตรียมเปลี่ยนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นสำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)” ซึ่งจะเป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการระดับชาติ หรือ Super Board ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบงบประมาณ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากร และการติดตามประเมินผล
ในการประชุมครั้งนี้ นายพิเชฐ ย้ำถึงสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ “การเตรียมความพร้อมในทุกมิติ” ทั้งระดับประเทศและหน่วยงาน ซึ่งต้องมองอย่างเป็นระบบว่า 1.การรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ากับการอุดมศึกษาแล้ว เกิดมูลค่าเพิ่มอะไร 2.จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร 3.การขยายผลระบบวิจัยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางจะไปต่ออย่างไร เอกชนอยู่ตรงไหน และ 4.ต้องดูแลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและมนุษยศาสตร์โดยให้ความสำคัญทัดเทียมกับด้านวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งแรกจะเริ่มขึ้นราวเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งหาก
ไม่มีปัจจัยทางการเมือง ก็คงจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาสานงานต่อ..เวลานั้นคงได้เห็นกันว่ากระทรวงใหม่นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและมีบทบาทสำคัญตามความคาดหวังในการก่อตั้งมากน้อยเพียงใด!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี