ระบอบทักษิณทุนนิยมสามานย์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่ปี 2545 และยังคงส่งผลอยู่อย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปัจจุบันนี้ โดยนอกจากจะมี คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีผู้สืบทอดตำแหน่งนายกฯ อีกถึง 3 คน ได้แก่ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขย) มาจนถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาว) โดยตลอดการครองอำนาจ ได้ถูกรัฐประหารไป 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรกด้วยฝีมือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในปี พ.ศ. 2549 และครั้งต่อมาด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ. 2557
นอกจากนั้นยังได้เผชิญการถูกยุบพรรคไป 2 ครั้ง ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พ.ศ.2549 และพรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ.2551 แต่ก็คงยืนหยัดสืบทอดมาเป็นพรรคเพื่อไทยได้ แถมสามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยมีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร รวมกับพรรคลูกและเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ เป็นเสียงข้างมากอีกด้วย
เรียกว่า ตัวคุณทักษิณ และนโยบายประชานิยม นั้นยังเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบ ของคนไทยโดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรวมจำนวนแล้ว ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศไทย
ผลการเลือกตั้งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นยังสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยนั้นเป็นการเมืองแบบภูมิภาคนิยม (Regionalism / Regional Identity) อีกด้วย ซึ่งบอกให้สังคมรับทราบว่า การที่คนไทยนั้นจะเลือกใคร และพรรคใด ถือเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องความเชื่อถือ และเรื่องของความนิยมนั้นเป็นสำคัญ มิใช่การใช้ข้อเท็จจริงใดๆ ในอดีตมาเป็นเกณฑ์
แต่เดิมมา สนามการเมืองไทย นั้นมีคู่แข่งหลักแค่ 2 ค่าย คือ ค่ายระบอบทักษิณ ซึ่งประกาศตนเป็นตัวแทนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับค่ายประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐานเสียงมาจากภาคใต้ และจากกรุงเทพมหานครค่อนข้างสม่ำเสมอ
ส่วนการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีผู้เล่นหลัก เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ค่าย นั่นคือ ค่ายทหารการเมือง และค่ายคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธกลุ่มอำนาจเดิม (แต่ก็ได้แสดงตนเป็นแนวร่วมกับระบอบทักษิณอย่างเปิดเผยในช่วงท้ายๆ)
และในการแข่งขันอันดุเดือดครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถหาจุดขายใหม่ๆ ที่จับต้องได้มาให้สังคมพิจารณา คนรุ่นใหม่ก็เลยไม่สนใจ คนรุ่นเก่าก็ส่ายหน้า ทำให้ต้องตกสำรวจกันไป ทิ้งคู่แข่งจริงๆ ให้สู้กันในสนามเพียงสองฝ่าย ได้แก่ ระบอบทักษิณเจ้าเก่าผสมแนวร่วมคนรุ่นใหม่ กับระบอบประยุทธ์ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ โดยทั้งสองฝั่งก็เกทับบลัฟแหลกกันด้วย การนำเสนอนโยบายและมาตรการประชานิยมต่างๆ เพื่อดึงดูดคะแนนเสียง
โดยทางระบอบทหารการเมือง (ซึ่งก็เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่เช่นกัน เรียกว่าระบอบประยุทธ์ทุนนิยมสามานย์ก็คงไม่ผิดเพี้ยนนัก) ได้ประดิดประดอยชื่อ นโยบายและมาตรการประชานิยมใหม่ในชื่อว่า ประชารัฐ แถมดูจะมีความเข้มข้นกว่าประชานิยมของทุนนิยมสามานย์ของระบอบทักษิณเสียด้วย เนื่องด้วยฝั่งของระบอบทักษิณมักจะเน้นนโยบายที่เอาประโยชน์แก่กลุ่มทุนธุรกิจครอบครัว และพวกพ้องใกล้ชิดเป็นที่ตั้ง ในขณะที่ฝั่งทุนประยุทธ์นั้นพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เพราะมีกลุ่มธุรกิจครอบครัวยักษ์ใหญ่เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นมิตรคู่ใจและคู่ค้า เปิดตำแหน่งแก่ลูกหลานกลุ่มทุน เพื่อไปกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย ทั้งระดับบนและระดับล่าง (โดยยังมีวิถีประชานิยมให้ประโยชน์กับกลุ่มรากหญ้าไปเรื่อยๆ) แต่ทั้งคู่ก็ต่างมุ่งใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือกลไกในการขับเคลื่อนผลประโยชน์
โดยกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของครอบครัวไม่กี่ครอบครัวนี้ ได้ทำการผูกติดกับฝ่ายทหารการเมืองอย่างเต็มที่ ทั้งเพื่อป้องกันระบอบทักษิณไม่ให้มา “ฮุบ” ธุรกิจของพวกตน ขนานไปกับการขยายอาณาจักรธุรกิจ และเสริมสร้างอิทธิพลของตนในเวทีการเมือง โดยบางส่วนอาจจะทำการแข่งขันกับเครือข่ายธุรกิจของระบอบทักษิณอีกด้วย (ทั้งนี้คดีความต่างๆ ในธุรกิจเครือข่ายระบอบทักษิณก็ยังมีเรื่องขึ้นศาล ดำเนินการอยู่มากโข เท่ากับว่าการแข่งขันจะทำได้ไม่สะดวกอีกต่อไป)
ในแง่สังคมและประชาชนพลเมือง ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะตกเข้าไปอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างทุนใหญ่สองฝั่ง นั่นคือฝ่ายเดิมของฝั่งทักษิณ กับฝ่ายใหม่ที่มีกลุ่มทหารร่วมเป็นร่วมตายอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามกำจัดอิทธิพลของฝ่ายระบอบทักษิณที่มีต่อกองทัพจนแทบจะสูญพันธุ์ รวมทั้งลดอิทธิพลฝ่ายเดิมต่อกองทัพตำรวจ ที่นับวันดูจะยิ่งสั่นคลอนยิ่งๆ ขึ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ก็ต่างมุ่งจะเอาประโยชน์จากสังคมไทยเป็นหลัก มิได้มีกะจิตกะใจที่จะบริหารบ้านเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับสังคม และปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างยืนพื้นบนเรื่องตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภา ก็กลายเป็นแค่เครื่องเล่นต่อรองอำนาจทางการเมือง เป็นแค่ข้ออ้างเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณที่แฝงด้วยการทุจริตมิชอบ และเสริมสร้างการกระจุกตัวของอำนาจและเงิน และความเหลื่อมล้ำในสังคม
การจะไปบอกไปกล่าวให้บุคลากรของระบอบทักษิณ หรือระบอบประยุทธ์ เปลี่ยนใจ ให้หันมาดำเนินการบริหารบ้านเมืองบนพื้นฐานของประเทศไทยเป็นหลัก ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างตั้งป้อมที่จะล้มล้างอำนาจกัน โดยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจฝั่งตนเป็นเดิมพัน
และอย่างประโยคที่ว่า กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี ก็หวังว่าคนดีๆ ที่อยู่ในแวดวงราชการ จะมีความซื่อสัตย์ สุจริต เห็นแก่ประเทศชาติ จะลุกขึ้นมาสู้ โดยไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้กับระบอบทุนนิยมสามานย์ทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้น คนดีๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในวงการต่างๆ ก็จะต้องออกมาช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มาช่วยกันป้องกันการขโมยผลประโยชน์ของประเทศชาติไปให้กลุ่มทุนสามานย์
อย่าเพียงแต่คิด เมื่อคิดแล้วก็ต้องออกมาแสดงตัว มารวมตัว มาร่วมแรงร่วมใจกัน ในการเรียกร้องความถูกต้อง ในการขจัดนโยบายและมาตรการโกงกิน มาตรการผูกขาดอำนาจด้วย
มันเป็นสิทธิของประชาชนชาวไทยทุกคน นอกจากนั้น มันยังเป็นหน้าที่พลเมืองที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ประเทศไทยจะก้าวหน้า ปราศจากการคอร์รัปชั่นจากกลุ่มทุนได้ ก็ต่อเมื่อเรามีระบอบเพียงหนึ่งเดียว คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่นั่นเอง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี