ความคืบหน้ากรณีทุจริตข้าวถุงจากโครงการจำนำข้าว “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า บอร์ด อคส. พิจารณาลงโทษทางวินัย รองผู้อำนวยการ อคส. รายหนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการนำข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลมาจัดทำข้าวถุงเพื่อช่วยประชาชน (ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์) หลังสั่งพักงานมาตั้งแต่ปี 2557 ในระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“หลังจากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ก็ยังสะสางเรื่องนี้ไม่เสร็จ จนคณะกรรมการชุดล่าสุดได้ตรวจสอบแล้วเสร็จ และสรุปว่า รองผอ.อคส. รายนั้นมีความผิดจริง และเสนอให้บอร์ดลงโทษทางวินัยสูงสุดให้ไล่ออกแล้ว” ผอ.อคส.เปิดเผยล่าสุด
1. รายงานข่าวระบุว่า การตรวจสอบกรณีทุจริตข้าวถุง ก่อนนำมาสู่การลงโทษทางวินัยข้าราชการระดับรองผู้อำนวยการ อคส. นั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวถึง 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดทำข้าวสารบรรจุถุงของ อคส. ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงพาณิชย์
ต่อมา บอร์ดอคส. ยังได้สั่งแต่งตั้งอีก 1 ชุด
และผู้อำนวยการ อคส. ได้สั่งแต่งตั้งอีก 1 ชุด
คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด สรุปผลการตรวจสอบที่ต่างกัน
ชุดที่แต่งตั้งโดยกระทรวงพาณิชย์ สรุปว่ารองผู้อำนวยการ อคส. มีความผิดจริง
ชุดที่แต่งตั้งโดยบอดร์ด อคส. สรุปว่าไม่ผิด
ชุดล่าสุด เพิ่งจะตรวจสอบเสร็จเมื่อปี 2562 และสรุปว่ามีความผิดจริง และในที่สุด บอร์ด อคส.ได้สั่งลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกแล้ว
2. ปมในการตรวจสอบกรณีทุจริตข้าวถุง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ อ้างว่าจะเอาข้าวที่ได้มาจากโครงการจำนำข้าว ไปแปรรูปเป็นข้าวถุงขายราคาถูกให้กับชาวบ้าน
แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านอดรับประทาน เพราะสุนัขคาบไปรับประทานแทน
ลองคำนวณตัวเลขคร่าวๆ หากรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาตันละ 15,000 บาท เมื่อนำมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารต้นทุนอยู่ที่ 24,000 บาท รวมค่าบริหารจัดการ ค่าดอกเบี้ย ต้นทุนข้าวสารของรัฐบาลอยู่ที่ 28,600 บาท/ตัน
ถ้าเอาไปทำข้าวสารราคาถูก ขายให้ชาวบ้าน ราคาถูกพิเศษ หากไม่มีการรั่วไหลเลย อคส.จะมีรายได้สุทธิจากการขายข้าวสารภายใต้โครงการผลิตข้าวถุง 8,320 บาท/ตัน
หักลบกันแล้ว โครงการนี้รัฐบาลขาดทุนตันละ 20,280 บาท
ยังดีที่โครงการยุติไปก่อน หลังถูกจับได้ไล่ทัน หลังมีการเบิกข้าวไปทำข้าวถุงแล้วหลายแสนตัน
ความเสียหายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท
หากโครงการดำเนินการทั้งหมด ตามที่อนุมัติแล้ว คาดว่า ประเทศชาติจะเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท
3. ถ้าจำได้ ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายอัยการได้ชี้ประเด็นที่เห็นว่าเกิดการทุจริตรวม 5 ประเด็น รวมถึงทุจริตข้าวถุงด้วย ดังนี้
3.1 การสวมสิทธิ์ชาวนา ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตือนว่า อาจจะเกิดการทุจริตในขั้นตอนนี้ และยังปรากฏตามรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้วว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการบางรายไม่ได้ทำนาตามที่มีการระบุไว้ในใบประทวน มีการขายสิทธิ์ให้ผู้อื่นไป ซึ่งการให้การดังกล่าวเป็นการให้การต่อหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ทำการสอบสวน
นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนา ก็ได้เบิกความยืนยันว่า เป็นที่รู้กันทั่วไปในช่วงวันเวลาเกิดเหตุว่า มีการทุจริตในการสวมสิทธิ์ ซึ่งตอนแรกขายกันในราคาตันละ 1,000 บาท แต่พอชาวนาเริ่มรู้มากก็ขายกันในราคาตันละ 2,000-3,000 บาท และหากมีการรวมโควตาเพื่อสวมสิทธิ์ได้มากๆ จะทำให้รัฐเสียเงินเป็นจำนวนสูงมากทีเดียว แต่ที่ไม่มีข่าวไม่มีหลักฐาน เพราะเป็นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
3.2 การโกงความชื้น โครงการกำหนดความชื้นสูงสุดต้องไม่เกิน 35% แต่มีพยานยืนยันว่า มีชาวนาที่ถูกหักความชื้นไปสูงถึง 37% ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งใดๆ
3.3 การสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร จากการเก็บรักษาข้าวสารในโกดังหรือคลังสินค้าของ อคส. และ อ.ต.ก. ปรากฏผลการตรวจสอบว่า มีข้าวไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน และข้าวผิดชนิดอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการทุจริตของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการตรวจสอบที่มีสภาหอการค้าฯ ร่วมอยู่ด้วย ได้เก็บตัวอย่างข้าว จำนวน 11,926 ตัวอย่าง ไปตรวจดีเอ็นเอ โดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีผลการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ การที่ผลการตรวจสอบออกมาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี และน่าเชื่อว่าเกิดการร่วมกันทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นแล้ว ย่อมไม่มีข้าวผิดชนิด อาทิ จากข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว แต่ตรวจออกมาเป็นข้าวคนละชนิดกัน
3.4 การทุจริตข้าวถุง ประชาชนได้รับความเสียหาย เพราะไม่ได้ข้าวถุงราคาถูกจากรัฐบาลไปบริโภคตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ดำเนินนโยบายนี้ อันเป็นวิธีการระบายข้าววิธีหนึ่ง ที่จะทำให้ข้าวสารราคาถูกถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง
ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าว ในคณะกรรมการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ว่า ได้ทำการตรวจสอบและมีมูลทุจริตจริง ทั้งมีการอภิปรายเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ให้จำเลยรับทราบ และไปตรวจสอบอย่างจริงจังเพราะเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว
แถมปรากฏข้อเท็จจริงที่ชวนสงสัยว่า ในการแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ 13 คณะของจำเลยมี พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง จำเลยที่ 3 ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมอยู่ในคำสั่งด้วยเสมอ ซึ่ง พล.ต.ท.ยุทธนาก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการประชุม และจากการไต่สวนคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หมอโด่ง เป็นตัวการหรือกลจักรสำคัญในการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและข้าวถุง และที่สำคัญในชั้นพิจารณาปรากฏว่า หมอโด่งได้หลบหนีไม่มาสู้คดีในศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน อันเป็นการผิดวิสัยของสุจริตชน
กรณีนี้ ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของยิ่งลักษณ์ ศาลฎีกาฯยกประโยชน์ให้จำเลย เนื่องจากเห็นว่า เมื่อพบว่ามีการทุจริต เกิดความเสียหาย ก็ได้ดำเนินการให้ระงับยับยั้งโครงการ ทุเลาความเสียหาย
3.5 การทุจริตในขั้นตอนระบายข้าวจีทูจี
กรณีนี้ ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว และชี้ว่ายิ่งลักษณ์รับรู้ปัญหาการทุจริตและละเว้นไม่ระงับยับยั้ง จึงมีความผิด จำคุก 5 ปี
ยังเหลือทุจริตจีทูจีลอตสอง ขณะนี้ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว อันรวมถึงยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-เยาวภา
4. ปัญหาการทุจริตโครงการระบายข้าวถุงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบ วุฒิสภา ที่มีพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สรรหา เป็นประธาน ได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้
ระบุชัดเจนว่า พบหลักฐานบริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท ส. - บริษัท ค. – บริษัท ร. ที่ได้รับการคัดเลือกจาก อคส. ให้มารับหน้าที่ผู้แทนจำหน่ายข้าวถุง ได้ไปทำสัญญาขายสิทธิให้กับบริษัทและโรงสี ที่รับหน้าที่ผู้ปรับปรุงข้าวถุงทันที ทำให้ข้าวไม่ได้กระจายไปถึงมือประชาชน
พูดง่ายๆ ว่า เกิดการคาบข้าวถุงราคาถูกไปรับประทาน
คณะอนุกมธ.ฯ ระบุว่า มีการเบิกข้าวจากโครงการไปแล้วกว่า 5 แสนตันข้าวสาร
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีการระบายข้าวสารถุงในราคาถูก โดยคิดราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคาตลาด และเป็นที่มาของการเปิดช่องโหว่ของสัญญาต่างๆ ที่ทางอคส.ได้ทำกับโรงสีผู้ปรับปรุง และทำกับบริษัทผู้จำหน่าย เป็นเหตุให้ข้าวสารถุงที่อ้างว่าจะไปลดค่าครองชีพของประชาชน ไม่ได้เกิดผลจริงตามที่อ้าง
แต่ปล่อยให้มีการนำข้าวสารราคาถูกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มพ่อค้า โดยมีส่วนต่างของราคาที่ทำให้รัฐเสียหาย
กรณีนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จไปแล้วหลายแสนตันข้าวสาร
จะต้องมีการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และติดตามเรียกค่าเสียหายกลับมาชดใช้คืนแผ่นดิน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี