วันนี้ ขออนุญาตต่อเติมเรื่องการตีความ หนังสือ Animal Farm ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้
เพราะดูเหมือนจะมีคนตีความไปในทำนองว่า ฟาร์มคือสังคมประชาธิปไตย แล้วถูกยึดอำนาจโดยเผด็จการ เพราะฉะนั้น ตัวร้ายที่หนังสือเล่มนี้มุ่งเสียดสี ก็คือ คณะเผด็จการที่ยึดอำนาจไปนั่นเอง
การตีความเช่นนี้ คือ การตีความเพื่อมุ่งจะเสียดสี ดิสเครดิต พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ผู้แนะนำหนังสือเล่มนี้เท่านั้นเอง
แต่หาได้สื่อตรงถึงแก่นสาระของหนังสือ ที่ลึกซึ้งและแยบคายกว่านั้นมาก
ได้ติดตามอ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของนักเขียนชื่อดัง “วินทร์ เลียววาริณ” เจ้าของผลงานเขียนคุณภาพ คลาสสิกมากมาย เฉพาะที่เกี่ยวกับการเมืองไทยโดยตรงก็คือ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน”
ปรากฏว่า คุณวินทร์ได้แบ่งปันมุมมองและสติปัญญาจากการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ด้วย
ตรงใจ และเชื่อว่าตรงแก่นสาระสำคัญของ Animal Farm
ขออนุญาตนำใจความสำคัญ บางส่วนบางตอน ดังนี้
“...มาถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าผู้อ่านร้อยละ 99 คงเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เสียดสีระบอบเผด็จการ
ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะเผด็จการยังไม่ใช่หัวใจของเรื่อง
นิยายเรื่องนี้เสียดสี “อำนาจ” ต่างหาก
มันบอกว่าอำนาจนั้นมักฉ้อฉล
ประโยคที่ชาวโลกคุ้นกันดีคือ “Power corrupts; absolute power corrupts absolutely.”
เป็นประโยคที่ถูกทอนมาจากจดหมายที่นักประวัติศาสตร์ ลอร์ด แอคตอน เขียนถึง บิชอบ แมนเดลล์ ไครตัน เมื่อปี 1887 ว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.”
แปลว่า อำนาจมักจะฉ้อฉล และอำนาจสูงสุดมักฉ้อฉลสูงสุด ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นคนเลวเกือบเสมอ
โปรดสังเกตว่าประโยคเต็มมีคำว่า “tends to” (มักจะ) บอกว่าไม่ทุกๆ อำนาจเลวร้าย แต่ส่วนใหญ่มักจะเลวร้าย
Animal Farm สะท้อนสันดานมนุษย์ว่า เมื่อไรที่มีอำนาจในมือ ไม่ว่าเดิมทีมีนิสัยดีอย่างไร จะเปลี่ยนไปเสมอ (นี่ก็คือคอนเซ็ปต์ของประชาธิปไตยบนเส้นขนาน)
ยิ่งมีอำนาจมาก ก็จะยิ่งเปลี่ยนมาก
เชื่อไหมว่า จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนเรื่อง Animal Farm เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ที่เปลี่ยนระบอบเป็นคอมมิวนิสต์ พวกบอลเชวิก ผู้ก่อการสัญญาชาวบ้านเสียดิบดี แต่ลงท้ายก็ฆ่ากันเองเพื่อแย่งอำนาจ
จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนนวนิยายแรงๆ แบบนี้สองเรื่องคือ Animal Farm กับ 1984 สองเรื่องนี้ควรอ่านคู่กัน ขอแนะนำอย่างสูง
ขณะที่นักอ่านส่วนมากเห็นว่า Animal Farm เสียดสีเผด็จการ ผมกลับเห็นว่า Animal Farm สะท้อนความอ่อนแอของมนุษย์มากกว่า
เรื่อง 1984 ต่างหากที่สะท้อนระบบเผด็จการชัดเจนกว่ามาก คือตัวละคร Big Brother ควบคุมทุกอย่าง
อีกเหตุผลหนึ่งเพราะอำนาจไม่ได้หมายถึงบริบททางการเมืองอย่างเดียว ในองค์กรธุรกิจ ก็มีอำนาจฉ้อฉล ในครอบครัวก็มีอำนาจฉ้อฉล
ลูกน้องที่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้านายแล้วเปลี่ยนเป็นชอบกดขี่ ก็คือ Power corrupts
เจ้านายด่าคนใช้เป็นหมูเป็นหมา ก็คือ Power corrupts
(ส่วนภรรยากดขี่สามีไม่ใช่ Power corrupts เป็นแค่เทคนิคฝึกสัตว์ให้เชื่องเท่านั้น)
แม้กระทั่ง “เผด็จการรัฐสภา” และการแทรกแซงองค์กรอิสระก็คือ Power corrupts
Animal Farm ชี้ให้เห็นว่าอำนาจเปลี่ยนคนธรรมดาเป็น Power addict และลงท้ายด้วย Power corrupts อย่างไร
อำนาจก็เหมือนไฟ แรกๆ คนแสวงหามันเพื่อความอบอุ่น แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะใช้เผาตัวเอง เป็นอย่างนี้แทบทุกคน
บางทีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างนี้เอง นั่นคืออ่อนแอ ตกอยู่ใต้ตัณหาที่เรียกว่าอำนาจได้ง่ายดาย
ยิ่งมีอำนาจ ก็ยิ่งอ่อนแอ จึงต้องกดหัวคนอื่น....”
ข้างต้นนั้น คือ ข้อเขียนของคุณวินทร์ เลียววาริณ
คราวนี้ กลับมาที่การตีความในบริบทของสถานการณ์การเมืองไทย
ไม่ผิด ที่เป้าวิจารณ์จะมุ่งไปที่ตัวพลเอกประยุทธ์
เพราะตัวท่านเอง เป็นผู้กุมอำนาจเอาไว้มากที่สุด
แต่แก่นจริงๆ อยู่ที่อำนาจ
และขณะนี้ เราจะได้เห็นการ “ต่อรองอำนาจ”
โดยกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ต้องการจะเข้ามามีส่วนแบ่งอำนาจ พยายามจะต่อรองอำนาจกับ คสช.
เพราะฉะนั้น หากเรามองโฟกัสไปที่อำนาจ เราจะเห็นตัวละครที่พยายามยื้อแย่ง
เดินเกมการเมืองทุกเหลี่ยมคู
ไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อส่วนรวม
เราจะเห็นภาพการเมืองปัจจุบันชัดขึ้น
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี