ถ้าจะกล่าวถึงหน้างานของตำรวจ หลายคนคงติดภาพงานสืบสวนปราบปราม แต่จริงๆ แล้วงานตำรวจยังมีหลายด้าน โดยหน้างานหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเสมือนปิดทองหลังพระ หรืออยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการช่วย ไขคดีให้เกิดความกระจ่าง นั่นคืองานของ กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ที่มี พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบก.ทว.เป็นหัวเรือใหญ่ ขับเคลื่อนหน่วยงานสำคัญแห่งนี้
เรามาทำความรู้จัก ผบก.ทว.กันเลย พล.ต.ต.ไตรรงค์ เป็นทายาทนายตำรวจ พ.ต.ต.หิรัญ ผิวพรรณ อดีตอาจารย์โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 7 เจริญรอยตามพี่ชาย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ โดยสอบเข้าเป็นนักเรียเตรียมทหารรุ่นที่ 30 แต่เลือกเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 46 จบมาก็ได้อยู่ในสายปฏิบัติมาตลอด
“ผมโตจากสายปฏิบัติก็รู้สึกดี เพราะเราได้ทำในสิ่งที่ปรารถนามาตั้งแต่เด็ก งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวน ช่วงที่เป็นชุดปราบปรามยาเสพติด ได้จับกุมคดีต่างๆ พอเป็น ผกก.สืบฯ อ่างทอง มีคดีที่ประทับใจ อย่างคดีข่มขืนฆ่าชิงทรัพย์ คดีเกิดขึ้นก่อนเรามารับตำแหน่ง 9 เดือน ภาษาตำรวจเขาเรียกว่า คดีมันแห้งแล้ว มันแทบจะหาอะไรทำไม่ได้อีก แต่พอเรามารื้อฟื้นนับหนึ่งใหม่ ที่สุดก็จับคนร้ายได้”
พล.ต.ต.ไตรรงค์เผยว่า การจับกุมเมื่อได้ตัวคนร้ายมาแล้วมันยังไม่ใช่ที่สุด เพราะที่สุดของงานตำรวจ คือคุณต้องทำให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ผู้กระทำผิด
ได้รับโทษ และการจะไปถึงตรงนั้นก็ต้องรู้ทั้งงานสืบสวนและสอบสวน คือรู้ข้อกฎหมาย ยิ่งมารับงานที่ ทว.ยิ่งมีส่วนรับผิดชอบที่สำคัญในเรื่องคดี
“มารับตำแหน่งผู้การที่นี่ ตามหน้างานก็ต้องจัดเก็บประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาคดีสำคัญทั้งหมดในสารบบของกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาในส่วนของพนักงานสอบสวน หรือฝ่ายปกครอง หรือพนักงานสอบสวนหน่วยงานต่างๆ ที่มีการแจ้งข้อหา พิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งจะต้องจัดเก็บไว้ที่นี่ เป็นฐานข้อมูลใหญ่ของผู้ต้องหาคดีอาญา”
พล.ต.ต.ไตรรงค์ระบุว่า นอกจากนี้ ยังต้องจัดเก็บข้อมูลหมายจับ ตำหนิรูปพรรณคนหาย ตำหนิรูปพรรณทรัพย์หาย ซึ่งในส่วนของคนหายและศพนิรนาม โดยตำแหน่ง ผบก.ทว.จะเป็นเลขาฯ คณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย เหมือนสวมหมวกอีกใบ ตนก็มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาต่อยอด ยกระดับงานให้บริการประชาชนเกี่ยวกับศูนย์ตรวจสอบประวัติ ทั้งการตรวจสอบประวัติผู้สมัครงาน การทำใบขับขี่ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ดียิ่งขึ้น
“เรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติ เนื่องจากแต่เดิมการจัดเก็บแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ใช้แบบกลิ้งหมึกพิมพ์มือ ต้องพัฒนาเป็นระบบไลฟ์สแกน ข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ มีการเชื่อมต่อแม่ข่ายรองรับ ซึ่งถ้าพร้อมก็จะดำเนินการร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐานจังหวัด ตรงนี้มันมีข้อดี คือมีความรวดเร็ว แม่นยำ เที่ยงตรง สามารถจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ได้เลย”
ผบก.ทว.กล่าวว่า การพิมพ์มือแบบเก่าถ้าพิมพ์ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ จะใช้งานไม่ได้ หรือหมึกเลอะเลือน ก็ต้องส่งไปพิมพ์ใหม่ เสียเวลา บางทีผู้ต้องหาถูกส่งเรือนจำ หรือประกันตัวออกไปแล้ว ก็จะเป็นปัญหา และอีกปัญหาที่พบคือการจัดเก็บเป็นแผ่นกระดาษ ไม่สามารถทำลายได้ ระเบียบขั้นตอนไม่อนุมัติ จะทำลายได้เฉพาะของผู้ที่เสียชีวิตแล้วเท่านั้น
ด้านการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรามีการทำงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และหน่วยกู้ภัยต่างๆ เรื่องคนหาย เรามี โครงการ “ริสต์แบนด์...หายไม่ห่วง”
สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือเด็กออทิสติก ที่ต้องอยู่ในความดูแลตลอดเวลา โดยริสต์แบนด์นี้จะมี คิวอาร์โค้ดเก็บข้อมูลผู้ป่วย มันมีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนริสต์แบนด์ทั่วไป จะมีสัญลักษณ์ของโครงการหายไม่ห่วง แล้วคุณก็โหลดแอพฯ ไทยมิสซิ่ง ไปสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้แอพฯนี้ มันจะส่งเรียลไทม์โลเคชั่นไปที่มูลนิธิกระจกเงา ที่เป็นผู้ดูแลระบบ ก็จะประสานไปถึงญาติที่ลงทะเบียนไว้ ก่อนประสานตำรวจมารับตัวไปส่งให้ญาติ
ส่วนการให้ความรู้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานอย่างอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิต่างๆ เราก็มีการจัดอบรมสอนการพิมพ์ลายนิ้วมือศพ จัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น รุ่นละ 50 คน ก็ได้คนมาช่วยเหลืองานตำรวจเราเพิ่มขึ้น เพียงแต่เขาต้องมีองค์ความรู้ ว่ามันมีหลักการอย่างไร กรอบของการพิมพ์ลายนิ้วมือเราต้องการอะไร และเขาก็จะเป็น ครูแม่ไก่ ไปสอนคนในมูลนิธิของเขาต่อไป ซึ่งโครงการนี้ก็ถือว่าได้ผลตอบรับดี
พล.ต.ต.ไตรรงค์ ทิ้งท้ายถึงมอตโต้ในการทำงาน ว่า “ตำรวจคือผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน” ตำรวจจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ ไม่ใช่รังแกประชาชน ตนยึดเอาแบบอย่างจากผู้บังคับบัญชาหลายๆ ท่าน เอาข้อดีของแต่ละท่านมาปรับใช้เป็นแนวทางของตนเองและไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองและการทำงานตลอดเวลา
ทีมข่าวอาชญากรรม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี