เหลือระยะเวลาอีกไม่นานนักชาวกทม.จำนวน 6 ล้านกว่าคนก็จะได้เลือกตั้งตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ด้านผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพลได้เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สเปก ของผู้ว่าฯกทม. ที่คนกรุงต้องการด้วยกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,060 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพในวันที่ 1-7 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผลวิจัยครั้งนี้ระบุว่า
ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ64.0 ยังไม่มีใครในใจ ในขณะที่ร้อยละ 36.0 ระบุมีพรรคการเมืองที่จะเลือกในใจแล้ว เช่น อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.1 ระบุมีพรรคการเมืองในใจในขณะที่ กลุ่มอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 78.4 พนักงานเอกชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.5 และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 78.5 ยังไม่มีใครในใจถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.
ที่น่าสนใจคือ ลักษณะ หรือ สเปก ของผู้ว่าฯกทม. ที่ต้องการ พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.8 ระบุซื่อสัตย์สุจริตไม่พัวพันทุจริต รองลงมาคือ ร้อยละ 74.3 ระบุแก้ปัญหาเก่ง รวดเร็ว ไม่ขายฝัน พูดจริงทำจริง มีผลงาน และร้อยละ 24.5 ระบุอื่นๆ เช่น คนรุ่นใหม่ การศึกษาดี เสียสละนโยบายจับต้องได้ มีโดยมีนโยบายที่น่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จัก เป็นต้น ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขพบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79.6 ระบุปัญหาจราจรรถติด ความปลอดภัยทางถนน อุบัติเหตุ คนขาดวินัยจราจรรองลงมา คือ ร้อยละ 56.9 ระบุ ค่าครองชีพ ของแพง ทำมาหากินไม่ได้
อีกร้อยละ 55.1 ระบุน้ำท่วมขังร้อยละ 51.1 ระบุมลพิษ ขยะเน่าเหม็นสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 50.4 ระบุอาชญากรรมความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 38.9 ระบุปัญหาการให้บริการ รถโดยสารขนส่งมวลชน ร้อยละ 27.7 ระบุถูกเรียกรับผลประโยชน์ทุจริตและร้อยละ 28.6 ระบุอื่นๆ เช่น การศึกษา ยาเสพติด และไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น
กทม.มีผู้ว่าราชการกทม.มาแล้ว 16 คน มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งจากรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง 9 คน ได้แก่ นายชำนาญ ยุวบูรณ์, นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล, นายศิริ สันติบุตร, นายสาย หุตะเจริญ, นายชลอ ธรรมศิริ,นายเชาวน์วัศ สุดลาภา, พลเรือเอกเทียมมกรานนท์, นายอาษา เมฆสวรรค์,พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง 7 คน คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน, พลตรีจำลอง ศรีเมือง,ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, นายพิจิตต รัตตกุล, นายสมัคร สุนทรเวช,นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์บริพัตร
ปัจจุบันมีนักการเมืองที่แสดงความสนใจว่าจะเสนอตัวให้ประชาชนคนกรุงเทพมหานครเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการ กทม.แล้วหลายคน ซีกพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มีกระแสข่าวออกมามีหลายคนเช่น พรรคพลังประชารัฐ เคยคิดจะเสนอพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม.คนปัจจุบันแต่ในที่สุดผลสำรวจความนิยมแล้วปรากฏว่ามีคนสนับสนุนน้อยจึงถอนชื่อออกไป คนต่อมา คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แต่ในที่สุดก็มีข่าวว่านายณรงค์ศักดิ์ไม่สนใจจะสมัครแต่อยากจะรับใช้ประชาชนด้วยการขอรับราชการต่อไป
คนอื่นๆ ก็มีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกและนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีหลายคน เช่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี,นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการ กทม.2 สมัย, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสส.กทม. และนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้สนับสนุนพรรครายสำคัญ เป็นต้น
ส่วนบุคคลอื่นๆ ก็มี อาทิ พรรคเพื่อไทยเดิมจะเสนอชื่อดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาสมัครแต่มีข่าวว่าดร.ชัชชาติอยากสมัครอิสระมากกว่าโดยมีการทาบทามจากหลายๆ ฝ่ายและฝ่ายรัฐบาลให้สนับสนุนเพราะไม่อยากให้มีกระแสต้านทางด้านการเมืองซีกระบอบทักษิณ ชินวัตร และอีกคน คือ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรโทรทัศน์คนดังที่อาจจะสมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ และอีกราย คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เอง
มีกระแสข่าวออกมาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ว่า ดร.ชัชชาตินั้นมีความนิยมจากประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคมากโดยเฉพาะชาวกทม.คนรุ่นใหม่ ดร.ชัชชาตินั้นอยากจะสมัครอิสระเพื่อดึงคะแนนเสียงในกทม.จากทุกภาคส่วนให้เต็มที่เพราะมีคะแนนนิยมสูงส่วนนายธนากรนั้นยังมีคดีความอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่เรื่องหุ้นสื่อมวลชนอาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหลายปีก็จะต้องหาคนอื่นมาสมัครแทน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.จะมีขึ้นในต้นปี 2563 มองได้ 2 มุม ด้านหนึ่งฝั่งรัฐบาลผสมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผู้สมัครลงเสนอตัวต่อประชาชนหรือไม่ เพราะฐานเสียงในกทม.ถือว่ามีพอควร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่น่าจะส่งนายอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรค ลงมาสู้ แต่อาจจะพิจารณาหาคนที่เหมาะสมที่สุดมาวัดคะแนนนิยมคนเมืองหลวงแต่จะเป็นใครนั้นคงต้องมีการพิจารณาว่าใครที่จะสู้ดร.ชัชชาติได้แล้วมีหวังชนะด้วยหรือไม่ชนะแต่มีคะแนนเสียงสูสีจริงๆ ไม่ใช่แพ้หมดรูปเหมือนเลือกตั้งสส.ที่ผ่านมา
ทีมข่าวการเมือง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี