ช่วงนี้ มีวิวาทะสืบเนื่องจากบทความในนิตยสารข่าวรายหนึ่งทำนองว่าไปพาดพิงเชิงดูหมิ่นหญิงสาวอีสานบ้านเฮา ที่มีสามีเป็นฝรั่งมังค่า บทความถูกด่า ถูกกดดัน กระทั่งถูกแบนคอลัมน์นั้นไปในที่สุด
อันที่จริง สังคมไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มิใช่น้อย
มีงานวิจัยศึกษาหลายชิ้น ที่ทำให้เกิดความ “เข้าอกเข้าใจ” โดยไม่แบ่งแยกและดูหมิ่นแคลนหัวใจกันและกัน
วันนี้ จึงขออนุญาตหยิบเอาการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยในประเด็นมายาวนาน ได้แก่ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.พัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี
ทั้งสองคนเคยให้สัมภาษณ์พิเศษเว็บไซต์ www.the101.world โดยคุณวันดี สันติวุฒิเมธี
ได้เรื่อง-ได้รส ได้ทั้งข้อมูล มุมมอง และองค์ความรู้ที่น่าสนใจมาก
บางส่วนบางตอน ขออนุญาตเรียบเรียงลำดับประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ต่อทัศนคติที่ว่า “ฝรั่งแก่คราวพ่อเลือกแต่งงานกับหญิงไทยเพราะได้ทั้งคู่นอนและแม่บ้านไปพร้อมกัน”?
ดร.พัทยาบอกว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เคยไปนำเสนองานวิจัยแล้วมีนักวิชาการไทยพูดถึงผู้ชายฝรั่งอายุเยอะว่าเหมือนส้มเน่าที่ไม่มีใครเอา จึงตกมาถึงผู้หญิงไทย การพูดแบบนี้ คุณกำลังดูถูกผู้หญิงไทยด้วยกันมันสะท้อนทัศนคติของคนไทยเรื่องการเหยียดหยามทางเพศ เมื่อก่อนมักมีคำพูดว่า ผู้หญิงไทยที่เดินกับผู้ชายฝรั่งคือ “อีตัว” ทุกวันนี้คุณบอกว่าแต่งงานกับผู้หญิงไทยได้ทั้ง “เมียและแม่บ้าน” ไปพร้อมกัน จริงๆ มันก็ยังเป็นคำพูดในคอนเซ็ปต์เดิม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเรื่องการเหยียดหยามทางเพศนั่นเอง
ดร.พัชรินทร์บอกว่า กรณีแบบนี้ต้องถามผู้หญิงเหมือนกันว่า พอใจไหม ผู้หญิงบางคนบอกว่า เหตุผลที่เลือกผู้ชายอายุเยอะ เพราะไม่ได้ต้องการเรื่องบนเตียง แต่ต้องการเพื่อนต่างหาก จริงๆ แล้ว ผู้ชายฝรั่งแก่ๆ ที่คุณเห็นว่ามาแต่งงานกับหญิงไทย เป็นความจริงเพียงบางส่วน
หรือภาพของเหรียญแค่ด้านเดียวเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นประเด็นที่ต้องคิด ต้องมองอย่างรอบด้าน เพราะฝรั่งหนุ่มๆ ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน เมื่อแต่งงานกับหญิงไทยแล้ว ก็มักจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ไม่ได้อยู่เมืองไทย คนไทยก็เลยไม่ได้เห็น จะเห็นแต่ฝรั่งที่เกษียณแล้ว และย้ายมาอยู่เมืองไทยกับภรรยา เราเลยมองแบบ “เหมารวม” ว่ามีแต่ชายฝรั่งแก่ที่แต่งงานกับหญิงไทย
2. เหตุที่เลือกฝรั่งเป็นผัว?
ดร.พัชรินทร์ระบุว่า มันมีเงื่อนไขที่หลากหลายและซับซ้อนมาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เป้าหมายในชีวิต รวมถึงเรื่องความรัก มีคนถามว่าความรักมาก่อนหรือมาหลังการตัดสินใจแต่งงาน? อย่างคนตะวันตกมองว่าคุณต้องรักก่อนถึงจะแต่งงาน แต่ผู้หญิงไทยในหมู่บ้านมักพูดถึงความสัมพันธ์กับสามีฝรั่งว่า “รัก สงสาร ผูกพัน” เหตุผลในตอนแรกที่แต่งงานอาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่หลังจากอยู่ด้วยกันไปก็จะเกิดความรักตามมา หลายคู่จึงอยู่ด้วยกันจนตายจากกัน ส่วนผู้หญิงชนชั้นกลางในเมือง ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็อาจให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นแรงจูงใจในการเลือกคู่น้อยกว่า
ดร.พัทยา ระบุด้วยว่า ยกตัวอย่าง หญิงไทยที่เป็นแม่ม่าย หรือหญิงขายบริการทางเพศ การแต่งงานใหม่กับชายไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ถามหน่อยว่ามีผู้ชายไทยคนไหนที่จะรับคนเหล่านี้เป็นภรรยาอย่างเต็มใจ แต่ฝรั่งไม่แคร์ว่าอดีตเป็นอย่างไร เราอาจพูดได้ว่า การแต่งงานกับฝรั่ง ณ จุดแรกอาจยังไม่ใช่ความรัก ตอนเราสัมภาษณ์ผู้หญิง เหตุผลที่บอกอย่างแรกไม่ใช่ความรัก บางคนก็บอกว่ามีลูกมีแม่ต้องเลี้ยงดู อยู่ในเมืองไทยก็เบื่อคงไม่มีอะไรดีขึ้น เขาไม่ได้บอกว่า แต่งเพราะรักผู้ชายคนนี้ การแต่งงานระหว่างคู่ที่ไม่ได้เจอกันตามธรรมชาติ น่าจะมีเงื่อนไขอื่นมากกว่าเรื่องอารมณ์ความรู้สึก คู่สมรสไทยกับตะวันตกส่วนใหญ่จะไม่ได้คบหากันแบบคู่รัก อาจเจอกันทางอินเตอร์เนต หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ
3. เมื่อไปอยู่ต่างประเทศกับสามีฝรั่ง เป็นอย่างไร?
ดร.พัชรินทร์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากว่า ผู้หญิงชาวบ้านที่แต่งงานกับฝรั่งแล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จะปรับตัวได้ดีกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษา เพราะเขาจะรู้สึกว่า ยังทำงานในภาคบริการเหมือนเดิม แต่ได้รับค่าแรงมากกว่า แต่ผู้หญิงที่มีการศึกษา เช่น จบปริญญาตรีจากเมืองไทย พอไปอยู่เมืองนอก บางคนก็ไปทำงานภาคบริการ เป็นพนักงานในร้านอาหาร ปริญญาไม่มีความหมาย เพราะคุณก็ต้องไปทำงานระดับเดียวกับผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาจะกดดันและต้องปรับตัวมากกว่า ถ้ามองในภาพใหญ่ เหมือนกับสถานะจะเลื่อนขึ้น เพราะได้ไปอยู่ในประเทศที่รวยกว่า หรือพัฒนามากกว่า แต่ถ้ามองระดับบุคคล เหมือนสถานะจะลดลง เลยเป็นอะไรที่สวนทางกัน
ดร.พัทยาเสริมว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน ในแง่สถานะทางสังคมอาจจะลดลง แต่ในแง่เศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้น จากคนที่มีการศึกษาควรทำงานไวท์คอลลาร์ แต่ต้องมาทำงานระดับบลูคอลลาร์ เพียงแต่ได้เงินมากกว่า คนที่มีการศึกษาสูงมักจะหยิ่งทะนงตัวเพราะคิดว่าตนเองเรียนมาตั้งเยอะ ไม่เหมือนกับชาวบ้าน งานอะไรทำหมด
4. ตีแสกหน้าวิธีคิดที่ว่า “ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติเพื่อเงิน”?
ดร.พัชรินทร์ระบุว่า คำพูดที่ว่า “ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติเพื่อเงิน” เป็นชุดคำพูดเกิดจากสังคมของชายเป็นใหญ่เพราะเหมือนคุณผลักบาปไปให้ผู้หญิง แต่สังคมไม่เคยถามหาความรับผิดชอบของผู้ชาย ไม่เคยถามว่าทำไมผู้หญิงต้องขวนขวายไปหาเงิน เงินที่หามาได้เอาไปทำอะไร
ดร.พัทยาบอกว่า มันสะท้อนเรื่องโครงสร้างของสังคมไทยด้วย อย่างผู้หญิงที่เคยขายบริการมาก่อน มีใครยอมรับไหม มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราเหยียดหยาม ไม่เคยให้โอกาส อย่างคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำไมต้องไปขวนขวายหาสามีฝรั่งมาช่วยเลี้ยงดูลูกขนาดนั้น เพราะถ้าเป็นสังคมตะวันตก ถึงจะเลิกกันแล้ว พ่อของเด็กก็ยังต้องช่วยรับผิดชอบจนลูกอายุ 18-20 ปี แต่สังคมไทยไม่มีกฎหมายบังคับใช้ให้พ่อของเด็กต้องรับผิดชอบ พอมีลูกแล้วก็ปัดก้นไปเลย ผู้หญิงจึงต้องวิ่งหาโอกาสอยู่รอดด้วยตัวเธอเองแบบนี้
ทั้งหมดนี้ เป็นแค่บางส่วนที่ทำให้เข้าใจถึงกรณีที่หญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติ ได้ดียิ่งขึ้น
โดยไม่ต้องเหยียดหยาม ดูแคลนใคร
ความรัก เป็นเรื่องไร้พรมแดน
การแต่งงาน มีมากกว่าความรัก
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี