พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะทำการปฏิวัติแล้วตั้งตัวเป็นผู้เผด็จการทำการปกครองประเทศเป็นเวลากว่า 5 ปี และหลังจากประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อมีการเลือกตั้งแบบพิสดารบรรดาลูกสมุนต่างก็กระทำทุกวิถีทางทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้บรรยากาศทางการเมืองเปลี่ยนไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพลเอกประยุทธ์ แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดิมแต่อำนาจที่เคยมีสมัยที่เป็นองค์อธิปัตย์ก็ไม่มีในสมัยปัจจุบันคำสั่งหรืออำนาจโดยเฉพาะมาตรา 44 ซึ่งกล่าวให้ว่าเป็นดาบอาญาสิทธิ์ที่เคยมีอยู่ก็ไม่มีอีกต่อไป
ความอึดอัดไม่เคยชินย่อมแสดงออกด้วยอารมณ์หงุดหงิดจนกระทั่งเมื่อไปเยี่ยมคารวะครูที่โรงเรียนที่เคยศึกษาถูกครูเตือนสติเรื่องอารมณ์ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปที่เกิดขึ้นในวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่สองที่เป็นรัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมเป็นรัฐบาลการบริหารประเทศในครั้งนี้องค์ประกอบของรัฐมนตรีก็ไม่เหมือนเดิม
กล่าวคือ ครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่เลือกบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันตัวผู้ที่เป็นรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองต่างๆ เพราะเป็นรัฐบาลผสมการบริหารงานจึงไม่เหมือนก่อน ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่และจะเป็นปัญหาในตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็คือการที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหากับรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งมีข่าวว่าทางฝ่ายรัฐบาลต้องการให้อภิปรายในขอบเขตของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สองเท่านั้น
ซึ่งในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการบริหารประเทศจะตัดกรอบเช่นนั้นไม่ได้ เพราะผลงานที่ถูกอภิปรายจะครอบคลุมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน งานที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ตั้งแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะองค์อธิปัตย์เป็นเวลากว่า 5 ปี จนถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบหรือประชาธิปไตยฟันปลอม ในปัจจุบันเป็นการบริหารประเทศภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ผู้เดียว และงานที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายครั้งนี้โดยมุ่งไปที่ตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
แม้จะมีข่าวว่านอกจากตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีรัฐมนตรีร่วมคณะอีกบางคนที่จะถูกอภิปรายด้วย แต่แนวโน้มในการอภิปรายครั้งนี้คงมุ่งไปสู่ตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ และคาดว่าผลจากการอภิปรายครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้กติกาประชาธิปไตย กล่าวคือ ผลจากการอภิปรายอาจเกิดเหตุการณ์ถึงรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาตามกติกาประชาธิปไตย ส่วนมีการกล่าวว่าผลจากการอภิปรายครั้งนี้อาจจะกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกกติกาซึ่งในความเห็นของผู้เขียนในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์เห็นว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นผู้ที่กระทำการนอกกติกาประชาธิปไตยครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี