กว่า 15 ปีมาแล้ว ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2546 ถึง 2547สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 1 ซึ่งมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลในขณะนั้น โดยใช้ข้อมูลจากผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,191 คนทั่วประเทศ ที่สภาที่ปรึกษาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดทำขึ้น พบว่าอุปสรรคของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน มาจากกลไกการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ขาดความเป็นอิสระ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ทันต่อสถานการณ์ และการที่ประชาชนขาดเครื่องมือในการตรวจสอบ ดูแล และประเมินผลการทำงานขององค์กรต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นโดยสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขโดยให้รัฐบาลส่งเสริมการรวมกลุ่มและการบริหารจัดการองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้น
มาถึงในปัจจุบัน ข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการตอบสนองไปแล้วบ้าง ทั้งโดยการมีกฎหมายใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม ไปจนถึงมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พศ.2560 ไว้ เช่น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่กำหนดว่า “...รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ...”
แต่อุปสรรคดังกล่าวก็ยังไม่หายไปเสียทีเดียวสื่อ องค์กรประชาสังคม และประชาชนที่ต้องการจะเข้ามาร่วมตรวจตราสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐยังคงมีต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะอยู่มาก ทั้งๆ ที่ในยุคดิจิทัลนี้การนำข้อมูลออกเผยแพร่สามารถทำได้ง่าย เปิดเผยได้มากมหาศาล โดยค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก การเผยแพร่ข้อมูลจึงไม่มีอุปสรรคของการลงทุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่เคยมีราคาแพงมากอีกต่อไปแล้ว จึงเหลือแต่เพียงว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจจริงที่จะเปิดเผยข้อมูลสาธารณะหรือไม่เท่านั้น
ในฐานะที่ผมเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อน ชุดที่เสนอข้อเสนอนี้ เมื่อ 15 ปี ในวันนี้ผมจึงขอนำเสนอการสร้างความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ที่ต้องการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ ปลอดจากการมีคอร์รัปชัน มีเกราะคุ้มกันจากผู้ที่มีอำนาจจะมาแสวงหาผลประโยชน์จากหน่วยงานได้ผล ต้องเปิดเผยข้อมูล ด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. เปิดเผยข้อมูลอย่างพอเพียง ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป และมีให้ทันทีไม่ล่าช้า ตัวอย่างเช่น ระบบเปิดเผยข้อมูลงานก่อสร้างของเทศบาลเมืองโซล ของเกาหลีใต้ ที่มีชื่อเสียงมาก เพราะเปิดเผยข้อมูลได้รวดเร็ว และครบถ้วน
2. ข้อมูลที่เปิดเผย ต้องง่ายต่อการค้นหา และอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่นำไปใช้ต่อได้โดยไม่ต้องไปพิมพ์คัดลอกใหม่ ตัวอย่างที่ไม่ควรทำในยุคนี้ คือการเผยแพร่ข้อมูลโดยการติดประกาศไว้ที่แผงประชาสัมพันธ์หน้าหน่วยงาน ต้องให้ผู้สนใจและสื่อมวลชนมาคัดลอกด้วยมือหรือถ่ายรูปประกาศ ในข้อมูลของรัฐบางหน่วยยังเขียนด้วยลายมือ ซึ่งต้องใช้สมองคนเท่านั้นที่จะอ่านเข้าใจได้ คอมพิวเตอร์ปัจจุบันอ่านลายมือภาษาอังกฤษได้แม่นยำเกือบ 100% แต่ลายมือภาษาไทยนั้นเพิ่งทำได้ แค่80-90% เท่านั้น
3. ข้อมูลที่เปิดเผยต้องทำให้เข้าใจง่าย และมีเนื้อหาน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลชื่อ “ภาษีไปไหน” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ที่แสดงข้อมูลในรูปของแผนที่ประเทศไทย ว่าจำนวนเงินงบประมาณต่างๆ นั้นไปอยู่ที่ส่วนใดของประเทศไทย เห็นได้ทันทีในภาพเดียว
4. การเผยแพร่ที่ดี ต้องส่งให้ถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรงทุกฝ่ายโดยไม่ต้องรอให้มาร้องขอ ตัวอย่างที่ดีก็คือ การประกาศคัดเลือกสถาปนิก ผู้ออกแบบโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ ก็ไม่ควรประกาศไว้ในเว็บไซต์ตามปกติเท่านั้น อย่างเช่น การประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งประกาศไปที่สมาคมสถาปนิกสยาม และสภาสถาปนิก ที่รวบรวมสถาปนิกทั้งประเทศไว้ครบถ้วน จึงมีผู้ส่งแบบเข้าประกวดถึงสองร้อยกว่าราย
5. ให้มีการรวบรวมคำตอบ หรือคำชี้แจง ที่มีผู้สนใจ ส่งคำซักถาม มาขอซ้ำๆ กันบ่อย (FAQs - Frequently Asked Questions) ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของปตท. จะมีคำตอบสำหรับคำถามที่ถูกถามบ่อยไว้ให้อ่าน ในหัวข้อ FAQs
6. ให้มีผู้เข้ามารับรู้ข้อมูลองค์จำนวนมาก เพื่อเป็นเกราะป้องกันผู้ที่จะเข้ามาแอบแสวงหาผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมให้คำแนะนำลูกศิษย์ ที่มีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำลังเชื้อเชิญนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนก่อสร้างในประเทศไทย งบประมาณเป็นหมื่นล้าน ให้โปร่งใสไม่มีนอกมีใน และคงอยากจะป้องกันมิให้พรรคพวก คนใกล้ชิดทางการเมืองมาวิ่งเต้นด้วย ผมได้แนะนำให้มาแถลงข่าวเชิญชวนที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นประธานคณะทำงานศึกษาและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบอยู่ในขณะนั้น ซึ่งสถานทูตต่างๆ ก็ได้สนใจและกระจายข่าวให้นักลงทุนของเขาเข้ามารับฟังกันเต็มห้อง เมื่อเขาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปหลังการยึดอำนาจและมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนนักการเมืองต่างๆ ก็ไม่ไม่มีชื่อของเขาในรายการสอบสวนเลย
7. รูปแบบการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างของรัฐ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และกรมบัญชีกลาง มีการใช้อยู่ ชื่อว่า CoST (Construction Sector Transparency Initiative) โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐนี้สามารถนำมาใช้ในเป็นตัวอย่างในการเปิดเผยข้อมูลในหน่วยงานที่มีงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง
8.พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เป็นมาตรฐานต่ำสุดตามกฎหมาย ไม่ควรทำแค่นั้น
9.การเปิดเผยขั้นสุดยอดคือ การเปิดให้บุคคลที่เป็นอิสระและเป็นกลางได้เข้าไปนั่งรับรู้ รับฟังการประชุมร่างเงื่อนไขในการเสนอราคา หรือ TOR ตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระ ที่คัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ โดยองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ปัจจุบันนอกจากจะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐ และรัฐวิสาหกิจได้นับแสนล้านบาทไปแล้ว ยังมีผลช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดีๆได้มีกระบวนการป้องกันตัวเองผู้มีอำนาจทั้งจากภาครัฐและภาคการเมือง ซึ่งในอดีตสามารถเข้ามาชี้นิ้ว ร่าง TOR ให้เป็นประโยชน์เฉพาะพรรคพวกของตนเองได้
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี