ต้องบอกว่า “สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ” กับการระบาดของ “ไวรัสโควิด-19 (COVID-19)” ในประเทศไทย แม้ทาง “ศบค.” ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะย้ำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า “การ์ดอย่าตก-ประมาทไม่ได้” แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ไม่ได้เพิ่มสูงจนน่าตระหนกหากเทียบกับเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า
ในทางกลับกัน “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” ดูจะเป็นเรื่องที่ผู้คน “เริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ” อาทิ การเปิดเผยของ กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อ 13 เม.ย. 2563 ว่า “หากสถานการณ์ยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติมจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน” จากเดิมในช่วงนี้ที่ผู้ประกอบการประเมินว่าจะมีแรงงานตกงาน 7 ล้านคน
จากนั้นเพียง 1 วันให้หลัง ในวันที่ 14 เม.ย. 2563 ปรากฏภาพ “ประชาชนรวมตัวกันไปบุกกระทรวงการคลัง” แสดงความไม่พอใจกรณี “ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนแล้วถูกตัดสิทธิ์” ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็มีรายงานผ่านสื่อต่างๆ ว่าหลายคนถูกระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่รัฐบาลนำมาใช้พร้อมโฆษณาว่าล้ำและไฮเทคมากๆ ปฏิเสธโดยบอกว่าเป็นเกษตรกร หรือคนที่อายุมากพอสมควรแต่ยังมีใจใฝ่รู้ ใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำไปเรียนหนังสือ ก็ถูกระบบปฏิเสธด้วยเหตุว่าเป็นนักเรียน-นักศึกษา
อีกด้านหนึ่ง แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายการทำงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอบทวิเคราะห์ “การประมาณการประชากรคนไร้บ้าน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ซึ่งมี ผศ.ดร.พีระตั้งธรรมรักษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น นักวิจัยประจำแผนงานฯ เป็นผู้ร่วมเรียบเรียง ใช้แบบจำลองพยากรณ์จำนวนคนไร้บ้านหลังวิกฤติโควิด-19
โดยหากยึดจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยตามที่ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2558 ซึ่งในเวลานั้นมีคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ 1,307 คน นำมาคำนวณผ่านข้อมูลพยากรณ์ทางเศรษฐกิจจาก 3 แหล่ง พบว่า
1.หากใช้ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวร้อยละ 5.3 จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะอยู่ที่ 1,688 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.15 จากปี 2558 2.หากใช้ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ที่พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว
ร้อยละ 3-5 จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะอยู่ที่ 1,595-1,675 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ22.03-28.15 จากปี 2558
และ 3.หากใช้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ที่พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวร้อยละ 5.6 จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะอยู่ที่1,701 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.14 จากปี 2558 ดังนั้น “บทสรุป” ของแบบจำลองคือ “สัญญาณเตือนว่าหลังวิกฤติโควิด-19 คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้น” ดังนั้นต้องมีมาตรการรองรับหากมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจริง เพื่อให้คนเหล่านี้กลับสู่สังคมโดยเร็วที่สุด
“การฆ่าตัวตาย” ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าห่วงหลังมีรายงานระบุมูลเหตุจูงใจว่าเกิดจากการตกงานเพราะวิกฤติโควิด-19 ทั้งที่ทำสำเร็จและพยายามทำแต่มีผู้ช่วยเหลือไว้ได้ก่อน ซึ่งหากดูข้อมูลย้อนหลังของ กรมสุขภาพจิต พบว่า “ในปี 2541-2543 สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” โดยอยู่ที่ 8.12 8.59 และ 8.4 ตามลำดับต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจและสังคมไทยกำลังบาดเจ็บหนักจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 และนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยก็ไม่เคยกลับไปสูงในระดับนั้นอีกเลย
เหลียวมองดูต่างประเทศที่สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มากกว่า และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย วันนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ บ้างแล้ว “หนุนผู้ประกอบการไม่ให้ล้มละลาย-พยุงลูกจ้างไม่ให้ตกงาน” ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นปัญหาสังคมที่รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรไปดูแลอย่างหนักหนาสาหัสไม่ต่างจากโรคระบาดที่หวั่นเกรงกันตลอดว่าจะมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล หรืออาจจะยิ่งกว่าเพราะสิ่งที่มักตามมาพร้อมกับจำนวนคนตกงานที่เพิ่มขึ้นคือ “ปัญหาอาชญากรรม” ที่มากขึ้นด้วย
เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย..ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องให้น้ำหนักกับปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องของประชาชนเท่ากับโรคระบาดเสียที “กิจกรรมใดที่พอให้ดำเนินการได้ก็ขอให้ผ่อนผันบ้าง” ไม่ว่าจะพิจารณาจากประเภทกิจการหรือจากสถานการณ์เป็นรายพื้นที่ก็ตาม!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี