แฟนเพจนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เผยแพร่ภาพและบรรยายข้อความระบุว่า
“พิธีฌาปนกิจ คุณพ่อสำเนา ใสยเกื้อ 18 ก.ค.2563 ณ วัดบางเพ็งใต้ มีนบุรี กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ขอกราบขอบคุณกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมราชทัณฑ์ อธิบดีณรัชต์ เศวตนันทน์ (พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์) ตลอดจนหน่วยงานเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้อนุญาตให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาทำหน้าที่ของลูกชายในวินาทีสุดท้ายของพ่อครบถ้วน ตามขั้นตอนในประเพณี”
นอกจากนี้ ได้นำเสนอภาพนายณัฐวุฒิในพิธีเผาศพบิดาอีกหลายภาพ
1. นายณัฐวุฒิเป็นนักโทษเด็ดขาด อยู่ระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบุกบ้านสี่เสาฯ จำคุก 2 ปี 8 เดือน เพิ่งเข้าไปรับโทษในเรือนจำเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา
2. เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง ทำนองว่า เรือนจำให้อภิสิทธิ์กับนายณัฐวุฒิ สามารถออกมาร่วมงานศพบิดาได้ แต่นักโทษคนอื่นๆ กลับไม่เคยปรากฏว่าได้ออกมาเช่นนี้
โดยเฉพาะกรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เมื่อครั้งติดคุกอยู่ แล้วภรรยาเสียชีวิต นายสนธิก็ไม่เคยได้รับโอกาสออกมาร่วมพิธีศพ หรือพิธีเผาศพ เพื่อลาจากภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเลย
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เคยเผยแพร่ข้อเขียนของนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายนายสนธิเล่าว่า ก่อนเข้าคุก นายสนธิได้ฝากถ้อยคำและกำลังใจไปถึงนางจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล ภรรยาของนายสนธิ ที่ขณะนั้นกำลังรักษาโรคมะเร็งอยู่ในห้องไอซียู แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าไม่คิดจะหนี ไม่ยืดเยื้อคดี และน้อมรับการพิจารณาของศาล เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลสถิตยุติธรรมเอาไว้
“...รู้สึกจุกน้ำตาเอ่ออยู่แค่ประโยคที่ท่านฝากถึง อ.จันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล คุณแม่ผมที่กำลังนอนรักษามะเร็งอยู่ในห้องไอซียูอยู่แค่ประโยคเดียวว่า “บอกแม่ว่าป๋าไม่เป็นอะไร ให้แม่เข้มแข็งเอาชนะโรคร้ายให้ได้ มีชีวิตสู้ให้ถึงวันที่ป๋าจะได้ออกมาเจอแม่นะ”
หลังจากนั้น เมื่อภรรยาเสียชีวิต มีพิธีศพ นายสนธิก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาร่วมพิธีด้วยเลยแม้แต่วินาทีเดียว
เมื่อคราวที่นายสนธิโพสต์ข้อความไว้อาลัยต่อกรณีการจากไปของ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง บางช่วงตอน นายสนธิก็เอ่ยไว้ว่า
“...ในชีวิตผมมีความเสียใจมากที่สุดกับการเสียชีวิตของบิดาและมารดา
เสียใจมากที่สุดอีกครั้งกับการจากไปของภรรยา (คุณจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล) ที่ตัวเองไม่ได้มีโอกาสอยู่เคียงข้างตอนเธอสิ้นใจ และไม่ได้อยู่ในการฌาปนกิจเธอ เพราะติดอยู่ในเรือนจำ รู้แต่ว่าคนมางานศพเธออย่างล้นหลาม รวมทั้งน้องรักที่ชื่อตั้ว (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ที่มีน้ำใจอย่างมาก ๆ….”
3. น่าคิดว่า ทำไม นช.ณัฐวุฒิ จึงได้รับอนุญาตให้ออกจากเรือนจำ มาร่วมพิธีเผาศพของบิดาได้?
พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ หมวด 5 เรื่อง สิทธิ หน้าที่ ประโยชน์ และกิจการอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ต้องขัง
ในส่วนที่ 3 ได้ระบุถึง ประโยชน์ของผู้ต้องขัง
มาตรา 52 นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดีมีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(4) ระบุว่า ลาไม่เกินเจ็ดวันในคราวหนึ่ง โดยไม่นับรวมเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางเข้าด้วย เมื่อมีความจำเป็นเห็นประจักษ์เกี่ยวด้วยกิจธุระสำคัญหรือ กิจการในครอบครัว แต่ห้ามมิให้ออกไปนอกราชอาณาจักรและต้องปฏิบัติ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมราชทัณฑ์ ระยะเวลาที่อนุญาตให้ลานี้มิให้หักออกจากการคำนวณกำหนดโทษ
ถ้านักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับอนุญาต ให้ลาออกไปไม่กลับเข้าเรือนจำภายในเวลาที่กำหนดเกินกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ให้ถือว่านักโทษเด็ดขาดผู้นั้นหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา
4. เป็นที่บังเอิญพอดีอย่างที่สุด...
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2563 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ
ก่อนที่นายณัฐวุฒิจะลาจากเรือนจำ ออกไปร่วมพิธีศพของพ่อแค่ 2 วัน
ปรากฏว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง การลาของนักโทษเด็ดขาด แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลาของนักโทษเด็ดขาด ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการลาของนักโทษเด็ดขาด ที่มีการแก้ไขใหม่ลงวันที่ 10 พ.ค.2561 และแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาอนุญาตให้นักโทษเด็ดขาดลากิจ เฉพาะการลาไปประกอบพิธีเกี่ยวกับงานศพ เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศ ถือปฏิบัติเป็นแนวทางการลาของนักโทษเด็ดขาด โดยมีการแก้ไขใหม่บางประการ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แจ้งผู้ว่าฯ เพื่อทราบ และแจ้งให้เรือนจำถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่นายณัฐวุฒิจะได้ลาออกไปร่วมพิธีศพของบิดา ไม่ถึง 48 ชั่วโมง
5. ระเบียบว่าด้วยการลาของนักโทษเด็ดขาดฯ เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนลงนามล่าสุด เมื่อ 16 ก.ค.2563
มีการปรับคุณสมบัตินักโทษเด็ดขาด ที่จะขออนุญาตลากิจ เข้าเงื่อนไขที่จะสามารถขอลาไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพ
จากเดิมต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป ปรับเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป
โดยให้เฉพาะการลาไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพ (ฝังศพ หรือเผาศพ ฯลฯ) เท่านั้น
และให้เฉพาะผู้ตายที่เป็น บิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตร ของนักโทษเด็ดขาด
6. “สารส้ม” เห็นด้วยว่า เพื่อมนุษยธรรม สมควรให้โอกาสนักโทษในการลาไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพบิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตรได้ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยตามแต่กรณี
จึงเป็นเรื่องดี หากมีระเบียบรองรับชัดเจน เป็นมาตรฐาน จะได้ไม่มีการเลือกปฏิบัติอีกต่อไป
แต่กรณีที่อนุญาต นช.ณัฐวุฒิ ทางราชทัณฑ์ก็จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเป็นทางการว่า เข้าเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างไร?
นช.ณัฐวุฒิ เป็นนักโทษชั้นกลางขึ้นไปอย่างไร? เพิ่งเข้าไปรับโทษ ยังเหลือโทษจำคุกอยู่ 2 ปีกว่า แค่เข้าเงื่อนไขการลาได้อย่างไร?
ถ้าเป็นไปตามระเบียบเดิมก่อนแก้ไขเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 นายณัฐวุฒิจะได้รับอนุญาตให้ลา หรือไม่?
แบบนี้ เป็นธรรมกับนายสนธิ แกนนำพันธมิตรฯ และผู้ต้องขังคนอื่นๆ ในเรือนจำ หรือไม่?
คนเสื้อแดง และแกนนำเสื้อแดง จะเลิกอ้างว่า พวกตนถูกกลั่นแกล้งเลือกปฏิบัติอยู่ข้างเดียว เลิกพ่นคำพูดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองฝ่ายเดียวเช่นนั้นได้แล้วหรือยัง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี