นับแต่ระบอบทักษิณ เข้าบริหารประเทศ บ้านเมืองเกิดความแตกแยกแบ่งฝ่าย มีความแตกต่างทั้งแนวคิด อุดมการณ์และผลประโยชน์ เมื่อเกิดเหตุลุกลามได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง คือ ใช้อาวุธเข้าควบคุมประเทศและสังคมด้วยการ “รัฐประหาร”
ประเทศไทยเปลี่ยนจากการยึดครองระบบเผด็จการโดยทุนสามานย์ เป็นเผด็จการโดยปืน ผ่านการควบคุม ปกครอง และบริหารประเทศโดยทหารมากว่า ๖ ปี นับแต่พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา
๕ ปีแรกของการปกครองมีการบริหารโดยตรงจากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ (ฉบับชั่วคราว) ที่ผู้ยึดอำนาจประกาศใช้
และอีก ๑ ปีเศษ เป็นการปกครองและบริหารโดยซ่อนอยู่ภายใต้รูปแบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่กลไกของกฎกติกาทั้งการเลือกตั้งและการบริหารประเทศซ่อนเงื่อนแห่งอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ โดยเฉพาะที่สมาชิกวุฒิสภาถูกตั้งข้อรังเกียจถึงที่มาจากการแต่งตั้ง แต่มีอำนาจมากขนาดร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือวุฒิสภาถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารผู้ยึดอำนาจ ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และเพื่อค้ำจุนหนุนรัฐบาล ยิ่งกว่านั้นยังทำหน้าที่เป็นยามปกป้องรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยโชคร้าย สังคมไทยได้สูญเสียประมุขแห่งแผ่นดินที่ประชาชนรักเทิดทูนและมีความเชื่อมั่นศรัทธาสูง สังคมไทยจึงขาดสถาบันหลักที่เคยนำพาสังคมผ่านพ้นวิกฤติมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
วิกฤติการเมือง โควิด เศรษฐกิจและสังคม
๑. รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ วางกฎกติกาของอำนาจและการได้มาซึ่งอำนาจ ถูกมองว่าเป็นกติกาที่ลำเอียงเพื่อสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งสส. การได้มาซึ่งสว. โดยเฉพาะในช่วง ๕ ปีแรกที่อำนาจหน้าที่ของ สว.มีมากล้นเกิน ส่งผลกระทบไปถึงการสรรหาและการดำเนินงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จนทำให้สังคมลดความน่าเชื่อถือลงอย่างมาก
๒. นักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชนและประชาชน แสดงปฏิกิริยาไม่พอใจรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นอย่างมาก
เรียกร้องให้แก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกร้องให้ยุบสภาและขจัดสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้เผด็จการ ไม่ยึดโยงกับประชาชน
เมื่อผู้เรียกร้องถูกคุกคาม จับกุม ผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ยุติการคุกคามและต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
๓. ในการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องมีผู้ชุมนุมบางคนในบางสถานที่ เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภายุติดำเนินการ เพิ่มอำนาจ ทรัพย์สิน และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการบริหารประเทศ แต่ปรารถนาให้สถาบันฯ มีความมั่นคง ยั่งยืน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๔. การเรียกร้องดังกล่าว ถูกมองว่าล้ำเส้นจาก กลุ่มคนที่ยึดมั่นในสถาบัน จึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ เพราะไม่ต้องการให้อ้างอิง วิพากษ์วิจารณ์ แนะนำสถาบัน คิดว่าการไม่กล่าวถึงไม่เสนอแนะไม่วิจารณ์ใดๆ ในที่สาธารณะ จะสร้างความยั่งยืนมั่นคงให้สถาบัน
ในความเป็นจริง พวกเราทุกคนไม่ควรดึงสถาบันลงมาเกี่ยวพันกับการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางบวกหรือทางลบ โดยถือว่าสถาบันของเราอยู่เหนือการเมือง ก็น่าจะเหมาะสมและสร้างสรรค์
๕. ข้อเรียกร้องของประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขจัดบทบาทสมาชิกวุฒิสภา และมีการยุบสภา จึงถูกเจือจางลงด้วยการเกิดปฏิกิริยาต่อต้านของกลุ่มคนที่มองต่างในเรื่องคุณค่า และการให้ความสำคัญของสถาบันในเชิงประวัติศาสตร์ และให้คุณค่าไม่มากนักกับระบอบประชาธิปไตยโดยมีตัวแทนจากการเลือกตั้ง
๖. คนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในโลกดิจิทัล สื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาสังคมการเมืองระหว่างกันได้อย่าง
กว้างขวางทั่วถึงทุกภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันคนรุ่นก่อนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็รับข้อมูลในแวดวงของตนด้วยวิธีการสื่อสารสมัยก่อน
ช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่น จึงขยายตัวมากขึ้น การให้คุณค่า การกำหนดค่านิยม จึงแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้แต่การชุมนุมเรียกร้อง คนรุ่นเก่าก็วัดที่จำนวนผู้มาชุมนุม จึงเอาภาพถ่ายมุมสูงของการชุมนุมแต่ละยุคสมัยมาเปรียบเทียบโดยหารู้ไม่ว่า
๑) นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เขาชุมนุมแสดงออกโดยไม่ต้องมีสถานที่ คือ ชุมนุมเรียกร้องแลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์ที่เขาสื่อสัมพันธ์ และเขาคิดว่าในบางเรื่องเขามีคนจำนวนมากที่เห็นด้วยกัน เป็นแสนเป็นล้าน
๒) การชุมนุมที่รวมตัวรูปแบบเดิม เป็นครั้งคราว ก็เพียงเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องและจำนวนให้ผู้มีอำนาจและคนรุ่นก่อนได้รับรู้ ได้เข้าใจ
การนัดแนะการชุมนุมในสมัยนี้ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งโปสเตอร์ โทรทัศน์วิทยุกระแสหลักอีกต่อไป เพราะเขา สามารถนัดแนะผ่านสังคมออนไลน์
๓) การชุมนุม สามารถ กระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเดินทางมารวมศูนย์ที่ราชดำเนินเหมือนอดีต ที่ผู้คนต้องนั่งรถตู้ รถบัส รถไฟ มาชุมนุม ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สนใจการนับจำนวนคนที่มาชุมนุม ณ สถานที่หนึ่ง จึงยากที่จะ
เปรียบเทียบกับการชุมนุมในรูปแบบก่อน
๔) การชุมนุมแต่ละสถานที่จึงเกิดขึ้นต่างเวลา ต่างสถานที่และต่างรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีเดียวกันแต่อาจมีสัญลักษณ์บางอย่างเหมือนกัน
แม้ข้อเรียกร้องจะมีส่วนเหมือนกันบ้าง เช่น ไม่เอาเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็มีแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น การชุมนุมของนักเรียนก็มีการแต่งกายแบบหนึ่ง ติดสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ โบสีขาว ชู ๓ นิ้ว และมีข้อเรียกร้องให้ยุติการบริหารโรงเรียนแบบอำนาจนิยมที่เป็นเผด็จการ
๗. ช่องว่างแห่งความเข้าใจระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นหลังมีสูงมาก การปรับความคิด ทัศนคติ และการสื่อสารระหว่างรุ่น รวมถึงระหว่างผู้ปกครองและลูกจึงมีความสำคัญยิ่งในยามนี้
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ ความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อเราและลูกเห็นต่างทางการเมือง คลินิกวัยรุ่นของหมอ เริ่มมีพ่อแม่มาบ่นกลุ้มใจที่ลูกเข้าไปวุ่นวายกับเรื่องของการเมือง
ห้ามก็ไม่ฟัง นี่ขู่ตัดแม่ตัดลูกไปละ ส่งเสียเรียนมาขนาดนี้ ยังโง่ให้เค้าจูงจมูก หมอคุยให้หน่อย ว่าไม่ให้เข้าไปยุ่งกับอะไรพวกนี้”
หมอมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ดังนี้
l ให้ดีใจที่ลูกมองว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ประเทศจะไม่พัฒนาด้วยวัยรุ่นที่มองแต่ปัญหาของตัวเอง
l จงเชื่อมั่นว่าวัยรุ่นที่ “ตั้งคำถาม” นำมาซึ่งความงอกงามเสมอ
l หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดตัดสิน ดูถูก บั่นทอนคุณค่า “โง่” “อุตส่าห์เรียนสูง” “ให้เค้าจูงจมูก” เพราะนั่นไม่ได้ทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสันติ
l “รับฟัง” แบบเปิดใจไม่รีบตัดสิน ลูกรู้สึกอะไร อึดอัดอะไร มีความต้องการอะไร ให้คุณค่ากับอะไร ทำไมถึงคิดหรือเชื่อสิ่งนั้น ฟัง... ด้วยความต้องการที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อสั่งสอน
l เคารพการให้ “คุณค่า” ในสิ่งที่แตกต่าง (สมัยพ่อแม่อาจให้คุณค่าเรื่องการไม่ตั้งคำถามกับคนที่เคารพหรือมีอำนาจ เด็กสมัยนี้ให้คุณค่ากับสิทธิความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม)
l ตั้งคำถามกับสิ่งที่ลูกให้คุณค่า (เราอาจพบว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน) บอกลูกได้ ถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า และที่มาของความเชื่อนั้น
l อย่ารีบปักใจว่าลูกโง่ เด็กสมัยนี้โตมากับความรู้มหาศาล ให้สงสัยความไม่รู้ของตัวเองอยู่ด้วยเสมอ
l สอนลูกตั้งคำถาม กับสิ่งที่ลูกเชื่อหรือถูกบอกมาอันไหนจริง อันไหนใช่ เพราะอะไรถึงเชื่อสิ่งนั้น ช่วยลูกฝึกการวิเคราะห์แยกแยะ
l การที่วัยรุ่นลงมือลงแรงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เชื่อมั่น นั่นคือพลังงานของวัยหนุ่มสาว ที่เราควรรักษาไว้
l สอนลูกเรื่อง การเรียกร้องสิทธิ ไม่ควรกระทำโดยการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
l สอนลูก (และตัวเอง) ว่าการใช้ hate speech สร้างความเกลียดชัง หรือการสร้างภาพเลวร้ายให้ตัวบุคคล อาจไม่นำ
ไปสู่การสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ตนต้องการ
l อธิบายลูกว่าความรักความศรัทธาของคนหลายคน อาจไม่ต้องมีเหตุผล แต่เป็นเรื่องที่เราควรให้คุณค่า อย่าทำลายหรือดูถูกความศรัทธาของผู้อื่น
“หมอเชื่อว่าความขัดแย้ง การตั้งคำถาม นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเสมอ การรับฟังสร้างพื้นที่ปลอดภัย โอบกอด
ความเห็นต่างด้วยความเข้าใจ การหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง น่าจะเป็นทางออกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น สุดท้ายถ้าเข้าใจและเห็นด้วยในสิ่งที่ลูกเชื่อมั่น จงเป็นพลังให้พวกเขา”
๘. ขณะที่คนรุ่นก่อนอาจต้องปรับตัว หยุดชิงชัง ลดการใช้ท่าทีดูถูกดูแคลนหรือใส่ร้าย ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่มีการปล่อยข่าวใส่ร้ายว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์มีญวน มีแกว อยู่เบื้องหลัง มีอุโมงค์ใต้ดิน ใส่รองเท้ายาง สะพายย่าม จนเกิดความ “ชังกัน” และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด
การตีตราเยาวชนว่าเป็นพวกชังชาติ พวกล้มเจ้า เป็นคำพูดที่ผลักไสเยาวชนให้ออกห่างไปเป็นอย่างนั้น โดยที่ผู้ด่าว่าได้แต่เพียงความสะใจ
เยาวชน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ก็จะต้องทำความเข้าใจคนรุ่นก่อนว่าเขาก็มีความหวังดีต่อสังคมเช่นกัน แต่มีชุดข้อมูลความคิดอีกอย่างหนึ่งที่ให้คุณค่าในประวัติศาสตร์และมีค่านิยมต่อสถาบันต่างๆ เป็นอย่างหนึ่ง
คนรุ่นใหม่จะต้องสื่อสาร โดยไม่ตีตราว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ หัวโบราณ สลิ่ม เช่นเดียวกับที่เยาวชนก็ไม่ชอบให้เขาตีตราว่าเป็น “พวกชังชาติ” “พวกล้มเจ้า” เพราะเป็นการตีตราแบบสรุปเหมารวมและสร้างความเกลียดชัง
คนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ต้องรู้ว่าเหตุผลไม่อาจเปลี่ยนค่านิยม เพราะเป็นเรื่องของการให้น้ำหนักของคุณค่าในแต่ละสิ่งต่างกันตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม
ควรทำใจว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และต้องจากไป เป็นธรรมดา
๙. กระทรวงศึกษาธิการ แสดงท่าทีที่ดีเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น ให้โรงเรียนสามารถเป็นสถานที่ปลอดภัยในการแสดงออกด้วยการชุมนุมได้
รมว.ศึกษาธิการ (ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ได้เข้าไปนั่งคุยกับนักเรียน เข้าคิวเพื่อแสดงความเห็นกับนักเรียน แม้จะถูกเป่านกหวีดใส่หน้าก็ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาของผู้มีอำนาจหรือโกรธเคือง ซึ่งอาจจะคิดได้ว่าเป็นกฎแห่งกรรมของท่านก็ได้
เสียดายหากท่านรัฐมนตรีจะได้เชิญนักเรียนที่นั่งอยู่บนทางเดินเท้านอกรั้วกระทรวง และเดินนำนักเรียนให้เข้าไปพูดคุยที่สนามหญ้าหน้ากระทรวง ก็จะแสดงความเป็นผู้นำที่เข้าใจรับฟังนักเรียนและคนรุ่นใหม่มากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง
ประเทศไทยน่าเป็นห่วง
หลังโรคร้าย COVID-19 ระบาดทั่วโลก อนาคตอันใกล้นับจากปลายปีนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยซึ่งขาดรายได้
จากการท่องเที่ยวและการส่งออกจะส่งผลให้หน่วยผลิต สถานบริการ บริษัทต่างๆ ต้องปิดตัวลง
ผู้คนจะว่างงานมากขึ้น ขาดรายได้ กำลังซื้อจะตกต่ำ ปัญหาสังคมการลักวิ่งชิงปล้นจะระบาดไปทั่ว ประจวบเหมาะกับการเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอาจคล้ายเศรษฐกิจตกต่ำในปี พ.ศ.๒๔๗๓ (ค.ศ.๑๙๓๐) ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของไทยในปี ๒๔๗๕ มาแล้ว
รัฐบาลและสถาบันที่ทรงอำนาจ ควรจะได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดในอนาคตอันใกล้ จะต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดดเพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ ปรับท่าทีที่เคยรวบอำนาจกระจายให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง และสนใจสิทธิของเยาวชน ประชาชน ผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี