อีกไม่นานประเทศไทยคงจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อนต่อไปอีกไม่ได้ ประเทศไทยคงจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อีกครั้ง ตามคำเรียกร้องและข้อเสนอของหลายฝ่าย
สภาร่างรัฐธรรมนูญดีจริงหรือ ควรมีที่มาและองค์ประกอบอย่างไร
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคือองค์กรสำคัญ เป็นหัวใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ควรมี
องค์ประกอบและที่มาอย่างไร
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาร่างรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กันอย่างไร
เมื่อร่างเสร็จแล้วจะต้องให้รัฐสภา คือ สส.และสว.เห็นชอบ หรือเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมอีก ได้หรือไม่
ขั้นสุดท้ายควรทำประชามติอย่างไร
ทั้งหมดนี้สามารถบริหารจัดการเพื่อให้ยืดและใช้เวลาได้ถึงสองปี เท่ากับว่ารัฐบาลประยุทธ์จะอยู่ยาวจนครบเทอมใช่หรือไม่
ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้
๑) สภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ
๒) สภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีจำนวนสมาชิกระหว่าง 100 ถึง 150 คน เทียบเคียงกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีส.ส.ร.จำนวน 99 คน ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีจำนวนส.ส.ร. 100 คน ก็มีขนาดที่สามารถทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง รธน.2550 สามารถร่างเสร็จภายใน 180 วัน
๓) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนประมาณ 40 ล้านคน
๔) วิธีการเลือกตั้ง ไม่ควรจะใช้วิธีแบ่งเขตพื้นที่เลือกตั้งแบบการเลือกสส. เพราะจะได้ตัวแทนที่เป็นคนประเภทเดียวกันกับสส. เป็นเครือญาติเดียวกัน มีอิทธิพลทางการเมืองของพรรคการเมืองเหมือนๆ กัน
แต่ควรจะเป็นวิธีการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนในแต่ละกลุ่มอาชีพ ซึ่งอาจจะมีจำนวนกลุ่มอาชีพทั้งหมด 15 ถึง 20 กลุ่ม ให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี ขึ้นไป ลงทะเบียนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าตนสังกัดกลุ่มอาชีพใด (หากมีหลายอาชีพก็เลือกได้เพียงอาชีพเดียว) และนักเรียน นิสิตนักศึกษา ก็สามารถระบุอาชีพเป็นกลุ่มหนึ่งได้
เปิดรับสมัครผู้ต้องการเป็นส.ส.ร.ในแต่ละกลุ่มอาชีพ และให้ประชาชนที่ลงทะเบียนในกลุ่มอาชีพนั้นเป็นผู้เลือกให้ได้ตัวแทนตามจำนวน ที่กำหนดในแต่ละกลุ่มอาชีพ เน้นไม่ใช่และไม่ควรให้ผู้สมัครเป็นส.ส.ร. เป็นผู้เลือกกันเองเพราะจะนำพรรคพวกมาสมัครเพื่อเลือกตัวเอง
ในแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีจำนวนส.ส.ร.มากน้อยตามสัดส่วนของผู้ที่ลงทะเบียนในอาชีพนั้นรวมคะแนนเลือกตั้งของแต่ละกลุ่มอาชีพทั้ง 77 จังหวัด ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับจนถึงจำนวนที่จะได้ตามสัดส่วนของอาชีพนั้น ให้ได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตัวแทนกลุ่มอาชีพนั้น
๕) ผู้ที่มีโอกาสสูงที่น่าจะได้รับการเลือกตั้งในแต่ละกลุ่มอาชีพจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันการซื้อเสียง เล่นพรรคเล่นพวก ที่อาจเกิดในท้องที่ในเขตใดหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ก็จะยากที่จะได้ผล
๖) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญมอบหมายให้เป็นผู้ยกร่างรธน.คือหัวใจสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาในอดีตจะมีจำนวนกรรมาธิการประมาณ 35 คน จำนวนดังกล่าวมาจากการเลือกของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 25 คน อีก 10 คน อาจสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้สังคมไทยและธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีคุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมาธิการ และในปี 2550 มีศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้นาวาอากาศตรีประสงค์สุ่นศิริ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
๗) เมื่อกรรมาธิการฯยกร่างเสร็จแล้ว จะต้องเสนอเข้าสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อได้พิจารณาแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม และลงมติเห็นชอบในทุกมาตรา ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของประชาชนแก้ไขเพิ่มเติม
๘) น่าสนใจว่า เมื่อผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะเสนอร่างรธน.ให้รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบหรือไม่ หรือจะให้เพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้เพราะวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
๙) สภาผู้แทนราษฎรไม่ควรมีอำนาจในการแปรญัตติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมอีก เพราะหากให้กระทำได้สภาร่างรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเพียงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขเพิ่มเติม การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาก็จะด้อยค่า ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
๑๐) ในขั้นสุดท้าย ควรจะมีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้แสดงการยอมรับหรือปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสแสดงเหตุผลต่อสาธารณะอย่างทัดเทียมและจริงจัง
จะต้องไม่เหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะการมีคำถามชี้นำ ให้ประชาชนลงมติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ อันเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพสิทธิของประชาชนและไม่เชื่อถือการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเท่านั้น
สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่มีบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชน ออกมาเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนทุกอาชีพ
ในที่สุด พรรคการเมืองจำนวนมาก ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ดูจะขานรับข้อเรียกร้องนี้เว้นแต่บรรดาสว.ที่ได้ประโยชน์ในการดำรงตำแหน่งจากรธน.ปัจจุบัน
สรุป
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีแนวโน้มที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตราเกี่ยวกับวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะได้คำนวณเวลาและรู้ดีว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีประชามติสองครั้ง คือ เมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นก่อนประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลามากพอควร
ยังจะต้องใช้เวลาในกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งประเทศ จะต้องใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกประมาณ 180 วัน หรือ 6 เดือน
จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณสองปี วุฒิสภาชุดแต่งตั้ง 250 คนในปัจจุบัน ก็จะได้ครองตำแหน่งต่อไปเกือบครบเทอม
หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นเสียก่อน ถึงเวลานั้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในปัจจุบันก็อยู่ครบเทอม 4 ปี เรียบร้อยไปแล้ว
สิริ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมกัน 9 ปี มากกว่าพลเอกเปรมติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี
ใครว่าทหารอ่อนการเมือง *ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา*
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี