สังคมไทยในปัจจุบันเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด (COVID-19) เศรษฐกิจตกต่ำ (ปิดกิจการคนว่างงาน ขาดรายได้) และการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินก็เกิดความขัดแย้งไม่ยอมรับอำนาจจากรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้
คนไทยมีความสามารถสูงในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความคล่องตัว เปลี่ยนแปลงปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้ดี ก็เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แม้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะมีต้นทุนสูง แต่ประเทศก็พอจะเจริญรุดหน้าไปได้
หากสังคมไทยจะได้ตระหนักถึงอนาคตที่ธรรมชาติของเรากำลังถูกทำลายมากขึ้น การพัฒนาประเทศต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น การเตรียมการวางระบบแนวทางการพัฒนาพลังงาน โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
มิเช่นนั้น อนาคตสังคมของเราก็ต้องใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถึงเวลานั้นทรัพยากรธรรมชาติที่เราสูญเสียไปจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะมีไม่เพียงพอให้เราเผาผลาญอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องทำหนังสือเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐบาลปัจจุบัน ในเรื่องแม่น้ำโขงที่เราต้องใช้ ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ อย่างทะนุถนอม ท่ามกลางความสนใจของสังคมที่มีต่อปัญหาร้อนแรงเฉพาะหน้าในปัจจุบัน
14 กันยายน 2563
เรื่อง ประเทศไทยกับการผลิตไฟฟ้าและการดูแลแม่น้ำโขง
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ตามที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้กำหนดแผนที่จะสร้างเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงจำนวนหลายโครงการ ขณะที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ซื้อและใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดถึงมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ใช้ไฟรายใหญ่จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ควรจะได้พิจารณาแสดงบทบาทในการกำหนดเงื่อนไขในการสร้างและบริหารจัดการเขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้า ให้เป็นมิตรกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและชุมชนชาวบ้านที่อาศัยทำมาหากินในลุ่มแม่น้ำโขง
ข้อเท็จจริง
1. ได้มีแผนงานและการสำรวจเบื้องต้นของประเทศเพื่อนบ้าน ว่าจะสร้างเขื่อนแบบฝายน้ำล้น (Run of river) เพื่อผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงจำนวน 11 แห่ง
l อยู่ในแม่น้ำโขง ส่วนที่อยู่ในเขตอธิปไตยของ สปป.ลาว จำนวน 7 แห่ง
l อยู่ในแม่น้ำโขง ส่วนเชื่อมต่อสองฝั่งไทย-ลาว จำนวน 2 แห่ง
l และอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา 2 แห่ง
2. สปป.ลาว ได้ประกาศนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” เพราะมีภูมิประเทศที่เหมาะสมจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำและสะอาด หากออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการได้ดี ก็จะกระทบสิ่งแวดล้อมน้อย
3. ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่สปป.ลาว มากกว่าร้อยละ 90 จะต้องขายให้ประเทศไทย โดยจะต้องทำสัญญาขายล่วงหน้าให้กับไทยก่อนการก่อสร้างเขื่อน
4. ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และใช้ไฟฟ้าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบัน แหล่งพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นแหล่งจากฟอสซิล ซึ่งจำเป็นต้องกระจายแหล่งพลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ มากขึ้น เช่น พลังงานจากน้ำ แสงแดด และลม
การลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแล้วนำมาขายให้ไทย ดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะประเทศไทยไม่สามารถสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าภายในประเทศของเราได้อย่างคุ้มค่าอีกแล้ว
5. ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด (COVID-19) ทำให้การใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นลดระดับลง ประจวบเหมาะกับพลังงานที่ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ได้สำรองไว้มากถึงประมาณร้อยละ 30 ทำให้แรงกดดันที่จะต้องเร่งรีบทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวลดลง และในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ พัฒนาขึ้นอีกมาก
ข้อควรพิจารณา
1) ประเทศไทยไม่ต้องเร่งรีบทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก สปป.ลาว ขณะที่ประเทศไทยในฐานะ
ผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่สุด และดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้มีอำนาจซื้อรายเดียวของไทยประเทศไทยจึงน่าจะมีอำนาจต่อรอง สร้างเงื่อนไขของการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน เพื่อร่วมดูแลความปลอดภัย สภาพแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน
จริงอยู่ สปป.ลาว สามารถจะสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในเขตอธิปไตยของเขาได้ แต่เงื่อนไขข้อเสนอแนะจากผู้ซื้อรายใหญ่และรายสำคัญที่สมเหตุสมผล ก็น่าจะมีน้ำหนักอย่างสำคัญ
2) เงื่อนไขและข้อแนะนำจากไทย ควรจะได้เรียกร้อง ด้วยความห่วงใยในผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนชาวบ้านริมแม่น้ำโขง และควรจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิกร่วมกับ สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนาม
3) เงื่อนไขและข้อแนะนำของรัฐบาลไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อย่างน้อยควรประกอบ ดังนี้
(1) เขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่จะสร้างกลางแม่น้ำโขงจะต้องเป็นเขื่อนประเภทฝายน้ำล้น (Run of river) หมายความว่า เมื่อมีน้ำเหนือเขื่อนไหลมาในปริมาณมากเท่าใด ก็จะส่งผ่านน้ำดังกล่าว(ผ่านกังหันผลิตไฟฟ้า) ให้กับแม่น้ำโขงบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนเท่านั้น
ดังนั้น ภายหลังการกักเก็บน้ำเมื่อตอนเริ่มต้นเสร็จสิ้นได้ระดับน้ำเพียงพอแล้ว หลังจากนั้นปริมาณน้ำที่ปล่อยออกท้ายเขื่อน จะไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารเขื่อน
ทั้งนี้ จะต้องไม่เกิดปัญหาซ้ำกับเขื่อนผลิตไฟฟ้ากลางแม่น้ำโขงตอนบนในส่วนที่อยู่ในประเทศจีน ที่ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนขึ้นลงตามความต้องการ ไม่เป็นธรรมชาติ
(2) จะต้องมีระบบดูแลการแพร่พันธุ์ปลาตามธรรมชาติ เพราะแม่น้ำโขงมีปลาหลากหลายสายพันธุ์ เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชนชาวบ้านริมฝั่งโขง
เมื่อมีการสร้างเขื่อนกลางลำน้ำ จะต้องออกแบบสะพานปลาที่ลดความลาดชันและเพิ่มความยาวจากการยกตัวของมวลน้ำเหนือเขื่อน อีกทั้งต้องใช้เทคโนโลยีเพิ่มลิฟต์ที่สามารถยกตัวเพื่อให้ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กผ่าน ในเวลาที่สอดคล้องกับช่วงฤดูปลาผ่าน
(3) จะต้องมีระบบระบายตะกอน ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติของสัตว์น้ำที่สำคัญ จากเหนือเขื่อนมาท้ายเขื่อน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำใสเกินจริง
(4) จะต้องมีระบบและไม่เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ ต้องมีช่องทางเดินเรือที่มีการยกและลดระดับน้ำในช่องทางดังกล่าวเพื่อให้เรือสามารถขึ้นล่องในแม่น้ำโขงได้อย่างเหมาะสม
(5) จะต้องไม่กระทบทิศทางการไหลของน้ำ และกระทบระดับน้ำที่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เพราะตลิ่งที่ขาดน้ำหล่อเลี้ยงตามธรรมชาติจะพังทลายได้ง่าย
(6) แม้เขื่อนแบบฝายน้ำล้นจะไม่มีการกักเก็บน้ำ เป็นอ่างเหนือเขื่อน ซึ่งจะไม่กระทบต่อชุมชนชาวบ้านที่อาศัยอยู่เหนือเขื่อน แต่ผู้สร้างเขื่อนจะต้องชดเชยดูแลชาวบ้านที่ถูกผลกระทบของการสร้างตัวเขื่อนซึ่งมีจำนวนไม่มาก ให้ได้รับค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
(7) เขื่อนที่สร้างขึ้นจะต้องมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น และรองรับปริมาณน้ำสูงสุดในแม่น้ำโขงได้อย่างน้อยตามสถิติย้อนหลัง 100 ปี
(8) เขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่ จะต้องมีคุณภาพไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงแข็งแรงไม่น้อยกว่าคุณภาพและความมั่นคงของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงที่ก่อสร้างและดำเนินการไปแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี
หากไม่เข้มงวดกวดขันมาตรฐานของเขื่อนที่สร้างใหม่ในภายหลัง จะทำให้สภาพแวดล้อมแม่น้ำโขงเลวลง และการที่เขื่อนที่ก่อสร้างก่อนมีคุณภาพดีก็จะไม่มีความหมาย และมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้ มั่นใจว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้คำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการดังกล่าวแล้ว แต่ด้วยความห่วงใย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความสำคัญของการกำหนดเงื่อนไขของการสร้างเขื่อนและผลิตไฟฟ้า ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติในการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้ผู้ใช้ไฟ ประชาสังคม ชุมชน ชาวบ้าน ได้คลายความกังวลใจ และจะเป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรและสภาพแวดล้อมในระยะยาว
ขอแสดงความนับถือ
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี