พืชกระท่อม ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ให้ถอนออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และให้มีการออกมาตรการควบคุมเป็นการเฉพาะ ล่าสุด ที่ประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติ อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่มีกรอบสำคัญในการควบคุมเพื่อใช้ทางการแพทย์ ป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึงพืชกระท่อม และห้ามไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ สาระของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงกำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมอย่างชัดเจน เช่นห้ามขายพืชกระท่อมให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามโฆษณาหรือสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม รวมทั้งห้ามผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้พืชกระท่อม
กระท่อมจึงกลายเป็นอีกหนึ่ง “อดีต” พืชยาเสพติดต่อจากกัญชา ที่ได้รับการปลดล็อกให้ใช้เพื่อการแพทย์และมีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อให้การใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการซื้อ-การใช้ของเด็กและเยาวชน
เบื้องหลังการ “ปลดล็อก” ครั้งนี้ ก็เพื่อให้พืชกระท่อมได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการนำพืชกระท่อมมาเคี้ยวสดๆ หรือผสมชงกับน้ำดื่มเพื่อรักษาโรค เช่น ไอ ท้องร่วง ปวดท้อง หรือเพิ่มกำลังในการทำงานในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้กันมายาวนานตั้งแต่ในอดีต
หากพิจารณาแนวทางการควบคุมพืชกระท่อมของต่างประเทศก็พบว่า มีเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไทยเมียนมา อิตาลี และอินเดีย เท่านั้น ที่กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ขณะที่อีกกว่า 80 ประเทศไม่ได้มีกฎหมายควบคุม หรือควบคุมโดยกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายยาเสพติด
นอกจากนี้ ก่อนที่จะได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กระทรวงยุติธรรมจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 2 ครั้ง พร้อมวิเคราะห์และเผยแพร่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้ทุกฝ่ายได้รับทราบอย่างโปร่งใส
เรียกได้ว่า การปลดล็อกพืชกระท่อมในครั้งนี้ เป็น“นิมิตใหม่” ของการออกกฎหมายในประเทศไทยที่พิจารณาภาพรวมทั้งบริบทความต้องการใช้จริงของคนในสังคม แนวทางของต่างประเทศ และความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายในสังคม
ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือ เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ก็เป็นสิ่งเสพติด เพราะมีส่วนประกอบของนิโคติน แต่ก็มีความปลอดภัยมากกว่าบุหรี่ ตามที่งานวิจัยของหลายๆ ประเทศยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกระบวนการเผาไหม้ นิโคตินที่ระเหยเป็นไอออกมาจึงเป็นอันตรายน้อยกว่าควันบุหรี่ 95% หลายประเทศทั่วโลก จึงไม่ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย
จึงควรติดตามต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ สองกระทรวงต้นเรื่องของการออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จะหาทางแก้ปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบผิดกฎหมายอย่างไร ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าการห้ามนำเข้าจำหน่าย และให้บริการผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2557 “ไม่ได้ผล” แต่อย่างใด เพราะจำนวนผู้ใช้ในประเทศไทยก็คาดการณ์ว่าน่าจะมีถึง 5 แสนคน ส่งผลให้เกิดการลักลอบซื้อขายแบบผิดกฎหมาย สร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องจับกุมปราบปราม
หากจะแก้ปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบผิดกฎหมายในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์น่าจะพิจารณามาตรการควบคุมให้เหมาะสม โดยเริ่มจากการศึกษาผลวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และตัวอย่างการควบคุมของต่างประเทศอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่ กัญชา และพืชกระท่อม ได้ทำเป็นแนวทางไว้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี