วันนี้อยากนำเรื่องของสำนวนไทยมาพูดเพราะสำนวนเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของภาษาไทย แต่ละสำนวนเป็นคำพูดที่คมคายกว่าคำพูดธรรมดา เป็นคำพูดที่รวมเอาความหมายที่ยาวๆ มาทำให้สั้นลง ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ง่าย
คุณค่าของสำนวนไทยเรานั้นมีหลายประการ เช่น
1. เป็นเครื่องอบรมสั่งสอนและชี้แนะให้เป็นคนดี
- ในด้านความรัก เช่น คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
- ในการอบรม เช่น ฝนทั่งให้เป็นเข็ม
- ในด้านการพูดจา เช่น พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวเสียหาย
2. สำนวนไทยสะท้อนให้เห็นความคิดเช่น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ชาติเสือต้องไว้ลาย
3. สะท้อนให้เห็นภาวะความเป็นอยู่ เช่น เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย น้ำขึ้นให้รีบตัก เป็นต้น
จากตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นดังกล่าว คงพอจะทำให้เห็นถึงคุณค่าของสำนวนไทยของเราว่า นอกจากใช้ภาษาที่ไม่ต้องใช้คำพูดที่เยิ่นเย้อยืดยาวแล้ว ยังเข้าใจง่ายอีกด้วย เพราะเป็นถ้อยคำที่มีความหมายพิเศษ มีชั้นเชิงให้ขบคิด ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “โวหาร” ก็ได้
อย่างชื่อเรื่องที่ตั้งไว้ข้างต้นที่ว่า “หนีเสือปะจระเข้” ก็เช่นเดียวกัน เป็นสำนวนไทยที่คุ้นหูกันดีว่า หมายถึงการหนีภัยอย่างหนึ่งแต่ต้องกลับพบภัยอีกอย่างหนึ่งนั่นเองคือวิ่งหนีเสือบนบกลงไปในแม่น้ำหวังจะให้พ้นภัยจากเสือกัด แต่กลับต้องพบกับจระเข้ในแม่น้ำอีก อย่างนี้เป็นต้น
ดีไม่ดีในแม่น้ำนั้นดันมีเหี้ยเพิ่มขึ้นมาอีกด้วยแล้วยิ่งแย่ใหญ่
“หนีเสือปะจระเข้” จึงนำมาสะท้อนความเป็นอยู่ หรือสภาวการณ์ของบ้านเมืองของเราในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าผู้คนในบ้านเมืองของเราขณะนี้อยู่ในสภาพของ “หนีเสือปะจระเข้” ไม่ผิด เพราะผู้คนในบ้านเมืองของเราต้องผจญชีวิตอยู่กับพวกวายร้ายที่มีอำนาจ และใช้อำนาจอย่างชอบใจเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวก หลายปีที่ผ่านมา “รวยกระจุก”อยู่ในหมู่พวกของตัว แต่ “จนกระจาย” ไปทั่วทั้งแผ่นดินอย่างที่คนส่วนใหญ่ในประเทศประสบมาแล้ว จนผู้คนทนไม่ได้กับสภาวการณ์ดังกล่าว ต้องจับมือกันออกมาขับไล่ “เสือ” ตัวนี้ให้พ้นไป
ผู้คนในบ้านเมืองส่งเสียงเฮต้อนรับ“อำนาจใหม่” ในระยะแรก ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้มาจากปากกระบอกปืน แต่เสียงเฮต้อนรับดังกล่าวนี้แผ่วเบาลงไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนในตอนแรก เพราะเกือบสี่ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองโดยรวมดูจะเข้าอยู่ในสภาวการณ์อย่างเก่าเหมือนตอนวิ่งหนีเสือ
แต่ละวันของชีวิตยังเป็นไปอย่างยากลำบากในการทำมาหากิน หนี้สินทั้งเฉพาะตัวหรือหนี้สินของครอบครัวมีแต่เพิ่ม เรียนจบไม่มีงานทำ ผู้มีอำนาจก็ยังคงติดอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ ที่ทำให้การบริหารจัดการต่างๆ ผิดเพี้ยนเพราะติด “กับดักแห่งอำนาจ” ที่มีอยู่
ดูแล้วก็เหมือน “หนีเสือปะจระเข้”นั่นแหละ
และถ้าจะว่าไปแล้ว สภาวการณ์ในบ้านเมืองขณะนี้ ยังเป็นไปเหมือนสำนวนไทยอีกหลายสำนวน โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้
1. ได้คืบจะเอาศอก
เป็นสำนวนไทยที่เปรียบเทียบให้เห็นคนจำพวกหนึ่งที่ “ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ” เป็นคนประเภทที่มีความอยากเกิดขึ้นตลอดเวลา ได้เท่าไร มีเท่าไรไม่พอ อยากมีอยากต่อให้ยาวออกไปเรื่อยๆ เหมือนได้คืบหนึ่งแล้วก็อยากจะได้ให้ยาวเป็นศอกอีก เหมือนภาวการณ์ของการใช้อำนาจในขณะนี้ ที่คิดอ่านหาทางจะต่อยอด สืบทอดระยะเวลาในการมีอำนาจต่อไปอีกเรื่อยๆ ด้วยวิธีการต่างๆ
2. ปืนต้นไม้ขึ้นไปหาปลา
เป็นสำนวนที่ให้ขบคิดและรู้จักวิธีหาจุดหมายที่ต้องการจะได้รับ ว่าจะต้องไปหาที่จุดไหน และจะต้องตระเตรียมวิธีการตลอดจนเครื่องมือที่จะใช้ให้ถูกต้องด้วย เหมือนการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ต้องรู้จักวางแผน วางโครงการ วางผู้คนในการทำงาน ให้เหมาะสมถูกต้อง ไม่ใช้ทำงานกันตามใจชอบ ตามใจอยากของตน ที่ไม่ได้เข้าสู่จุดหมายที่จะแก้ไข
3. ขี้ราดพลาดร่องกลับโทษคนอื่น
เป็นสำนวนที่เปรียบเทียบการกระทำผิดของตน หรือของคนในพวกเดียวกับตน ซึ่งทำผิดแล้วกลับไปโทษคนอื่นตลอดเวลา อย่างเช่นเรื่อง “แหวนและนาฬิกา” เป็นต้น
4. คอหอยกับลูกกระเดือก
เป็นสำนวนที่มีความหมายให้คิดว่า เป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดี แยกกันไม่ออก เพื่อนพ้องน้องพี่ทำอะไรผิดก็คอยช่วยปกป้อง หาช่องทางช่วยเหลือตลอดเวลา พูดจาพาทีก็ไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่แยกแยะ
5. ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
เป็นสำนวนที่มีความหมายให้คิดว่า การกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมดุลกับสภาพความจริงที่กำลังเป็นอยู่ เช่นเรื่องการใช้เงินใช้ทองของแผ่นดินไปทำโน่นทำนี่ทั้งๆที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาพย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ผู้คนยังยากจนแต่ต้องเสียภาษีให้ไปใช้จ่าย อย่างเช่น อยู่ๆก็เอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถัง หรือสร้างรถไฟความเร็วสูง 3.5 กิโลเมตร เป็นต้น
6. กลองจะดังต้องมีคนตี แต่กลองอัปรีย์ดังเอง
เป็นสำนวนที่มีความหมายให้คิดว่า คนที่ดีแต่พูดอวดสรรพคุณตัวเอง อวดผลงานตัวเอง ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น โดยไม่ใช่อย่างที่คนอื่นเห็น คนประเภทนี้เป็นคนแบบ“กลองอัปรีย์” เพราะดังโดยไม่มีคนตี
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี