ไบเดนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาอย่างสูสี คาดว่าคะแนนจากคณะเลือกตั้ง น่าจะเกิน 300 เสียง มีบทเรียนน่าสนใจ ที่ 10 ข้อ
1.เป็นการต่อสู้ของคนสูงอายุ 2 คน ไบเดน เกือบ 78 ทรัมป์74 ปี แสดงให้เห็นว่าสังคมที่เจริญแล้วคนอายุมาก ยังมีประโยชน์ต่อประเทศเพราะมีทั้งประสบการณ์มากและมีความฉลาดเฉลียว
2.เป็นการเลือกตั้งภายใต้ วิกฤติของ โควิด-19 สมาชิก พรรคเดโมแครต กลัวโควิด-19 มาก จึงเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งทางไปรษณีย์และไปด้วยตัวเอง ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าสมาชิกพรรครีพับลิกัน จำนวนผู้เลือกตั้ง จึงมีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้ามากเป็นประวัติศาสตร์ กว่า 90 ล้านคน
3. แต่ละรัฐนับคะแนนแตกต่างกัน บางรัฐนับคะแนนผู้มาเลือกตั้งในวันที่ 3 ก่อน บางรัฐจะนับทีหลัง ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละรัฐ คะแนนของทรัมป์ ช่วงแรกตามไบเดน แต่ผ่านไประยะหนึ่ง คะแนนทรัมป์ดีขึ้นมานำ จนกระทั่งตี 2 ของวันพุธที่ 4ทรัมป์กล้าประกาศชัยชนะทั้งๆที่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ รัฐสำคัญ เช่น เนวาดา, วิสคอนซิน, มิชิแกน, เพนซิลวาเนีย, จอร์เจียและอริโซนา นับคะแนนที่ลงล่วงหน้าทีหลังและช้ามาก แต่คะแนนของไบเดนตีขึ้นมาชนะในที่สุด ทรัมป์ทำไม่เข้าใจนึกว่าคะแนนเพิ่มเพราะโกงหรือแกล้งโง่
4.ตามมารยาท ผู้แพ้ในอดีตจะยอมรับการพ่ายแพ้แสดงความยินดีกับผู้ชนะ แต่ไม่มีใครเหมือนทรัมป์เพราะแพ้ไม่เป็น บัดนี้ยังไม่ยอมแพ้ ใช้ Social Media ว่ามีการโกงเลือกตั้งหลายๆ จุด แพ้เพราะถูกโกง จะฟ้องศาล ซึ่งทรัมป์คาดว่าถ้าไปถึงศาลสูงน่าจะเป็นคุณประโยชน์ต่อเขา แต่กรณีนี้คงน่าจะอยู่ที่ศาลชั้นต้นของระดับรัฐมากกว่า เพราะไม่มีการทุจริตที่เด่นชัด ในที่สุดทรัมป์คงต้องยอมแพ้ เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐต้องโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะภายในวันที่ 20 มกราคม
ณ วันนี้ยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ทำให้การถ่ายโอนอำนาจลำบาก แต่ในที่สุดทรัมป์คงจะยอม น่าจะเป็นการเสียหน้าครั้งแรกของเขา
5.ชัยชนะของ ไบเดน ครั้งนี้ถือได้ว่าได้คะแนนนิยมทั้งประเทศมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1900 คือคะแนนรวมทั้งประเทศประมาณ 76 ล้านเสียง ทรัมป์ได้ถึง 71 ล้านเสียง ตอนนั้นฐานเสียงของทรัมป์ยังแน่นหนาอยู่มาก เพียงแต่คะแนนของไบเดนเหนือกว่า ชนะคะแนนรวมกว่า 4 ล้าน 5 แสนเสียง
6.ฐานเสียงของทรัมป์ยังเป็นผิวขาว ไม่จบมหาวิทยาลัย เกษตรกรและผู้อาศัยตามชนบท ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากชาวผิวดำบางกลุ่ม ที่เป็นนักธุรกิจ เสียงจากผู้อพยพจากคิวบาและเชื้อสายสเปนบางกลุ่ม ทำให้ทรัมป์ชนะที่ฟลอริดา ส่วนของไบเดนเป็นกลุ่มคนมีความรู้จบมหาวิทยาลัย, กลุ่มผิวดำ, กลุ่มผู้หญิงตามชานเมือง กลุ่มสนับสนุนไบเดนเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย อาจจะหมายถึง คนชั้นกลางที่ต้องการความเป็นธรรม และกลุ่มหลากหลายทางเพศ
7.นโยบายของไบเดนหลังจากชนะ คือตั้งคณะทำงานทันทีเพื่อแก้ปัญหา โควิด-19 จำนวน 12 คน คนอเมริกันเทคะแนนมาให้ไบเดนมาก น่าจะมาจากทรัมป์แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ ซึ่งไบเดนคาดว่าโควิด-19 ช่วงหน้าหนาวปีนี้จะพุ่งขึ้นมาก เขาใช้คำว่า Darkwinter-ฤดูหนาวแห่งความมืดมน เพราะปัจจุบันคนป่วยโควิด-19ในอเมริกาเพิ่มขึ้น 120,000 คนต่อวัน ป่วยทั้งประเทศกว่า 10 ล้านคนแล้ว แต่ทรัมป์ พูดว่าโควิด-19 กำลังจะหายไป เป็นการโกหกอย่างหน้าไม่อาย
8.ชัยชนะของไบเดนเป็นชัยชนะของผู้หญิงผิวสี คือ รองประธานาธิบดีของไบเดนคือ คามาลา แฮร์ริส ผิวดำ เชื้อสายอินเดีย เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกเพราะอเมริกายังไม่เคยมีผู้หญิงมีตำแหน่งสูงถึงรองประธานาธิบดี
9.นโยบายที่แตกต่างอย่างมากของไบเดนคือ
9.1 กลับมาเป็นสมาชิกของ WHO (World Health Organization) องค์การอนามัยโลก
9.2 กลับมาเป็นสมาชิกของการแก้ปัญหาโลกร้อน (Parisaccord)
9.3 เน้นการทำงานร่วมมือกับชาติอื่นๆ ให้เกียรติทุกชาติไม่มีพฤติกรรมหยาบคายและดูถูกคนอื่นๆ เช่น ทรัมป์ ที่ขาดมารยาททางการทูต คนส่วนใหญ่ยอมรับ
9.4 ผู้นำของคนอเมริกันคนใหม่ที่จะสร้างความสามัคคีมากกว่าการแบ่งแยก
10.แต่คาดไว้ว่าถึงทรัมป์ถึงจะแพ้ แต่ระบบของทรัมป์ ยังอยู่เพราะแนวคิดของทรัมป์ยังเป็นที่นิยมของคนอเมริกันจำนวนมากลงให้ทรัมป์ครั้งนี้ถึง 71 ล้านคน ถึงจะแพ้ก็ตาม ที่ต้องการให้อเมริกามาก่อนโดยเป็นชาติไม่พึ่งพาชาติอื่นๆ ไม่ยอมรับคนอพยพจากชาติอื่นๆ เน้นธุรกิจเป็นหลักโดยไม่ค่อยจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดภาษีให้คนรวยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าไม่มีโควิด-19 ระบบเศรษฐกิจภายใต้การนำของทรัมป์น่าจะไปได้ดี
ความคิดว่าอเมริกาต้องมาก่อน นำความเหลื่อมล้ำมากต่อคนที่ขาดการศึกษาและปรับทักษะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเทียบกับกลุ่มที่มีความรู้ทันโลก ไบเดนจะต้องพยายามประนีประนอมให้ทุกคนมีความสามัคคีไม่แตกแยก ถ้าทำไม่สำเร็จ ระบอบทรัมป์อาจจะกลับมาอีกใน 4 ปี มีคนคาดคะเนว่าทรัมป์อาจจะสมัครลงตำแหน่งในปี 2024 ก็ได้
บทเรียนสำหรับการเมืองไทย
1.ประเทศไทยมีการขัดแย้งระหว่าง คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แต่ในอเมริกาขัดแย้งระหว่างคนมีความรู้ปรับตัวทันกับโลกาภิวัตน์ผิวขาวที่ล้าสมัยและขาดการศึกษา
2.บทเรียนคล้ายกันคือความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ ทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง
3.เรื่องการใช้ Social Media เกิดขึ้นทั้ง 2 ประเทศ ประเทศไทย Social Media มีอิทธิพลต่อเยาวชน มักจะฟังข้างเดียว สร้างข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง แต่ของทรัมป์ อเมริกาเกิดกับคนผิวขาว ที่ไม่มีความรู้ทันโลกในอนาคตและมีสื่อที่เลือกข้างชัดเจน เช่น FOX จะเชียร์ทรัมป์ แต่ในประเทศไทยปัญหาคือ Social Media เป็นกลุ่มเยาวชนคิดแตกต่างกับกลุ่มผู้สูงอายุโดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย
4.การเมืองของอเมริกาไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทุกคนรู้ดีว่าใครเป็นใคร แต่ในไทยเบื้องหน้าออกโรงโดยถูกชักใบอยู่เบื้องหลังทั้งการเมือง ในประเทศและคนจากต่างประเทศ อันตรายต่อเยาวชนที่ออกหน้าเพราะจะถูกดำเนินคดี ขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังลอยนวล
5.ภาษาที่ทรัมป์และสาวกของเขาดูไม่สุภาพและขาดมารยาทแต่ภาษาของเยาวชนรุ่นใหม่ของไทย เป็นการจาบจ้วงสถาบันและดูจะหยาบคายกว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอารยธรรมและมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า
จีระ หงส์ลดารมภ์
dr.chira@hotmail.com
ภาพการแสดงความยินดีในวันประกาศผลชนะการเลือกตั้งของไบเดนเป็นประธานาธิบดีของอเมริกา และคามาลา แฮร์ริส เป็น รองประธานาธิบดี
ภาพมวลชนกลุ่มราษฎรทยอยเดินทางมาชุมนุมตามนัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว จาบจ้วงสถาบัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา
ภาพ ธรรมศาสตร์ประกาศแบน “รุ้ง-เพนกวิน-อานนท์”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี